นอกจากจะเป็นเครื่องประกอบความสวยงามให้กับเรือนกายตามแต่รสนิยมของแต่ละบุคคลแล้ว เครื่องประดับบางชิ้นยังถูกใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องแสดงสถานภาพและฐานันดรของผู้เป็นเจ้าของได้อีกทางหนึ่งด้วย ตัวอย่างเช่น มงกุฎอิมพีเรียล สเตท (Imperial State Crown) ของประมุขแห่งสหราชอาณาจักร หรือรัดเกล้าประจำตระกูลสเปนเซอร์ (Spencer Tiara) ของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นต้น
สำหรับเครื่องประดับสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องแสดงฐานันดรของผู้เป็นเจ้าของที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้นั้น คือแหวนวงหนึ่งอันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ด้วยเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก แหวนวงดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า “แหวนชาวประมง” (The Ring of the Fisherman)
แหวนชาวประมง วงแรกปรากฎขึ้นเมื่อปี 1265 ในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 4 (Pope Clement IV) สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 183 ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัดของวาติกันที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน พระคาร์ดินัลผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการประชุมเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา (The Papal Conclave) ของการประชุมคณะพระคาร์ดินัล จะได้รับแหวนทองซึ่งสลักรูปนักบุญปีเตอร์ สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกในอิริยาบถกำลังเหวี่ยงแหจับปลา* สลักคู่กับพระนามของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ปัจจุบันไว้ที่บริเวณหัวแหวน
ในอดีตแหวนชาวประมงนี้นอกจากจะเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาแล้ว ยังถูกใช้เพื่อเป็นตราประทับบนเอกสารควบคู่กับการลงลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาอีกด้วย และเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ลง วาติกันจะมีการประกอบพิธีทำลายแหวน โดยคาเมอร์เลงโก (Camerlengo) หรือเลขาธิการพระราชวังพระสันตะปาปา ด้วยการใช้ฆ้อน ทุบทำลายแหวนให้ยุบตัวลง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้น นอกจากนี้ พิธีทำลายแหวนยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันการแอบอ้างนำตราประจำพระองค์ไปใช้โดยมิชอบอีกด้วย กระทั่งในปี 1842 แหวนไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นตราประทับอีกต่อไป ด้วยมีการจัดทำตราประทับของสมเด็จพระสันตะปาปาขึ้นมาต่างหาก แต่ยังคงเป็นแหวนประจำพระองค์แห่งพระสันตะปาปา
คริสตศาสนิกชนชาวคาทอลิกในประเทศไทยต่างยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสำนักวาติกันเปิดเผยว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกพระองค์ที่ 266 มีหมายกำหนดการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 2 ที่เสด็จเยือนประเทศไทย ต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ซึ่งเสด็จมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 1984
การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในครั้งนี้ ยังตรงกับวาระ 350 ปี แห่งการสถาปนาศาสนจักรคาทอลิกไทยอีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2562
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที