GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 พ.ย. 2019 16.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1608 ครั้ง

ในขณะที่มูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกของไทยปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับอาเซียนกลับเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
การเติบโตของกลุ่มอาเซียนนั้นจะเป็นไปในทิศทางไหนติดตามได้ที่บทความนี้


ทิศทางการเติบโตของอัญมณีและเครื่องประดับในอาเซียน

              สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนได้ถือกำเนิดมาในฐานะองค์กรความร่วมมือภายในภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทั่งในปี 2015 ประเทศสมาชิกได้ยกระดับความร่วมมือสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) และก้าวไปสู่ขั้นตอนการลดอัตราภาษีระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้การสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของภูมิภาคโดยรวมเพิ่มมากขึ้น อาเซียนจึงเป็นภูมิภาคที่ไม่อาจมองข้ามได้

การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอาเซียน 

              เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับอาเซียน ในเดือนมกราคม-สิงหาคม 2019 พบว่า มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 42.94% สวนทางกับมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกของไทยที่ปรับตัวลดลง 0.08% โดยประเทศคู่ค้าในอาเซียน 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 1.01 เท่า รองมา คือ กัมพูชา เพิ่มขึ้น 20.41% และอินโดนีเซีย ลดลง 25.90% ขณะที่เมียนมาเป็นประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดถึง 1.21 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
ด้านการส่งออก

              ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2019 อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 3 รองจากรถยนต์ และคอมพิวเตอร์ โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนนั้นคิดเป็น 15.36% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม ทั้งนี้ เมื่อมองภาพรวมของตลาดอาเซียนจะพบว่ามีอัตราการขยายตัว 6.64% มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
 

ตารางมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปอาเซียน
 
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 

 
              เมื่อพิจารณาในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับรายสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกสูงพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2019 สินค้าที่ส่งออกไปยังอาเซียนมากที่สุด 6 อันดับ มีรายละเอียดดังนี้

              1. ทองคำ คิดเป็นสัดส่วน 76.97% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน โดยมีสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 70.95% ด้วยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 2.09 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทองคำเพื่อการลงทุนและเพื่อไปสกัดให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ประเทศคู่ค้ารองลงมา คือ กัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 23.08% หากแต่มีมูลค่าส่งออกลดลง 71.65% โดยทองคำที่ส่งไปกัมพูชาส่วนใหญ่เพื่อบริโภคภายในประเทศและใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับทองของโรงงานต่างชาติที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในกัมพูชา

              2. เครื่องประดับเทียม คิดเป็นสัดส่วน 3.07% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 97.38% ด้วยมูลค่าส่งออกเติบโตสูงขึ้น 16.24% ประเทศคู่ค้าลำดับถัดมา คือ เวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 0.71% มีมูลค่าส่งออกลดลง 37.29%

              3. เครื่องประดับทอง คิดเป็นสัดส่วน 2.21% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 52.47% ด้วยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 22.16% ประเทศคู่ค้าถัดมา คือ กัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 16.14% และมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 1.89 เท่า

              4. เครื่องประดับเงิน คิดเป็นสัดส่วน 1.14% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 45.99% หากแต่มีมูลค่าส่งออกลดลง 8.63% ประเทศคู่ค้ารองลงมา คือ มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 41.93% และมีมูลค่าการส่งออกลดลง 7.01%

              5. พลอยสีเจียระไน คิดเป็นสัดส่วน 0.87% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 79.39% ด้วยมูลค่าส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้น 58.90% ประเทศคู่ค้าถัดมา คือ มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 9.80% มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.65%

              6. เพชรเจียระไน คิดเป็นสัดส่วน 0.81% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปอาเซียน ซึ่งมีกัมพูชาเป็นประเทศคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 67.28% ด้วยมูลค่าส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 1.13 เท่า ประเทศคู่ค้ารองลงมา คือ เวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 11.30% ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกลดลง 4.48%
 
ด้านการนำเข้า

              ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2019 ไทยมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศอาเซียนลดลงทุกประเทศ ยกเว้นกัมพูชาที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้การนำเข้ารวมจากอาเซียนเพิ่มขึ้น 1.35 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้านำเข้าหลักจากอาเซียน คือ ทองคำด้วยมูลค่า 991 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 64.94% ของการนำเข้าจากอาเซียน โดยนำเข้าจากสิงคโปร์และกัมพูชาเกือบทั้งหมด รองลงมา คือ เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยทองคำ (พิกัด 711291) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากกัมพูชาด้วยมูลค่า 476.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 31.21% ของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากอาเซียน
 

มูลค่านำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจากอาเซียน
 
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
โอกาสในตลาดอาเซียน

           อาเซียนถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เนื่องจากหลายประเทศมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ในระดับสูงและต่อเนื่อง ตลาดมีขนาดใหญ่ด้วยประชากรมากกว่า 640 ล้านคน อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากกว่า 125 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด (ข้อมูลจาก data.aseanstats.org) เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกซึ่งทำให้ตลาดอาเซียนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยตลาดสำคัญของการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอาเซียน มีรายละเอียดดังนี้

              สิงคโปร์ เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยในอาเซียนโดยเป็นผู้นำเข้าหลักในสินค้าหลายรายการ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีและมีกำลังซื้อสูง จากข้อมูลของ www.numbeo.com ระบุว่า ชาวสิงคโปร์มีรายได้ต่อเดือนสุทธิ 3,169.24 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกา การใช้ชีวิตของประชาชนนิยมใส่เครื่องประดับทั้งในชีวิตประจำวันรวมทั้งในโอกาสสำคัญต่างๆ นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังนิยมลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งทองคำ ซึ่งมีการนำเข้าจำนวนมาก โดยไทยสามารถส่งออกทองคำไปยังสิงคโปร์ได้เป็นอันดับ 2 ของการส่งออกทองคำทั้งหมดไปยังตลาดโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยทองคำ (พิกัด 711291) เป็นสินค้าอีกรายการที่สิงคโปร์นำเข้าจากไทยในปริมาณสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน  

              กัมพูชา จากการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7% และมีกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ 20% หรือเท่ากับ 3.2 ล้านคน จากจำนวนประชากรที่มีอยู่ราว 16 ล้านคน ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคมีรสนิยมเปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสนใจสินค้าที่มีคุณภาพและแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากขึ้น รวมทั้งความนิยมในทองคำและเครื่องประดับทองของชาวกัมพูชา เนื่องด้วยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าและเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล จึงทำให้ชาวกัมพูชามีความต้องการทองคำและเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในแง่ของการเก็งกำไรและสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งกัมพูชามีการนำเข้าทองคำจำนวนมากจากไทยและมีการส่งเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยทองคำมายังไทยเพื่อทำการหลอมใหม่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เพชรยังเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่กัมพูชานิยมนำเข้าจากไทยด้วย

              อินโดนีเซีย ประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะมากกว่า 17,000 เกาะ ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตลาดมีขนาดใหญ่ด้วยประชากรมากกว่า 270 ล้านคน อยู่ในอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ (ข้อมูลจาก http://worldpopulationreview.com) อีกทั้งยังมีประชากรในวัย 25-54 ปี เป็นจำนวน 42.4% และประชากรวัย 0-14 ปี มีจำนวนมากกว่า 25% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นผลดีต่อการบริโภคเนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีการจับจ่ายใช้สอยมาก รวมทั้งเมืองใหญ่ๆ มีอัตราการขยายตัวสูง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีความต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนของอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ทองคำเป็นที่นิยมอย่างมากตามวัฒนธรรมและค่านิยมของชาวอินโดนีเซีย แต่เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตลดการผลิตลงและหันมาเน้นตลาดเครื่องประดับเงินมากขึ้นซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียเกือบทั้งหมด คือ ทองคำ คิดเป็นสัดส่วน 91.86% รองมา คือ โลหะเงิน และเครื่องประดับเงิน ตามลำดับ

              เมียนมา เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการขยายตัวของเขตเมืองเพิ่มขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว เนื่องมาจากการเปิดประเทศมีการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นนับแต่ปี 2012 ทำให้เกิดการยกเครื่องเศรษฐกิจครั้งใหญ่และเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคครั้งสำคัญของชาวเมียนมา อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะพลอยสีเช่น ทับทิม และไพลิน เหล่านี้เป็นปัจจัยดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อัญมณียังมีจำกัดทั้งช่างฝีมือและเทคโนโลยีการผลิต ทำให้มีการส่งพลอยก้อนมาไทยและจีนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในลักษณะการปรับปรุงคุณภาพและการเจียระไน ปัจจุบัน มูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับเมียนมายังไม่สูงนัก สินค้าหลักที่ไทยส่งออก คือ ทองคำ คิดเป็นสัดส่วน 93.10% สอดคล้องกับความนิยมสะสมทองคำเช่นเดียวกับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม CLMV  

              มาเลเซีย เป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งในตลาดโลก อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาเลเซียจะสามารถผลิตเครื่องประดับทองได้เอง แต่แนวโน้มของคนรุ่นใหม่ชอบการดีไซน์ที่ทันสมัยจึงมีการนำเข้าจากไทยซึ่งออกแบบได้ตรงความต้องการ ทำให้ไทยสามารถส่งออกเครื่องประดับทองไปยังมาเลเซียได้เป็นอันดับ 3 รองจากการส่งออกไปสิงคโปร์และกัมพูชา โดยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2019 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 46.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  

              สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากทักษะฝีมือแรงงานของไทยมีความชำนาญสูงทั้งการเจียระไนอัญมณีและผลิตเครื่องประดับ ทำให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงอาเซียนยังเป็นอีกตลาดที่สำคัญของไทยและมีแนวโน้มการขยายตัวดี โดยสินค้าหลักที่ควรให้ความสำคัญในตลาดนี้  คือ ทองคำ เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยทองคำ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียม ผู้ประกอบการควรพิจารณาเจาะตลาดอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน รวมถึงการเป็นตลาดทดแทนตลาดอื่นๆ ซึ่งชะลอตัวเพราะผลกระทบจากสงครามการค้าและปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ อาเซียนจึงเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ผู้แสวงหาโอกาสไม่ควรพลาด


 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2562
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://tradereport.moc.go.th
  2. https://data.aseanstats.org/
  3. http://worldpopulationreview.com
  4. https://kasikornbank.com/international-business/th/AEC
  5.  

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที