GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 31 ต.ค. 2019 10.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1171 ครั้ง

สงครามการค้าระหว่างสหรัฯ-จีน ที่ยืดเยื้อมานาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ แต่เวียดนามกลับได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ในฐานะเป็นแหล่งผลิตของโลกที่น่าสนใจจากปัจจัยที่เอื้ออำนวยหลายประการ และอาจก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับชั้นนำของโลกได้ในอนาคต ซึ่งเวียดนามจะมีความน่าสนใจอย่างไรและจะเป็นคู่แข่งหรือโอกาสของไทยติดตามได้ในบทความนี้


จับตาเวียดนามโอกาสก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับชั้นนำของโลก

         สงครามการค้าโลกที่ก่อตัวมานานนับปีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ – จีน ที่ต่างตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกันหลายรอบ จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ได้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนแล้วมูลค่ารวมประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีการพบปะเจรจาระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการบรรลุข้อตกลงยุติสงครามการค้า ซึ่งความขัดแย้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีฐานการผลิตในจีนให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จึงเริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า ซึ่งเวียดนามถือเป็นเป้าหมายการลงทุนในลำดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติที่น่าจับตามอง

อานิสงส์ของสงครามการค้าต่อเวียดนาม

          ท่ามกลางสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ซึ่งบั่นทอนบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลก และส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ แต่เวียดนามกลับเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้ สะท้อนได้จากการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ที่นำเข้าจากเวียดนามแทนจีน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนลดลงร้อยละ 5 ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.5 ในด้านการลงทุนนั้น ภาคธุรกิจสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในจีนลดลงร้อยละ 10 ส่วนข้อมูลการลงทุนของเวียดนามล่าสุดพบว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2562 มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หรือมีเม็ดเงินลงทุนราว 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผลิตและแปรรูปสินค้า รองลงมาเป็นอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกและค้าส่ง ตามลำดับ ซึ่งประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ


 


ปัจจัยดึงดูดการลงทุนในเวียดนาม

          จากค่าแรงงานของจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้หลายบริษัทได้ทยอยขยายฐานการผลิตจากจีนไปยังหลายประเทศรวมถึงเวียดนามมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะมีการตอบโต้การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันเกือบทุกประเภทสินค้า จึงกลายเป็นปัจจัยบังคับให้ธุรกิจต้อง “ย้ายที่ผลิต” เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งเวียดนามนับเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ของโลกที่หลายชาติเลือกเข้าไปลงทุน โดยมีปัจจัยส่งเสริมดังต่อไปนี้
           
± ค่าจ้างแรงงานต่ำ

      ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2,920 – 4,180 ล้านดองต่อเดือน (3,854.82 – 5,518.20 บาทต่อเดือน)(1) ในขณะที่จีนมีค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดสูงกว่าเวียดนามร้อยละ 12 และสูงสุดถึง 2 เท่าตัว(2) ส่วนไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าเวียดนามประมาณ 1.5-3 เท่าตัว(3) ทั้งนี้ ค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเวียดนามก็อิงตามกฎหมายแรงงานของเวียดนามเป็นหลัก นอกจากนี้ เวียดนามยังมีประชากรจำนวนมากราว 96 ล้านคน โดยมีวัยแรงงานอยู่ถึงราว 58 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก
ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นจำนวนมากพอรองรับการลงทุนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

± ข้อตกลงทางการค้า

      นอกจากผู้ประกอบการในเวียดนามจะมีแต้มต่อจากสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preference: GSP) ที่ได้รับจากประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลียแล้ว เวียดนามยังมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้นจากความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคีซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วประมาณ 14 ฉบับ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 2 ฉบับ โดยความตกลงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนาชาติแรกในเอเชียที่อียูทำความตกลงด้วย นับเป็นความตกลงที่เรียกได้ว่ามีคุณภาพและมาตรฐานสูง โดยครอบคลุมทั้งการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ พาณิชย์-อิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุน รวมถึงลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ส่วนสาระสำคัญของความตกลงฉบับนี้ก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันราวร้อยละ 99 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดภายใน 10 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามคาดว่าผลของเอฟทีเอฉบับนี้จะส่งผลให้อียูส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.28 ส่วนเวียดนามจะส่งออกสินค้าไปยังอียูเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ภายในปี 2564

± รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

      เวียดนามได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติมาโดยตลอด และในปี 2558-2559 เวียดนามมีการปรับปรุงกฎหมายหลายครั้งเพื่อต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุดร้อยละ 100 หากชาวต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 51 ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติ รวมถึงการยกเลิกการเก็บภาษีจากผลกําไรที่โอนกลับประเทศ (profit remittance tax) การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างชาติสำหรับธุรกิจทั่วไปในอัตราเดียวกับชาวเวียดนามที่ร้อยละ 20 (flat rate) การยกเว้นภาษีนำเข้าวัสดุ-เครื่องจักรที่ไม่สามารถจัดหาได้ในเวียดนาม และการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ (economic zones : EZs) เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังปรับลดกระบวนการจัดตั้งธุรกิจจากเดิม 45 วันเป็น 15 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกบริษัทต่างชาติให้เข้าไปตั้งธุรกิจได้ง่ายขึ้น และมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น รวมถึงการอัดฉีดเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้าให้มีราคาถูกลงโดยมีราคาเพียง 0.07 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.14 บาท) ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (Globalpetrolprices.com)

± รัฐบาลและค่าเงินดองมีเสถียรภาพ

      เวียดนามมีความมั่นคงทางการเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการปกครองระบบคอมมิวนิสต์ แต่จากการปกครองแบบรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว ทำให้การกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลพยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีของโลก ทำให้การดำเนินธุรกิจ

          ในเวียดนามเป็นลักษณะตลาดเสรีที่มีการควบคุมของรัฐบาลในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนค่าเงินดองก็ถือว่ามีเสถียรภาพสูง ซึ่งค่าเงินดองใช้ระบบบริหารจัดการผูกกับค่าเงินสกุลอื่น (Pegged exchange rate) โดยธนาคารกลางเวียดนามจะมีการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนแบบรายวันซึ่งสามารถเคลื่อนไหวได้ในกรอบร้อยละ 1-2 เท่านั้น

การลงทุนผลิตเครื่องประดับในเวียดนาม

          ในอดีตอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับเวียดนามดำเนินการโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นรายเล็ก เป็นลักษณะธุรกิจในครอบครัว ผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมไม่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง เน้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก แต่ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเวียดนามได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ผู้ประกอบธุรกิจท้องถิ่นหลายรายจึงได้เริ่มพัฒนาการลงทุนเป็นการผลิตแบบโรงงานขนาดใหญ่ มีการสร้างตราสินค้าเป็นของตนเองมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย โดยผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ของเวียดนามมี 3 รายคือ DOJI, PNJ และ SJC

            ภายหลังเวียดนามออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปประเทศที่ชื่อว่าโด่ยเหม่ย และได้ปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนให้มีความเสรีมากขึ้นหลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2550 ดึงดูดให้หลายชาติเข้าไปลงทุนเปิดบริษัทหรือตั้งโรงงานผลิตสินค้าในเวียดนามมากขึ้นในหลากหลายประเภทธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับด้วย อาทิ บริษัทแพรนด้า ของไทย ได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงินและอัญมณีในจังหวัด Dong Nai บริษัท Vietnam Japan Gemstones ซึ่งเป็นการร่วมทุนของชาวญี่ปุ่นและเวียดนาม เป็นโรงงานผลิตเครื่องประดับแท้ ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย Marigot Jewelry ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสวารอฟกี้ ผลิตเครื่องประดับคริสตัลและแอคเซสเซอรี่ ตั้งอยู่ในจังหวัด Dong Nai เป็นต้น

            สำหรับการลงทุนผลิตเครื่องประดับในเวียดนามไม่มีข้อจำกัดมากนัก และต่างชาติสามารถจัดตั้งบริษัทโดยถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 หรือร่วมทุนกับคนท้องถิ่น ไม่จำกัดเงินทุนขั้นต่ำ แต่โดยทั่วไปเงินทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป แต่หากจะลงทุนผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับทองคำ ซึ่งนอกจากการขอใบรับรองการลงทุนและหนังสือรับรองการจดทะเบียนจากหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่รับจดทะเบียนการลงทุน State Investment Registration Authority: SIRA(4) แล้ว ผู้ลงทุนยังจะต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจและใบรับรองจากธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) ด้วย

เวียดนามเป็นทั้งโอกาสและคู่แข่งของไทย

             ด้วยปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน และการถูกตัดสิทธิ์ GSP จากกลุ่มคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งไม่น้อย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสิทธิพิเศษจากความตกลงเขตการค้าเสรี และสิทธิ์ GSP ของเวียดนามในการส่งออกไปยังประเทศคู่สัญญาต่างๆ ของเวียดนามที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป เป็นต้น
 
          อย่างไรก็ดี จากการที่เวียดนามวางเป้าหมายเป็นฐานการผลิตของโลกในปี 2563 รัฐบาลจึงได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เวียดนามยังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผนวกกับจุดแข็งของแรงงานจำนวนมาก ค่าจ้างต่ำ แรงงานมีความขยันและมีทักษะฝีมือที่พัฒนาได้ เนื่องจากมีพื้นฐานจากการเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องประดับทองด้วยมืออยู่แล้ว รวมถึงสิทธิพิเศษทางการค้าจากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ และสิทธิ์ GSP เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้เวียดนามได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก จึงอาจดึงดูดให้ชาวต่างชาติเลือกเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับในเวียดนามแทนไทย และเวียดนามอาจกลายเป็นคู่แข่งของไทยในการลงทุนและส่งออกเครื่องประดับได้ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะมีบริษัทต่างชาติที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับจำนวนน้อยและเป็นรองไทยอยู่มาก แต่การประมาทคู่แข่งอย่างเวียดนามโดยไม่เร่งพัฒนาตนเอง ก็อาจทำให้เวียดนามมีโอกาสก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับชั้นนำของโลกแซงหน้าไทยได้

 


 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 ตุลาคม 2562 



(1) https://th.coinmill.com/ (2 ตุลาคม 2562)
(2) ค่าจ้างขั้นต่ำของจีนแตกต่างไปตามแต่ละจังหวัดโดยอยู่ที่ 1,000 – 2,480 หยวน (4,297.96 – 10,658.94 บาทต่อเดือน)
(3) ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปัจจุบันอยู่ที่ราว 9,000 บาทต่อเดือน
(4) หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่รับจดทะเบียนการลงทุน เช่น หน่วยงานบริหารจัดการ (Management Authority) ของเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone) เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone) เขตเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology Zone) หรือเขตเศรษฐกิจ (Economic Zone) หรือฝ่ายการลงทุนของต่างชาติ (Foreign Investment Division) ในสังกัดของกองการวางแผนและการลงทุนระดับจังหวัด (Provincial-level Department of Planning and Investment)
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที