GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 ต.ค. 2019 04.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1001 ครั้ง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของข้อตกลง Brexit ที่ยังไม่มีผลสรุปเป็นที่แน่ชัด ว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถออกจากอียูได้ภายใน 31 ตุลาคม 2019 นี้ได้ตามความประสงค์เดิมที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี ได้หรือไม่ แม้ว่าเบื้องต้นนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายได้ แต่ด้วยขอบเขตเวลาที่จำกัด ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษโหวตเลื่อนข้อตกลง Brexit ซึ่งเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ออกไปอีก 3 เดือน ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรและจะกระทบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับด้านใดบ้าง


Brexit กระทบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างไร

หลังจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ สร้างความโล่งใจแก่ผู้เกี่ยวข้องเพราะสามารถหลีกเลี่ยงการออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) แต่ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาข้อตกลง Brexit ครั้งล่าสุด ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน สามารถบรรลุข้อตกลงกับอียูได้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษโหวตให้เลื่อนการ Brexit ด้วยคะแนน 322 ต่อ 306 เสียง เหตุผล คือ ต้องการเวลาเพื่อศึกษาเนื้อหาข้อตกลงล่าสุดนี้ให้เรียบร้อยก่อนเส้นตายวันที่ 31 ตุลาคม 2019 ส่งผลให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องเขียนจดหมายถึงประธานสภายุโรปเพื่อขอเลื่อน Brexit ออกไปอีก 3 เดือน เป็นมกราคมปี 2020 ตามกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษกำหนดไว้ แม้ว่านายบอริส จอห์นสัน จะไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนออกไปอีกก็ตาม อีกทั้งก่อนหน้านี้นายบอริส จอห์นสัน เคยประกาศจะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ทันภายใน 31 ตุลาคมนี้ 

           ขณะที่สถานการณ์ด้านนอกสภาฯ ก็มีการชุมนุมเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรมีการลงประชามติอีกครั้ง

 

รูปจาก https://www.lesalonbeige.fr
 

              Brexit จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างไร

              มีการวิจัยจาก Walpole (เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มแบรนด์ชั้นนำในอังกฤษโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และพัฒนาแบรนด์ชั้นนำในอังกฤษ) ชี้ว่า หากสหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงจะส่งผลกระทบกับแบรนด์ชั้นนำซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 6.8 พันล้านปอนด์ เพราะมากกว่า 80% ของแบรนด์เหล่านี้มีอียูเป็นตลาดส่งออกหลัก อัตราภาษีที่เปลี่ยนไปย่อมกระทบต่อต้นทุนและฐานะการเงินของธุรกิจรวมทั้งขั้นตอนพิธีศุลกากรที่ต้องใช้เวลามากกว่าเดิมก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าด้วย

              ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเองก็มีการโหวตเรื่อง Brexit โดย 43% ต้องการอยู่ต่อ 37% ต้องการออก และกลุ่มที่ไม่แน่ใจประมาณ 19% ซึ่งหลังจากประกาศผลลงมติ Brexit ในปี 2016 ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง และมีการสำรวจมูลค่าการค้าปลีกพบว่า มียอดขายเพิ่มขึ้น 1.3% แต่นั่นเป็นเพียงปัจจัยบวกในระยะสั้นเท่านั้น โดยมีการคาดการณ์ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้จากนักวิเคราะห์ ดังนี้

              ค่าเงินปอนด์อ่อน นับเป็นข่าวร้ายของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในสหราชอาณาจักร เนื่องจากทำให้ต้นทุนวัตถุดิบทั้งโลหะมีค่าและพลอยสีที่เป็นวัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังกระทบต้นทุนของร้านค้าปลีกในการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าการที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากขึ้น มีการวิเคราะห์จาก Esther Lightthart เจ้าของบล็อคข่าวสารวงการอัญมณีและเครื่องประดับ bizzita.com ว่า มีเพียงบางแบรนด์เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ดังเช่นแบรนด์หรูอย่าง Cartier หรือ Tiffany & co จะถูกลดความน่าสนใจลง โดยแบรนด์ที่เน้นความเป็นแฟชั่นอย่าง Pandora จะได้รับประโยชน์เพราะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้มากกว่า

              ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการผลิต เนื่องจาก 32% ของธุรกิจนี้มีการดำเนินธุรกิจกับผู้จัดจำหน่ายในอียู  Brexit จึงส่งผลให้ต้องมีการหาแหล่งอื่นๆ เป็นทางเลือกเพิ่มเติม โดยเฉพาะแหวนซึ่งมีแหล่งการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากอาจจำเป็นต้องสั่งในประเทศเพื่อทดแทน แม้อาจเป็นเรื่องดีที่สามารถทดแทนการนำเข้าและเพิ่มช่างฝีมือในอุตสาหกรรมนี้ได้เพิ่มขึ้น แต่การฝึกอบรมแรงงานใหม่ต้องการเงินทุนจากรัฐบาลและมีรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจน ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ 

              Hallmark ถือเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้ เนื่องจากตรารับรองคุณภาพที่มีชื่อเสียงจะสร้างมูลค่าเพิ่มและดึงดูดผู้บริโภคได้มากกว่า โดยบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องประดับรายใหญ่ต่างกังวลว่าประเทศในอียู เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน จะไม่ยอมรับ British Hallmarks ทั้งนี้ การดำเนินขอการรับรอง hallmark เป็นต้นทุนที่บริษัทเหล่านั้นต้องรับภาระ อีกทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศอียูก็อาจต้องมี British Hallmarks ด้วยเช่นกัน

              ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผู้นำทั้ง 27 ชาติของอียู จะพิจารณาเลื่อนเวลา Brexit ออกไปจากเส้นตายเดิมวันที่ 31 ตุลาคมนี้หรือไม่ หรือทุกอย่างจะสิ้นสุดในวันฮัลโลวีนปีนี้
 
 
 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2562
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. The UK Focus on Brexit: What impact will Brexit have on the UK’s jewellery market?. Retrieved October 22, 2019, from http://www.theuknewspaper.co.uk
  2. BREXIT; WHAT DOES IT MEAN FOR JEWELRY RETAIL IN THE U.K.?. Retrieved October 22, 2019, from https://www.bizzita.com/jewelry-blog
  3. A No-Deal Brexit Could Cause The UK Luxury Industry To Lose £6.8 Billion. Retrieved October 21, 2019, https://www.vogue.co.uk

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที