โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงอัญมณีที่มีความงดงาม คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเพชรและพลอยสีเสียมากกว่าจะนึกถึงแร่หรือผลึกต่างๆ ทางธรรมชาติที่มีความงดงามเช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับในประเทศไทยแล้ว บริเวณอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถือเป็นแหล่งทรัพยากรเพียงแห่งเดียวของประเทศที่มีการขุดพบแร่สวยงามที่มีชื่อเรียกเฉพาะในท้องถิ่นว่า “แก้วโป่งข่าม” อันได้รับการขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ประจำท้องถิ่น ซึ่งการค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การผลิตสินค้าเครื่องประดับและของที่ระลึกที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
การค้นพบแก้วโป่งข่ามในประเทศไทย
แก้วโป่งข่ามเป็นแร่ควอรตซ์ชนิดหนึ่งที่มีแร่ซิลิกาปนอยู่ในปริมาณมากมีลักษณะทางกายภาพเป็นหินผลึกที่บางก้อนสามารถมองทะลุเข้าไปภายในแล้วเห็นเป็นผลึกหรือมีอินทรีย์สารอยู่ภายใน โดยแก้วโป่งข่ามที่พบมีอยู่หลายชื่อเรียกแบ่งตามสีสันและลวดลายทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในไทยมีการขุดพบแก้วโป่งข่ามเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 บริเวณดอยโป่งหลวง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งจากข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีร่องรอยของลาวาไหลผ่านชั้นหินบนผิวดิน จนเกิดการเคลือบแร่ธาตุเอาไว้ และกลายมาเป็นแก้วโป่งข่าม
ความเชื่อเกี่ยวกับแก้วโป่งข่าม
นอกจากความสวยงามที่ดูแปลกตาของแก้วโป่งข่ามแล้ว การนำเอาวัตถุดิบดังกล่าวไปผูกเข้ากับตำนานความเชื่อเรื่องแก้วศักดิ์สิทธิ์ของล้านนาโบราณ ก็ทำให้เกิดกระแสความสนใจและต้องการบริโภคสินค้าดังกล่าว
เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแก่นหลักทางความเชื่อของล้านนาได้กล่าวถึงแก้วศักดิ์สิทธิ์ อันมีลักษณะเหมือนกันกับแก้วโป่งข่ามว่าสามารถป้องกันเหตุอันตรายต่างๆ ตลอดจนภูตผีปีศาจให้แก่ผู้ที่ครอบครองได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคล ความสุข และความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
การนำมาผลิตและจำหน่ายในปัจจุบัน
ภายหลังจากการขุดพบแก้วโป่งข่าม ทำให้มีชาวบ้านในพื้นที่เกิดความกระตือรือร้นเข้ามาขุดหาแร่ดังกล่าวแทบทั้งวันทั้งคืน เพื่อนำไปขายต่อแล้วได้ราคาดีเพราะเป็นสิ่งสวยงามแปลกตา ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มเจียระไนแก้วโป่งข่ามบ้านนาบ้านไร่” ขึ้น โดยนำเอาวัตถุดิบที่ขุดได้ มาเจียระไนตกแต่งให้สวยงามแล้วผลิตเป็นเครื่องประดับออกวางจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 60 คน
สำหรับกระบวนการผลิตเครื่องประดับจากแก้วโป่งข่าม เริ่มต้นจากการนำก้อนแร่ที่ขุดได้มาเผา ขัดเงาและเจียระไนให้สวยงามได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วจึงนำมาประกอบเข้ากับตัวเรือนเครื่องประดับ โดยใช้ตกแต่งแทนพลอยสี เครื่องประดับที่ผลิตได้มีทั้งแหวน จี้ ต่างหู และกำไลข้อมือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำเอาแก้วโป่งข่ามไปใช้ผลิตเป็นรูปแกะสลักขนาดเล็ก อาทิ พระพุทธรูป ของตกแต่งรูปสัตว์และดอกไม้ต่างๆ เป็นต้น
เครื่องประดับและของที่ระลึกจากแก้วโป่งข่ามนับเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นที่มีความสวยงามแปลกตาและไม่ซ้ำกับท้องถิ่นอื่นๆ รวมทั้งด้วยความที่มีราคาที่ไม่แพงมาก จึงทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและนักสะสมได้โดยไม่ยาก ปัจจุบันทางผู้ประกอบการได้พยายามทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยใช้วิธีเปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และขนสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าโอทอปหรืองานแสดงสินค้าพื้นเมืองที่จัดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อันส่งผลให้สินค้าจากแก้วโป่งข่ามเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ความเชื่อเกี่ยวกับแก้วโป่งข่ามทั้ง 13 ประเภท
ปัจจุบันมีแก้วโป่งข่ามอยู่ทั้งหมด 13 ประเภท ซึ่งมีชื่อเรียกและการสื่อความหมายทางความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป โดยการเลือกบริโภคสินค้าขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล ตามรายละเอียด ดังนี้
1. แก้วขนเหล็กใส มีลักษณะโปร่งใส ภายในมีเส้นแร่ปรากฎอยู่ มีไว้เพื่อเสริมโชคลาภ ยศและตำแหน่ง
2. แก้วเข้าแก้ว มีไว้เพื่อเสริมความโดดเด่นในเรื่องของอำนาจ ความสำเร็จในการติดต่อค้าขาย และความมีชื่อเสียง
3. แก้วสามกษัตริย์ ช่วยเสริมชะตาบารมีให้แก่ผู้ถือครอง
4. แก้วนางขวัญ ช่วยให้ผู้ที่ครอบครองมีเสน่ห์ต่อคนรอบข้าง
5. แก้วทราย มีลักษณะของเม็ดทรายเรียงกัน ช่วยส่งเสริมในเรื่องของเงินทอง โชคลาภ
6. แก้วพิรุณเสน่หา มีลักษณะของเส้นลายจะเป็นริ้วบางๆ เหมือนกับผ้าแพรบางๆ ช่วยส่งเสริมด้านการค้าขายให้ประสบความสำเร็จ
7. แก้วหมอกมุงเมือง เชื่อว่าทำให้เกิดความบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง
8. แก้ววิทูรสีน้ำผึ้ง มีสีเหลืองขุ่น ช่วยส่งเสริมทางด้านโชคลาภ
9. แก้วกาบ มีลักษณะเป็นแร่แผ่นบางๆ อยู่ภายใน ช่วยเสริมด้านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
10. แก้วปวก ลักษณะมองเห็นเป็นต่อมน้ำหรือฟองน้ำอยู่ภายใน ช่วยเสริมในด้านเมตตามหานิยม
11. แก้วแร ส่งผลในการค้ำชูสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจค้าขาย
12. แก้วมังคละจุฬามณี เมื่อมองเข้าไปภายในจะจินตนาเห็นเป็นรูปมงคลต่างๆ เช่น องค์พระ ต้นโพธิ์ หรือเจดีย์ ถือเป็นแก้วที่หาพบได้ยากและถือว่ามีค่ามาก
13. แก้วโป่งข่ามสีฟ้า เชื่อว่าผู้ใดได้ครอบครองจะทำให้ชีวิตมีความสงบสุข
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที