ในอนาคตการวางแผนครอบครัวสำหรับผู้หญิงอาจทำได้ง่ายๆ ด้วยการใส่เครื่องประดับ ตามคำกล่าวจาก ศาสตราจารย์ Mark Prausnitz นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ในสหรัฐ ผู้พัฒนาเทคนิคสำหรับการคุมกำเนิดด้วยต่างหู แหวน หรือสร้อยคอ
รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์คอนโทรลด์รีลีส (Journal of Controlled Release) ระบุว่า ฮอร์โมนสำหรับคุมกำเนิดสามารถบรรจุในแผ่นยาซึ่งติดอยู่กับเครื่องประดับส่วนที่สัมผัสกับผิวหนัง ช่วยให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ การทดสอบเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าเครื่องประดับคุมกำเนิดอาจให้ฮอร์โมนเป็นจำนวนมากเพียงพอสำหรับการคุมกำเนิด แม้ว่ายังไม่มีการทดสอบในมนุษย์ก็ตาม
เทคนิคใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับยาตามขนาดที่ถูกต้องได้อย่างสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น และนอกจากยาคุมกำเนิด เราอาจนำเครื่องประดับมาใช้ในการให้ยาชนิดอื่นๆ ผ่านผิวหนังได้เช่นกัน
เครื่องประดับคุมกำเนิดเกิดจากการดัดแปลงเทคโนโลยีแผ่นยาสำหรับการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ซึ่งปกติใช้กันอยู่แล้วในกลุ่มยาป้องกันอาการเมารถ ยาช่วยเลิกบุหรี่ และยาควบคุมอาการเมโนพอส ซึ่งเกิดกับสตรีวัยหมดระดูหรือหมดประจำเดือน แต่ไม่เคยนำมาใช้กับเครื่องประดับมาก่อน แผ่นยาคุมกำเนิดก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ Prausnitz เห็นว่า การนำมันมาจับคู่กับเครื่องประดับอาจช่วยให้ตัวเลือกนี้ดูน่าสนใจสำหรับผู้หญิงบางคน และช่วยให้สามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้อย่างกลมกลืนในชีวิตประจำวันด้วย
ทั้งนี้ เพื่อจำลองสถานการณ์การถอดต่างหูออกระหว่างนอนหลับ จึงมีการทดสอบกับสัตว์ทดลองด้วยการติดแผ่นยานาน 16 ชั่วโมงและไม่ติดแผ่นยาเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าแม้ระดับยาลดลงขณะถอดต่างหู แต่แผ่นยาก็สามารถผลิตฮอร์โมนในกระแสเลือดได้เป็นปริมาณมากเพียงพอ
สำหรับแผ่นติดต่างหูที่นักวิจัยนำมาทดสอบประกอบด้วยสามชั้น ชั้นแรกเป็นวัสดุที่ยาซึมผ่านไม่ได้และมีลักษณะเป็นแผ่นกาวสำหรับติดที่ด้านหลังของต่างหู ด้านล่างของนาฬิกาข้อมือ หรือด้านในของสร้อยคอหรือแหวน ชั้นตรงกลางเป็นแผ่นบรรจุยาคุมกำเนิดในรูปของแข็ง ส่วนชั้นนอกนั้นเป็นแผ่นกาวสำหรับใช้ติดกับผิวหนังเพื่อให้ส่งผ่านฮอร์โมนเข้าไปได้ เมื่อตัวยาเข้าไปในผิวหนังแล้วก็จะสามารถเดินทางไปตามกระแสเลือดและหมุนเวียนในร่างกาย
หากเทคนิคนี้นำไปใช้คุมกำเนิดในมนุษย์จะต้องมีการเปลี่ยนแผ่นปิดด้านหลังต่างหูอย่างสม่ำเสมอ โดยน่าจะต้องเปลี่ยนทุกสัปดาห์ แผ่นยาที่นักวิจัยทดสอบอยู่นี้ใช้ติดที่ด้านหลังของต่างหู โดยมีขนาดราวหนึ่งตารางเซนติเมตรและติดแนบสนิทกับผิวหนัง ด้านหลังของต่างหูและนาฬิกาข้อมือน่าจะใช้ในการให้ยาได้ง่ายที่สุด เพราะอยู่ติดกับผิวหนังตลอดเวลาทำให้ส่งผ่านตัวยาได้ โดยทั่วไปแล้วปริมาณยาที่ส่งเข้าสู่ร่างกายผ่านแผ่นยานั้นมีสัดส่วนขึ้นอยู่กับพื้นที่สัมผัสกับผิวหนัง
เครื่องประดับคุมกำเนิดนี้เริ่มต้นพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จำกัดอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้ารับการคุมกำเนิดแบบระยะยาว เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด และการใส่ห่วงอนามัย
ฉะนั้นยิ่งมีทางเลือกในการคุมกำเนิดเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ที่ทางเลือกเหล่านั้นจะตรงกับความต้องการของผู้หญิงแต่ละคน เนื่องจากผู้หญิงบางคนใส่เครื่องประดับเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว เทคนิคนี้จึงอาจช่วยให้การใช้ยาตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเรื่องง่าย รวมถึงช่วยให้ผู้หญิงป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2562
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง: “Contraceptive Jewellery.” BANGKOK GEMS & JEWELLERY. (April 2019: pp. 23-24).
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที