GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 ก.ย. 2019 23.05 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1297 ครั้ง

ถึงแม้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการตั้งกำแพงภาษี แต่ทว่าความมั่งคั่งของโลกกลับเพิ่มขึ้นหว่าค่าเฉลี่ยนับแต่ปี 2008 และยังเป็นสถิติที่สูงสุดตั้งแต่สำรวจมาในระดับตัวบุคคล ซึ่งกลุ่มผู้คนเหล่านี้ก็คือ เศรษฐี นักลงทุน ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมเศรษญกิจโดยรวม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังเป็นนีกสะสมตัวยง โดยแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าหรูหรา เช่นเครื่องประดับถึง 138% ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้


ตลาดสินค้าหรู โอกาสและทางเลือกของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

           การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2019 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.6% ลดลงจากปี 2018 ที่เติบโต 3.0% และน่าจะขยับขึ้นเล็กน้อยในปี 2020 โดยมีปัจจัยจากเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตได้อย่างมั่นคงมากขึ้นในปีหน้า เพราะว่าหลายประเทศสามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินแล้ว แต่กระนั้นเศรษฐกิจก็ยังมีแรงผลักดันไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากการตั้งกำแพงภาษี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างแต่ละประเทศและความกังวลของภาคธุรกิจที่ยังไม่กล้าลงทุน เหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

          แต่ทว่าตามรายงาน Global Wealth Report 2018 ของ Credit Suisse Research Institute บ่งชี้ว่าความมั่งคั่ง[1] ของโลกเพิ่มขึ้น 14 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่ากับ 317 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นประมาณ 4.6% แม้ว่าอัตราการเติบโตจะน้อยกว่าปีก่อนหน้า แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยนับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อพิจารณาระดับตัวบุคคลพบว่า ความมั่งคั่งต่อคนเพิ่มขึ้น 3.2% นับเป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่สำรวจ ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนเศรษฐี [2] 42.2 ล้านคน จากประชากรทั่วโลกกว่า 7,600 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3 ล้านคน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ความมั่งคั่งของโลกจะสูงถึง 399 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2023

 




ที่มา
: www.credit-suisse.com

 
            จากรูปข้างต้นแสดงการเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งของโลกในปี 2018 แยกตามภูมิภาคจะเห็นว่า ทวีปอเมริกาเหนือสร้างความมั่งคั่งได้สูงสุด ตามมาด้วยทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ประเทศจีนเพียงประเทศเดียวสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ 51,874 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าทวีปลาตินอเมริกาและแอฟริการวมกัน ทั้งยังสูงไล่เลี่ยกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และถ้านับรวมจีนเข้ากับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ทวีปเอเชียจะเป็นอันดับ 1 ของโลกในการสร้างความมั่งคั่ง
 
             หากเอ่ยถึงความมั่งคั่งย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนึกถึงเศรษฐี นักลงทุน ผู้สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เปลี่ยนแปลงไปและมีผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อพิจารณาเจาะลงไปในรายประเทศจะพบว่า ประเทศที่มีจำนวนเศรษฐีมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ตามลำดับ และจากรายงาน
มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2023 อัตราการเพิ่มขึ้นของเศรษฐีเหล่านี้ในแต่ละประเทศ จีนจะมีอัตราเติบโตมากที่สุดถึง 62% อันดับที่ 2 คือ แคนาดา 54% และตามมาด้วยเยอรมนี ออสเตรเลีย และสเปน มีอัตราเติบโตเท่ากันที่ 41% 



[1] คำนิยามความมั่งคั่ง คือ มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินบวกด้วยสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่ครัวเรือนเป็นเจ้าของแล้วลบด้วยหนี้สิน
[2] นับจากคนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขึ้นไป
 
ที่มา: Credit Suisse Global Wealth Databook 2018
 

            จะเห็นได้ว่า แม้สภาพเศรษฐกิจจะยังคงไม่สดใสนัก แต่ความมั่งคั่งในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้นตลอดเวลาในทิศทางเดียวกับจำนวนเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งมีข้อมูลจาก luxatic.com เรื่อง งานอดิเรกหรือกิจกรรมยามว่างที่คนรวยในโลกนิยมยังระบุว่า นอกจากการเดินทางท่องเที่ยว อ่านหนังสือ การเล่นกีฬานานาชนิด เช่น วิ่ง ล่องเรือ โปโล สกี แข่งรถ เป็นต้น หรือการทำมูลนิธิแล้ว บรรดาเศรษฐีเหล่านี้ยังเป็นนักสะสมตัวยงไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ นาฬิกาข้อมือ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยใน 10 ปีข้างหน้าของแต่ละประเภทไว้ว่า รถยนต์จะเติบโตสูงที่สุดถึง 288% ขณะที่เครื่องประดับมีอัตราเติบโตสูงเป็นอันดับที่ 4 เท่ากับ 138% และเพชรสีตามมาเป็นอันดับที่ 6 เท่ากับ 77% การจับตลาดกลุ่มสินค้าหรูจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการจับกลุ่มเป้าหมายที่อำนาจซื้อไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก



 

ที่มา : www.visualcapitalist.com
 

           ปัจจุบัน การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดโลกมีมูลค่าโดยประมาณอยู่ที่ 348.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องประดับแฟชั่น 306.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเครื่องประดับแท้ 41.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยประเทศที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรูมากที่สุด 5 อันดับ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จีน อิตาลี ตามลำดับ
 
ค้นหาโอกาสในตลาดที่ใช่

              สหรัฐอเมริกา นอกจากจะมีจำนวนเศรษฐีมากที่สุดถึง 17.4 ล้านคนแล้ว ยังเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่สุดในโลกด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 7 % ในปี 2018 โดยเพชรเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีมูลค่าการค้าคิดเป็น 50% ของตลาดเพชรทั่วโลก โดยอเมริกันชนนั้นให้ความสำคัญกับรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการไม่เอาเปรียบแรงงานในการผลิต แต่ทั้งนี้ จากนโยบาย “Make America Great Again” อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศผู้ผลิตและคู่ค้าควรคำนึงถึงด้วย
              จีน มีจำนวนเศรษฐี 3.5 ล้านคน โดยเมืองที่มีจำนวนเศรษฐีมากที่สุด ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสิ่นเจิ้น ซึ่งจำนวนชนชั้นกลางและเศรษฐีในจีนที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูหรา มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคและลดหย่อนภาษีจากภาครัฐเป็นแรงกระตุ้นการใช้จ่ายให้เพิ่มมากขึ้น โดยตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์หยกและเครื่องประดับทองคำเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงตามความเชื่อและวัฒนธรรมของจีน ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการซื้อเครื่องประดับทองคำสูงที่สุดในโลก แต่จากสถานการณ์ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควรคำนึงถึง

              ญี่ปุ่น มีจำนวนเศรษฐีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีปัจจัยสนับสนุนที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและการกระตุ้นการใช้จ่ายของห้างร้านต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากเฮเซสู่รัชสมัยเรวะ เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้ว่าในเดือนตุลาคมปี 2019 นี้ ญี่ปุ่นจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% แต่เป็นการขึ้นในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม จึงไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญหรืออาจไม่มีผลกระทบในตลาดระดับบนของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

              เยอรมนี มีจำนวนเศรษฐีมากเป็นอันดับ 5 ของโลก มีธุรกิจและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มาอย่างยาวนานนับแต่สมัยโรมัน ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ในปี 2018 ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจากค่าเงินยูโรแข็งค่ามากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการซื้อเครื่องประดับแท้เพิ่มมากขึ้น ประมาณการยอดขายในตลาดอยู่ที่ 4.79 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปี 2017 ปัจจัยสำคัญคือ ชาวเยอรมันมองว่า การซื้อเครื่องประดับแท้เป็นการลงทุนทางการเงินที่น่าสนใจ โดยเครื่องประดับที่ทำจากทองคำ แพลทินัม และเพชร เป็นที่นิยมมากที่สุด รวมทั้งสินค้าต้องมีลวดลายสวยงาม ผลิตอย่างประณีต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีกระบวการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย

              อินเดีย มีการคาดการณ์ว่า อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในอีก 8 ปีข้างหน้า จากการเติบโตของชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้นในเมืองหลักๆ เช่น เดลี มุมไบ ทำให้สินค้าเครื่องประดับที่ใช้เจาะตามร่างกายซึ่งเป็นที่นิยมตามวัฒนธรรมมีความต้องการมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีความต้องการซื้อเครื่องประดับทองคำสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีนอีกด้วย โดยคนรุ่นใหม่ในอินเดียนิยมเครื่องประดับที่มีความทันสมัย มีรูปแบบหลากหลายให้เลือก นอกจากเครื่องประดับทองแล้ว เครื่องประดับแพลทินัม และเพชร ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น

              ฮ่องกง แม้จะไม่ติดอันดับท็อปประเทศที่มีเศรษฐีมากที่สุด แต่หากพิจารณาถึงเมืองที่มีเศรษฐีมากที่สุดในโลกแล้ว ที่นี่คือ อันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ด้วยจำนวน 250,700 คน โดยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นธุรกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีการส่งเสริมการค้าด้วยการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก โดยเครื่องประดับเพชรเป็นที่นิยมมากที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อทั้งผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการสินค้าที่มีการออกแบบตามแฟชั่นมากขึ้น รวมทั้งมีใบรับรองคุณภาพของสินค้าที่เป็นมาตรฐานสากลอ้างอิง
 

แผนภูมิแสดงความต้องการซื้อเครื่องประดับทองของโลก โดยมีจีนและอินเดียเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ


 


ที่มา :  www.visualcapitalist.com

 

 
           ชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงและเศรษฐีใหม่ รวมทั้งกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเข้ามามีบทบาท สร้างความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่ขาดตอน การใช้สื่อออนไลน์ ผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ รูปแบบดีไซน์ใหม่ๆ สินค้ามีลักษณะเฉพาะ การใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง งานละเอียดพิถีพิถัน แม้กระทั่งจรรยาบรรณของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้าที่กระตุ้นแรงซื้อของลูกค้าระดับบนอย่างมีนัยสำคัญ

            รวมทั้งการรวมอุตสาหกรรมความงามและแฟชั่นเข้าด้วยกัน เป็นอีกหนึ่งแนวทางหลักในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตยิ่งขึ้น ด้วยการโฆษณาผ่านนางแบบชั้นนำในวงการแฟชั่นจะช่วยขยายขอบเขตการใช้อัญมณีไปสู่ผลิตภัณฑ์หรูหราชนิดอื่นๆ เช่น นาฬิกา กระเป๋า หรือเครื่องแต่งกาย ก็เป็นการขยายตลาดในทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2562
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง

  1. Global Wealth Report 2018. Retrieved June 14, 2019, from https://www.creditsuisse.com/corporate/
    en/research/research-institute/global-wealth-report.html
  2. A Brief History of Jewelry Through the Ages. Retrieved June 14, 2019, from https://www.
    visualcapitalist.com/a-brief-history-of-jewelry-through-the-ages/
  3. Millionaire. Retrieved June 18, 2019, from https://en.m.wikipedia.org/wiki/Millionaire
  4. Luxury Jewellery in Germany. Retrieved June 21, 2019, from https://www.marketresearch.com

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที