GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 ส.ค. 2019 23.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1207 ครั้ง

สงครามการค้าที่สหรัฐฯ ดำเนินการต่อประเทศต่างๆ สร้างความสั่นคลอนแก่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศ นอกเหนือจากการทำสงครามการค้ากับจีนเพื่อสกัดความได้เปรียบในสินค้านวัตกรรมเทคโนโลยี ตอบโต้ประเทศที่อยู่ขั้วตรงข้ามแล้ว ล่าสุดการตัดสิทธิ GSP อินเดียที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งอินเดียมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 51.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ GSP 11.46% คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุดถึง 6.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนึ่งในนั้นคือ เครื่องประดับแท้ พลอยสี และเครื่องประดับเทียม จึงนับเป็นโอกาสดีที่ไทยได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่ไทยยังได้รับสิทธิ GSP อยู่ ซึ่งจะเป็นสินค้าใดบ้างนั้น ติดตามรายละเอียดได้จากบทความนี้


การตัดสิทธิ GSP สงครามการค้าจากลุงแซมถึงแดนภารตะ

สงครามการค้าที่สหรัฐฯ ดำเนินการต่อประเทศต่างๆ สร้างความสั่นคลอนแก่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศ นอกเหนือจากการทำสงครามการค้ากับจีนเพื่อสกัดความได้เปรียบในสินค้านวัตกรรมเทคโนโลยี ตอบโต้ประเทศที่อยู่ขั้วตรงข้ามแล้ว ล่าสุดอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP  

        ในปี 2018 อินเดียมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 51.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ GSP 11.46% คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุดถึง 6.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอัตราการใช้สิทธิ GSP ของอินเดียลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2006 มีอัตราการใช้สิทธิ GSP สูงถึง 25.99% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 5.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากปี 2006 อัตราการใช้สิทธิ GSP ของการส่งออกไปสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 13.13% นอกจากนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ มากที่สุด ตามมาด้วย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ตามลำดับ
 
 
ที่มา : สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR), https://ustr.gov.
 
        การตัดสิทธิ GSP อินเดียครั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 3,000 รายการ มีสินค้าหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องประดับเทียม (ใช้สิทธิ์ GSP 6.9%) สินค้ากลุ่มเครื่องหนัง (ใช้สิทธิ์ GSP 6.1%) ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ (ใช้สิทธิ์ GSP 5.9%) ผลิตภัณฑ์เคมีและพลาสติก (ใช้สิทธิ์ GSP 4.8%) และสินค้าเกษตร (ใช้สิทธิ์ GSP 4.8%) 

       ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์จาก CRISIL  (Credit Rating Information Services of India Limited) ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก GSP ถึง 15% (ในปี 2018) ซึ่งการเพิ่มอัตราภาษีประมาณ 7% จะทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ผลิตเครื่องประดับเทียมเพื่อส่งออกของอินเดียลดลง

        ในปี 2018 อินเดียมีมูลค่าการส่งออกทั่วโลกเท่ากับ 324.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มจากปี 2017 เท่ากับ 8.42% โดยมูลค่าสินค้าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แร่เชื้อเพลิง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเคมีภัณฑ์ ตามลำดับ 
 
        ในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับนั้น อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 5 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร โดยปี 2018 อินเดียส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออก 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 26.17% ของมูลค่ารวม ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 รองจากฮ่องกง ขณะที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของอินเดียเท่ากับ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายละเอียดดังตาราง 

 
 
ที่มา : Global Trade Atlas (July, 2019)
 
        ในปี 2018 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียที่มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุด 5 รายการ คือ เพชร มูลค่า 8,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 79.55%) เครื่องประดับแท้ มูลค่า 1,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 17.94%) พลอยสี มูลค่า 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 1.20%) อัญมณีสังเคราะห์ มูลค่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มีสัดส่วน 0.65%) และเครื่องประดับเทียม มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 0.38%) โดยเมื่อถูกตัดสิทธิ GSP สินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีมากที่สุด คือ  เครื่องประดับแท้ (7113) อัตราภาษี 5-13.5% เครื่องประดับเทียม (7117) อัตราภาษี 0-11% พลอยสี (7103) อัตราภาษี 0-10.5% อัญมณีสังเคราะห์ (7104) อัตราภาษี 0-6.4% สำหรับเพชรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักยังไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากอัตราภาษียังคง 0%

โอกาสและความเสี่ยงของไทย
 
        จากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP อินเดียดังกล่าว สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ มีความเห็นว่า เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกทดแทนสินค้าที่อินเดียถูกตัดสิทธิ GSP เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (HS8708) เครื่องประดับแท้ (HS7113) หินเพื่อการก่อสร้าง (HS6802) อุปกรณ์/ของใช้ในครัวทำด้วยโลหะ (HS7323) ก๊อก/วาล์วสำหรับใช้กับหลอดหรือท่อ (HS8481) อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า (HS7307) ตะกั่วที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป        (อันรอต) (HS7801) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะทำงานฝ่ายไทย-สหรัฐฯ ได้มีการหารือ และแก้ไขร่วมกันในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด
 
        เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดข้างต้น ถือเป็นโอกาสที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าหลายรายการซึ่งไทยยังได้รับสิทธิ GSP โดยในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ มี 3 รายการ คือ เครื่องประดับแท้ มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ 991.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้รับอัตราภาษี 0% ยกเว้นพิกัด 7113.11.50 และ 7113.19.50  พลอยสี 167.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้รับอัตราภาษี 0% ทุกพิกัด และเครื่องประดับเทียม 44.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้รับอัตราภาษี 0% ทุกพิกัด
 
        ปัจจัยดังกล่าวนั้น เป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อส่งออกของไทยจะใช้ในการเพิ่มกำลังผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อทดแทนการถูกตัดสิทธิ GSP ของอินเดีย แต่การใช้โอกาสนี้อาจทำได้เพียงระยะสั้น เนื่องจากสหรัฐฯ มีการพิจารณาทบทวนประเทศผู้ได้สิทธิ GSP เป็นรายปี โดยมีหลักการพิจารณาจากการนำเข้าเกินมูลค่าที่กำหนดหรือเกินส่วนเเบ่งทางการตลาดว่าด้วยเกณฑ์ตามความจำเป็นด้านการเเข่งขัน ซึ่งเมื่อพฤศจิกายน 2018 ไทยก็ถูกตัดสิทธิ GSP 11 รายการ  โดยส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น สิทธิ GSP จึงเป็นทั้งโอกาสและปัจจัยเสี่ยงได้ด้วย 
 
        จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศแต่ละประเทศนั้น มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามนโยบายของภาครัฐเพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น นอกเหนือจากการสร้างเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ การพัฒนานวัตกรรม นำเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์มาใช้แล้ว ความรวดเร็วและความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนให้ทันกระแสโลกจะช่วยขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดได้มากกว่าโอกาสดังกล่าว

 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2562
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
1) GSP withdrawal by US may moderately hit gem and jewellery exports: Crisil. Retrieved July 3, 2018, from https://economictimes.indiatimes.com
2) Global Trade Atlas (www.gtis.com)
3) In charts: U.S. withdrawal of trade concessions to India. Retrieved July 3, 2018, from https://www.thehindu.com
4) India Hikes Import Tax on Precious Metals.  Retrieved July 8, 2018, from https://www.diamonds.net
5) ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย  http://www.thansettakij.com

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที