GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 ส.ค. 2019 15.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2153 ครั้ง

เครื่องเงินบ้านคลองเตย ความงดงามแห่งชุมชนเก่าแก่คู่จังหวัดกำแพงเพชรกว่า 200 ปี ที่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบและลวดลายดั้งเดิมของชนเผ่าที่กลั่นออกมาจากจินตนาการของช่างฝีมือร่วมกับธรรมชาติรอบตัวจนออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์และไม่เหมือนใคร เช่น สร้อยคอ ต่างหู กำไล และแหวน ซึ่งแฝงไว้ด้วยความเป็นตัวตนของแต่ละบ้านไว้อย่างงดงาม


เครื่องเงินบ้านคลองเตยอันเก่าแก่ของจังหวัดกำแพงเพชร

 


            ท่ามกลางความเก่าแก่ของแหล่งโบราณคดีและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนของฝากประจำจังหวัดอันเลื่องชื่ออย่างกล้วยไข่แปรรูป แทบจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่าจังหวัดกำแพงเพชรจะมีชุมชนเก่าแก่ที่ผลิตเครื่องเงินอย่างชุมชนบ้านคลองเตยตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ด้วย

ทำความรู้จักเครื่องเงินบ้านคลองเตย

 

            บ้านคลองเตยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 200 ปี โดยเป็นแหล่งที่พักอาศัยของชาวเขาเผ่าเย้า (เมี่ยน) ที่อพยพมาตั้งรกราก ซึ่งชาวเขาเผ่าดังกล่าวเป็นชาติพันธุ์เดียวกับที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณจังหวัดน่าน และพกเอาภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินติดตัวมาด้วย โดยเมื่อมีการปักหลักยังดินแดนแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในยามที่ว่างเว้นจากทำเกษตรกรรม ชาวบ้านมักหันมาผลิตเครื่องเงินออกจำหน่ายเป็นการหารายได้เสริม เน้นการผลิตเครื่องเงินประเภทสร้อยคอ ต่างหู สร้อยข้อมือ กำไล และแหวน โดยยังคงรูปแบบและลวดลายดั้งเดิมของชนเผ่าเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลวดลายผสมผสานระหว่างจินตนาการของช่างกับธรรมชาติรอบตัว ทำให้เครื่องเงินที่ผลิตได้ในแต่ละครัวเรือนมีรายละเอียดของลวดลายที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ การออกแบบลวดลายของเครื่องเงินถือเป็นความลับภายในครอบครัวที่ไม่ให้ใครล่วงรู้ก่อนที่จะทำการผลิตออกมาจนประจักษ์แก่สายตาผู้พบเห็น
           
       ปัจจุบันการผลิตเครื่องเงินบ้านคลองเตยยังคงใช้กรรมวิธีดั้งเดิมคือ เป็นงานทำมือ โดยแทบจะไม่ใช้อุปกรณ์สมัยใหม่และเครื่องจักรเลย ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการตอกลายในการสร้างสรรค์ชิ้นงานซึ่งการผลิตแต่ละชิ้นใช้เวลาค่อนข้างมากนานเกือบหนึ่งเดือนต่อชิ้น           


สภาพการค้าในปัจจุบัน
 

          เครื่องเงินที่ผลิตได้จากบ้านคลองเตยได้ถูกนำไปวางจำหน่ายที่ “ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินบ้านคลองเตย” (Hill Tribes Silver Handicraft Center) และวางจำหน่ายในศูนย์โอทอปของตำบลคลองลานพัฒนา ซึ่งปัจจุบันด้วยความที่จำนวนช่างฝีมือมีน้อยจึงทำให้สินค้าที่นำมาวางจำหน่ายมีปริมาณน้อย อีกทั้งการที่ช่องทางจำหน่ายที่จำกัดอยู่ภายในพื้นที่ชุมชนซึ่งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพดึงดูดให้คนเดินทางเข้ามา จึงทำให้ชื่อเสียงของสินค้าไม่ได้กระจายไปในวงกว้าง

 




ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที