ฮ่องกงเป็นเมืองท่าปลอดภาษี จึงมีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของโลก โดยมีสินค้าหลักได้แก่ เครื่องประดับเงิน-ทอง เครื่องประดับอัญมณี อัญมณีเจียระไน เป็นต้น เพื่อจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากนี้ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงเป็นประตูการค้า (Gateway) สู่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านการร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนและยืดเยื้อนานกว่า 2 เดือน ทั้งยังได้ยกระดับการประท้วงมากขึ้นถึงขั้นมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกาย การปิดกั้นขัดขวางการจราจรและการขนส่งจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปฮ่องกงลดลง
การนำเข้าส่งออกไปยังฮ่องกง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ของฮ่องกงมีมูลค่าเฉลี่ย 40,631 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ฮ่องกงนำเข้าด้วยมูลค่า 20,762 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับแท้ พลอยสีเจียระไน ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ของฮ่องกงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าเฉลี่ย 32,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ฮ่องกงส่งออกด้วยมูลค่า 15,361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับลดลงร้อยละ 0.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลักได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับแท้ ตามลำดับ
ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ที่สำคัญที่สุดของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 3 ปีเท่ากับ 2,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ไทยส่งออกไปยังฮ่องกงมูลค่า 1,003.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.57 โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน พลอยสีเจียระไน ตามลำดับ
ผลกระทบต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจการค้าในฮ่องกงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จนเป็นผลให้ตลาดค้าปลีกในฮ่องกงซบเซามาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในตลาดฮ่องกงระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นด้วยไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงขึ้นอีก ย่อมเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้บรรยากาศการค้าจะเงียบเหงายิ่งขึ้น เห็นได้จากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกมียอดขายลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออัญมณีและเครื่องประดับ และนาฬิกามียอดขายลดลงร้อยละ 17.1 (ยอดขายของ Chow Tai Fook ลดลงร้อยละ 11) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 16.1 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนลดลงกว่าร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2561
หากเหตุการณ์ประท้วงยังคงยืดเยื้อและยกระดับความรุนแรงขึ้นตามลำดับ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบการคมนาคมและ โลจิสติกส์ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศจะบอบช้ำ ธุรกิจระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวขาดเสถียรภาพ ทำให้ฮ่องกงสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดี ลดทอนโอกาสและความน่าสนใจในการเข้ามาท่องเที่ยว ทำธุรกิจและลงทุนในฮ่องกงเป็นอย่างมากแล้ว ยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้โดยคาดว่ายอดค้าปลีกในฮ่องกงจะลดลงร้อยละ 5 ตามประมาณการณ์ของ PricewaterhouseCoopers
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2562
------------------------------------------
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที