ด้วยภาวะเศรษฐกิจของโลกในช่วงขาลงผนวกกับความไม่แน่นอนในทิศทางการค้าของซีกโลกตะวันตก การแสวงหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออก เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ตลาดใหม่จะเป็นที่ใดนั้น อาจพิจารณากลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC*) ซึ่งเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวในระดับสูงจากการส่งออกทรัพยากรใต้ดินอย่างน้ำมันดิบ ที่แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งต่ำกว่าเมื่อ 6 ปีก่อนหน้าถึงเกือบร้อยละ 40 ทว่าในปี 2562 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากสถานการณ์ความตึงเครียดที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ของช่องแคบฮอร์มุซ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน รวมทั้งการรวมตัวกันระหว่างประเทศในกลุ่ม OPEC และชาติพันธมิตร ในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงถึง 1.2 ล้านบาเรลต่อวัน
ความมั่งคั่งของชาติตะวันออกกลาง
แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบจะไม่สูงเท่าปี 2555 ที่มีราคาราว 112 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แต่ความร่ำรวยของประชากรในชาติเหล่านี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบร้อยละ 2 ต่อปี โดยในปี 2562 กาตาร์เป็นชาติที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดถึง 70,780 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ 40,711 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตลอดทั้งปี 2562 จะขยายตัวราวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2 ต่อปีตามลำดับ
เศรษฐกิจนอกภาคน้ำมันขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลของหลายประเทศในกลุ่ม GCC ได้เริ่มส่งเสริมการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่มิใช่น้ำมันของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้าส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับดูไบสำหรับงานนิทรรศการโลก หรือ UAE Expo ที่จะจัดขึ้นในปี 2563 ส่วนกาตาร์ก็ได้ลงทุนมหาศาลโดยเฉพาะสนามกีฬาแห่งชาติที่มีความจุถึง 86,000 ที่นั่ง สำหรับมหกรรมฟุตบอลโลก Qatar World Cup ที่จัดขึ้นในปี 2565 ทั้งนี้กลุ่มประเทศ GCC คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยกาตาร์ขยายตัวสูงที่สุดร้อยละ 5.2 รองลงมาคือโอมานร้อยละ 4.5
นโยบายที่ส่งผลต่อการค้า - การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตะวันออกกลาง
แหล่งที่มาของวัตถุดิบ “ทองคำ” อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ “Responsibly Sourced” มีลักษณะเช่นเดียวกันกับ “Kimberley Process” ของ “เพชรก้อน” เพื่อรักษามาตรฐานของความเป็น City of Gold ของดูไบ ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทองคำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ทั้งเครื่องประดับทอง รวมทั้งทองคำแท่ง จะต้องใช้วัตถุดิบทองคำจากเหมืองที่มีความน่าเชื่อถือ มีการได้มาของวัตถุดิบที่ปราศจากความขัดแย้ง ไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังคงเป็นไปโดยความสมัครใจ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าหากผู้ค้าทองคำรายใหญ่ของประเทศให้ความร่วมมือรายย่อยก็จำต้องปฏิบัติตาม และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศในที่สุด ซึ่งในระยะแรกอาจส่งผลให้อุปทานทองคำลดต่ำลงและส่งผลต่อราคาวัตถุดิบได้
https://visitabudhabi.ae
การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 จากข้อตกลงของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับปี 2559 เกี่ยวกับการเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศสมาชิก GCC เพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณหลังจากที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงในปี 2557 ทำให้บาห์เรนเป็นชาติที่ 3 ที่จัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยมีผลเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา หลังจากที่ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าวไปก่อนหน้าแล้วเมื่อต้นปี 2561 จนส่งผลให้การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปี 2561 หดตัวลงเกือบร้อยละ 20
การบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับของตะวันออกกลาง
ในแต่ละปีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเฉลี่ยที่ราว 35,834.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนประเทศอื่นๆ ในแถบนี้แม้จะปรากฏตัวเลขการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างเป็นทางการไม่สูงนัก แต่สามารถอนุมานได้จากปริมาณและมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีตัวเลขการส่งออกต่อ (Re-Export) แฝงอยู่ โดยสถิติการนำเข้าอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่คือเครื่องประดับทอง ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป และเพชรก้อน ทั้งนี้รูปแบบการบริโภคเครื่องประดับของประเทศต่างๆ ของแถบตะวันออกกลางมีความคล้ายคลึงกัน โดยชาวอาหรับพื้นเมืองนิยมเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ 21 กะรัต แต่หากเป็นเครื่องประดับสมัยใหม่จะนิยมทองคำ 18 กะรัต ชาวเอเชียใต้นิยมทองรูปพรรณสไตล์อินเดีย ส่วนชาวตะวันตกที่เข้ามาทำงาน และท่องเที่ยวในแถบนี้นิยมเครื่องประดับทองคำสมัยใหม่ 14 กะรัต และ 18 กะรัต ส่วนตลาดบนของชายมุสลิมนิยมทองคำขาวประดับเพชร และพลอยเจียระไน
https://theretailjeweller.com/how-much-uae-gold-jewellery-prices-have-risen-since-the-new-year/
อย่างไรก็ตามการเจาะตลาด GCC โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านประตูการค้าบานใหญ่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การประทับตรารับรองมาตรฐานโลหะมีค่า (Hallmark) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง หรือเครื่องประดับเงินที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทย เพื่อยกระดับและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2562
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที