GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 ก.ค. 2019 15.12 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2730 ครั้ง

ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติอันเงียบสงบของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ?บ้านละอูบ? ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแม่ลาน้อยและเป็นหนึ่งในย่านการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรอันมีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการผลิตเครื่องประดับเงินที่มีความสวยงามและมีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่แพ้เครื่องเงินจากแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย ภูมิปัญญาและทักษะฝีมือการผลิตเครื่องประดับเงินบ้านละอูบเป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนี้


เครื่องประดับเงินบ้านละอูบของดีแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติอันเงียบสงบของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “บ้านละอูบ” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแม่ลาน้อยและเป็นหนึ่งในย่านการท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตรอันมีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการผลิตเครื่องประดับเงินที่มีความสวยงามและมีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่แพ้เครื่องเงินจากแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย

ที่มาของภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินบ้านละอูบ

บ้านละอูบเป็นหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ลาน้อย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าละว้าซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองและอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มานานกว่า 130 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาและทำไร่ขั้นบันไดในบริเวณที่ดินของตนเอง ทั้งนี้ สำหรับในส่วนของภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินพบว่าได้เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งชุมชน โดยเป็นการถ่ายทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษของชนเผ่า ซึ่งแต่เดิมเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้ตกแต่งให้เข้ากับชุดพื้นเมืองและแลกเปลี่ยนกันเองในหมู่บ้าน แต่เมื่อมีคนต่างถิ่นมาให้ความสนใจและขอซื้อต่อ จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนหันมารวมกลุ่มผลิตเครื่องประดับเงินออกจำหน่ายจนกลายมาเป็นอาชีพหลัก

วัฒนธรรมและความผูกพันกับเครื่องเงิน

การผลิตเครื่องประดับเงินบ้านละอูบในยุคแรกเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้แลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนด้วยการบริโภคเครื่องประดับเงินเป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ของชนเผ่า เช่น ในพิธีรับขวัญเด็กจะต้องใช้สร้อยข้อมือ พิธีแต่งงานใช้เครื่องเงินในการเป็นสินสอดเพื่อสู่ขอเจ้าสาว หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่ บรรดาแขกที่ไปร่วมงานก็มักให้เป็นของขวัญแก่เจ้าของบ้าน ตลอดจนพิธีศพก็จะนำเอาเครื่องประดับเงินใส่ลงไปในโลงศพด้วยเชื่อว่าผู้ตายจะสามารถนำไปใช้สอยได้ในโลกหน้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ตามปกติแล้วการแต่งกายพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าละว้าทั้งเพศหญิงและชายมักเต็มไปด้วยเครื่องประดับเงิน ผู้ชายมักจะสวมแหวนและมีมีดเงินไว้ใช้ติดตัว ขณะที่ผู้หญิงจะนำเอาเครื่องประดับเงินมาตกแต่งอาภารณ์ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทั้งกำไลข้อมือ แหวน ต่างหู และเฉลียง (ห่วงรัดแขน) ดังนั้น การผลิตเครื่องประดับเงินของบ้านละอูบในยุคแรกจึงมีรูปแบบและขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ตามแบบฉบับดั้งเดิมของชนเผ่า แต่ในปัจจุบันรูปแบบการผลิตได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากชาวบ้านนิยมแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองน้อยลง ประกอบกับบรรดาช่างฝีมือท้องถิ่นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางด้านการค้ากับภายนอก จึงพยายามปรับรูปแบบและขนาดของเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัยและเหมาะต่อการใช้งานทั่วไปได้มากขึ้น โดยยังคงเอกลักษณ์ทางลวดลายแบบดั้งเดิมเอาไว้เพื่อให้แตกต่างจากท้องถิ่นอื่นๆ อาทิ ลายเปลือกไม้ ลายดอกไม้ ลายหีบสมบัติ ลายดอกบัวตอง เป็นต้น

  

สภาพการค้าปัจจุบันของเครื่องเงินบ้านละอูบ

ปัจจุบันชุนชนบ้านละอูบมีช่างฝีมืออยู่ราว 20 คน ที่ผลิตเครื่องประดับเงินเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว สินค้าที่ผลิตได้ในปัจจุบันแม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็เพียงพอสำหรับทำการค้า โดยสินค้าจะถูกนำไปวางจำหน่ายที่ “ศูนย์การเรียนรู้และผลิตเครื่องเงินของบ้านละอูบ” ซึ่งผลจากที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้นำสินค้าออกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าของภาคเหนือด้วย ส่งผลให้เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเครื่องเงินบ้านละอูบจะมีแรงงานผลิตที่จำกัด และอยู่ค่อนข้างห่างไกล แต่ผู้ประกอบการก็พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของชุมชน โดยพยายามหาโอกาสเข้าถึงลูกค้าในทุกช่องทาง มีการลดราคาสินค้าเพื่อให้เกิดความประทับใจและกลับมาซื้อใหม่ การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนมีการสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นของตนเองเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและดึงดูด จนสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

 

--------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กรกฎาคม 2562


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที