GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 มิ.ย. 2019 09.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1638 ครั้ง

แนวคิดเรื่องการผลิตเครื่องประดับโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากขึ้นจากกระแสการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยองค์ประกอบพื้นฐานของการผลิตอย่างถูกต้องก็คือ ความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิตเครื่องประดับที่ผู้ผลิตเครื่องประดับควรหันมาให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการตัดและเจียระไนอัญมณี ซึ่งสร้างฝุ่นขนาดเล็กมากที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอด อีกทั้งกระบวนการผลิตเครื่องประดับเองก็มักจะใช้สารเคมีที่รุนแรงและอาจผลิตของเสียที่เป็นพิษได้ ผู้ผลิตควรปรับปรุงอย่างไรเพื่อผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้


ความท้าทายในการผลิตเครื่องประดับด้วยความรับผิดชอบ

แนวคิดเรื่องการผลิตเครื่องประดับโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่าประเด็นนี้จะได้รับการกล่าวถึงในสื่อกระแสหลักบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณคอยติดตามบทความเกี่ยวกับเครื่องประดับ แบรนด์ หรือสินค้าทางออนไลน์ คุณมักจะได้เห็นหัวข้อบทความอย่างเช่น

-  ชวนซื้อ 12 แบรนด์เครื่องประดับเพื่อความยั่งยืน

-  10 สุดยอดนักออกแบบเครื่องประดับเพื่อความยั่งยืน

-  5 เหตุผลที่เราควรเลือกซื้อเครื่องประดับเพื่อความยั่งยืน

แม้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องการผลิตเครื่องประดับอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อควรคำนึงถึงอยู่เหมือนกัน

 

การทำเหมืองทองแบบดั้งเดิมในบูร์กินาฟาโซ

 

สภาพแวดล้อมในการทำเหมืองทอง และการใช้แรงงานเด็กในบูร์กินาฟาโซ

ที่มา : https://www.southworld.net/burkina-faso-labour-in-the-gold-mines/ และ

https://pulitzercenter.org/reporting/cost-gold-burkina-faso-holes#slideshow-13

ความท้าทายเริ่มต้นจากวัตถุดิบ

เครื่องประดับแท้นั้นต้องอาศัยผลิตภัณฑ์ที่ขุดขึ้นมาจากดินอย่างน้อยหนึ่งอย่าง นั่นก็คือโลหะมีค่า นอกจากนี้ก็อาจประดับตกแต่งด้วยเพชรหรือพลอยซึ่งถูกขุดขึ้นมาจากดินเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าเราไม่มีทางผลิตเครื่องประดับอย่างยั่งยืนได้เลยหรือ ไม่ใช่แน่นอน แต่การผลิตอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความพยายามมากกว่าที่คาดคิดกัน

องค์ประกอบพื้นฐานของการผลิตอย่างถูกต้องก็คือความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากที่สุด เหตุผลเป็นเพราะว่าโลหะและสินแร่ส่วนใหญ่นั้นมาจากภูมิภาคที่ยากไร้ที่สุดในโลก วัตถุดิบเหล่านี้ต้องผ่านหลายมือกว่าจะมาถึงตลาด และโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถติดตามข้อมูลแหล่งที่มาได้ แล้วทางออกคือการเลิกใช้วัตถุดิบจากการทำเหมืองแร่อย่างนั้นหรือ Christina Villegas จาก Pact องค์กรพัฒนาสากลที่ไม่แสวงผลกำไร ไม่ได้มองเช่นนั้น ในการประชุม Chicago Responsible Jewelry Conference เมื่อปี 2017 เธอกล่าวกับผู้ฟังว่าการทำเหมืองแบบดั้งเดิมช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านครัวเรือนซึ่งอาจต้องตกอยู่ในภาวะอดอยากหากไม่ได้ทำอาชีพนี้ ในปี 2017 ธนาคารโลกได้ประเมินไว้ว่าอุตสาหกรรมการทำเหมืองแบบดั้งเดิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชากรทั้งคนงานและสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 100 ล้านคนทั่วโลก โดยการทำเหมืองประเภทนี้มักเป็นการทำเหมืองเพื่อผลิตโลหะมีค่าและอัญมณี ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือการช่วยให้คนกลุ่มนี้ทำเหมืองได้อย่างปลอดภัย และรายได้จากการทำเหมืองจะต้องตกถึงมือคนกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนที่มากเพียงพอ เพื่อจะได้นำไปลงทุนด้านการจัดหาน้ำสะอาด โรงเรียน และบริการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อครอบครัวและชุมชน

แต่การแกะรอยแหล่งที่มาของวัตถุดิบกลุ่มนี้ก็ยังเป็นงานที่ท้าทาย IBM ได้นำเสนอเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของเครื่องประดับ ส่วน DeBeers ก็ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อติดตามแหล่งที่มาของเพชร Everledger ก็พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อติดตามแหล่งที่มาของเพชรและพลอยสีโดยร่วมมือกับหลายบริษัท ทั้งสามโครงการนี้นับเป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม ในขณะที่ผู้จัดหาโลหะมีค่าและอัญมณี Hoover and Strong เน้นการนำเสนอทองและเงินจากโครงการ Fairmined ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลแหล่งที่มาได้และส่งผลเชิงบวกต่อสังคม

สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง การใช้ทองและอัญมณีรีไซเคิลอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า สำหรับตลาดสหรัฐ Hoover and Strong เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้จากการนำเสนอชุดเครื่องประดับ Harmony Metals แต่ก็มีผู้ผลิตทั่วโลกที่เข้ามาร่วมกระแสการรีไซเคิล นอกจากนี้ เพชรและอัญมณีจากห้องปฏิบัติการ (Lab Grown Diamonds and Colored Gemstones) ก็เป็นตัวเลือกที่ดึงดูดใจสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการความงามของอัญมณี แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการทำเหมืองแร่ ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโลหะและอัญมณีอย่างถูกต้องเท่านั้น

ความท้าทายด้านอื่นๆ นอกจากการทำเหมือง

แง่มุมหนึ่งในการผลิตเครื่องประดับที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงก็คือการตัดแต่งอัญมณี (gem-cutting) หรือบางครั้งเรียกว่าการเจียระไน (gem-polishing) การตัดแต่งอัญมณีสร้างฝุ่นขนาดเล็กมากซึ่งทำลายปอดของเราได้ ช่างเจียระไนอัญมณีมักทำงานในสถานที่ซึ่งขาดการไหลเวียนอากาศที่เหมาะสม รวมถึงไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันให้ถูกต้อง แล้วผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าคนที่ทำหน้าที่เจียระไนอัญมณีที่ตนสวมใส่นั้นทำงานในโรงงานที่มีความปลอดภัย มีโครงการนับหลายสิบโครงการทั่วโลกที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนอัญมณีและปรับปรุงสถานที่ในการทำงานเจียระไน หากคุณใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสังคม โปรดอย่าลืมสอบถามผู้ขายเครื่องประดับว่าอัญมณีในเครื่องประดับนั้นซื้อมาจากที่ไหน และเจียระไนที่ไหน ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าอัญมณีหันมาให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่องค์กรอย่าง Columbia Gem House ก็คอยสนับสนุนเงินทุนด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนอัญมณีในสถานที่ปฏิบัติงาน ตลอดจนการนำเสนออัญมณี Fair Mined Gems

แม้เมื่อจบเรื่องวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับไปแล้ว กระบวนการผลิตเครื่องประดับเองก็มักจะใช้สารเคมีที่รุนแรงและอาจผลิตของเสียที่เป็นพิษได้ Christine Dhein เป็นบุคคลหนึ่งที่ออกมาพูดเรื่องการผลิตเครื่องประดับอย่างถูกต้องเป็นคนแรกๆ เธอได้เผยแพร่จดหมายข่าวที่มีชื่อว่า Green Jewelry News ในช่วงปี 2008 – 2011 โดยในจดหมายข่าวดังกล่าว เธอได้นำเสนอทางเลือกมาทดแทนเทคนิคและสารเคมีที่ใช้กันอยู่เดิมในการผลิตเครื่องประดับ ผู้ผลิตเครื่องประดับทั่วโลกยังคงสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องประดับ จ่ายเงินชดเชยการสร้างคาร์บอน และรีไซเคิลวัสดุทุกชนิดที่สามารถรีไซเคิลได้

ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับ คุณจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้จนครบทุกด่านเพื่อผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตสามารถทำได้อย่างไร

ผู้ผลิตเครื่องประดับเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และผู้ผลิตหลายรายก็ได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อการนี้ ผู้ผลิตได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรอย่าง Ethical Metalsmiths เวทีประชุมสัมมนาอย่าง Chicago Responsible Jewelry Conference และองค์กรด้านมาตรฐานอย่าง Responsible Jewellery Council ทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ สนับสนุนทรัพยากร และช่วยส่งเสริมผู้ผลิตเครื่องประดับที่ต้องการปรับปรุงกิจการในแง่ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาสู่คำว่า ความยั่งยืน ทุกครั้งที่คุณได้เห็นคำว่า ยั่งยืน ใช้ร่วมกับคำว่า เครื่องประดับ ให้ตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามเอาไว้ก่อน การผลิตเครื่องประดับให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการลงมือทำอย่างต่อเนื่องและใช้ความพยายามในการเสาะหาอัญมณีอย่างที่ผู้ผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ สำหรับผู้ผลิตเครื่องประดับที่ใส่ใจเรื่องนี้ กระบวนการดังกล่าวนับเป็นการเดินทางที่ยาวไกล ผู้ผลิตมักเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับที่เน้นความถูกต้องหรือมีความรับผิดชอบ แต่น้อยครั้งที่จะใช้คำว่ายั่งยืน ผู้ผลิตต้องพยายามยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานในแต่ละวัน เสาะหาแหล่งที่มาใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อื่น พร้อมกับปกป้องโลกด้วย

ผู้บริโภคบางรายอาจปฏิเสธเครื่องประดับแท้ไปเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากการผลิตเครื่องประดับกลุ่มนี้มีความเสี่ยงว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับผู้บริโภคที่รับได้กับความก้ำกึ่งในโลกที่ไม่ได้มีแต่ขาวกับดำ และตั้งใจค้นหาเครื่องประดับที่ผลิตโดยบริษัทซึ่งต้องการสร้างความแตกต่าง การใส่เครื่องประดับนั้นไม่เพียงมอบความพึงพอใจที่ได้ใส่สิ่งสวยๆ งามๆ แต่เป็นความพึงพอใจที่ได้เสาะหาและสวมใส่สิ่งสวยๆ งามๆ ที่สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัว ให้การศึกษาแก่เด็กๆ หรือสนับสนุนศิลปินด้วย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บริษัทเครื่องประดับหลายแห่งก็หันมาผลิตเครื่องประดับโดยคำนึงถึงความถูกต้องและความรับผิดชอบกันมากยิ่งขึ้น และตราบใดที่ผู้บริโภคยังถามหาสินค้ากลุ่มนี้ เครื่องประดับที่มีความรับผิดชอบก็ยังคงเติบโตได้ต่อไป

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2562

------------------------------------------

ที่มา: “The Challenge of Creating Responsible Jewelry” by Andrea Hill. https://www.forbes.com/sites/and
reahill/2018/08/29/the-challenge-of-creating-responsible-jewelry/#63efc30f2fe6

 

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที