ปิ่น หรือ ปิ่นปักผม คือเครื่องตกแต่งเรือนผมของสตรีชาวจีนที่ชาวไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี ด้วยเรามักพบเห็นได้บ่อยครั้งในละครย้อนยุคของจีน ซึ่งบรรดาองค์หญิง รวมถึงสตรีชั้นสูงในราชสำนักจีนจะประดับปิ่นอันงามลงบนเรือนผมดำขลับที่บรรจงจัดแต่งม้วนมวยอย่างเป็นระเบียบสวยงาม
ภาพวาดสตรีชาวจีนกับการประดับปิ่นบนเรือนผม
ภาพโดย: http://www.stylesatlife.com
ปิ่นปักผมหยกของพระนางซูสีไทเฮา
ภาพจาก: MGR Online
ปิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมจีนโดยเฉพาะในเพศหญิง การประดับปิ่นลงบนมวยผมนั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัด ทั้งยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับสถานภาพทางสังคมของสตรีผู้นั้นอีกด้วย
สัญลักษณ์สู่วัยสาว
การก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 15 นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตของเด็กหญิงชาวจีน ด้วยถือกันว่าช่วงเวลาวัยเด็กของเด็กหญิงผู้นั้นได้สิ้นสุดลงและเธอได้ก้าวเข้าสู่วัยสาวโดยสมบูรณ์ จากนี้เป็นต้นไปเธอจะต้องปฏิบัติตัวและได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นในแบบผู้ใหญ่
‘ปิ่น’ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งเขตแดนของความเป็นเด็กหญิงและเด็กสาวออกจากกัน เมื่ออายุครบ 15 ปี บริบูรณ์ เด็กหญิงชาวจีนจะต้องเข้าสู่พิธีการเกล้าผมปักปิ่น โดยเธอจะต้องเลิกถักเปียที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร และเปลี่ยนมาสู่การทำมวยผมโดยจะต้องใช้ปิ่นเสียบลงไปในมวยผม ซึ่งนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการยึดไว้ไม่ให้หลุดรุ่ย และเป็นการประดับตกแต่งให้สวยงามแล้ว ยังเป็นการประกาศก้องโดยไม่ต้องใช้เสียงว่า เธอผู้นี้เข้าสู่วัยสาวและพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าสาวแล้ว
สำหรับวัสดุที่ใช้สำหรับการทำปิ่นนั้นมีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไม้ เขาสัตว์ ทอง เงิน โลหะ หรือแม้กระทั่งทำจากหยก ซึ่งเป็นอัญมณีมงคลของชาวจีน วัสดุเหล่านี้ล้วนสื่อได้ถึงระดับชั้นและฐานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของได้อีกด้วย
ปิ่นปักผมตกแต่งด้วยอัญมณี ชนิดต่างๆ เช่น ไข่มุก และทับทิม
ภาพโดย: Pinterest
สัญลักษณ์แห่งการครองคู่
ในประเพณีและธรรมเนียมการหมั้นหมายและการแต่งงานของชาวจีนนั้น เจ้าสาวจะต้องนำปิ่นที่ประดับอยู่บนศรีษะของตนมอบให้แก่เจ้าบ่าวในพิธีหมั้น ครั้งเมื่อถึงพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวจะนำปิ่นอันเดิมนี้เสียบกลับลงไปบนมวยผมของเจ้าสาว ด้วยความเชื่อที่ว่าปิ่นจะช่วยรัดตรึงให้คู่บ่าวสาวมีความแน่นแฟ้นและครองคู่กันได้ยั่งยืน
นอกจากนี้ การแต่งงานของบ่าวสาวชาวจีนในอดีตนั้น จะกระทำผ่านการชักนำของผู้ใหญ่ ซึ่งคู่บ่าวสาวอาจไม่เคยได้พบหน้าคร่าตากันมาก่อน ดังนั้น ในคู่แต่งงานบางคู่ว่าที่เจ้าสาวจะนำปิ่นมาหักออกเป็น 2 ส่วน และฝากแม่สื่อมอบให้กับว่าที่เจ้าบ่าวเก็บไว้ 1 ส่วน จนเมื่อถึงวันแต่งงานคู่บ่าวสาวจึงจะนำปิ่นทั้ง 2 ส่วนมาแสดงต่อกันเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีการส่งเจ้าสาวผิดตัว อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
-----------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. Hairpins in Chinese Culture. Interact China.
https://interactchina.wordpress.com/2015/07/20/hairpins-in-chinese-culture
2. Hairpins in Society and Art. Hairpin Museum.
https://www.hairpinmuseum.org/hairpins-in-society-and-art.html
3. Chinese Classical Hairpin, Best Gift for Women. Chinese Culture. (26 September 2010).
http://chinaculturelover.blogspot.com/2010/09/chinese-classical-hairpinbest-gift-for.html
4. ต่างชาติขนของเก่าประมูลคึกคัก จีนเดือดทวงคืน-ซื้อกลับราคาสูง. MGR Online. (5 พฤศจิกายน 2551).
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000130798
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที