กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งสารถึงบรรดากิจการและกลุ่มบริษัทต่างๆ ในธุรกิจเครื่องประดับระหว่างการประชุมในนิวยอร์กซิตี้ว่า ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่แค่อัญมณี เพชรหรือพลอยสี แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่กฎหมายใหม่นี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจนมากนัก
เนื่องด้วยรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับนั้นเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้งและกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่าน เวเนซูเอลา และบางประเทศในทวีปแอฟริกา ฉะนั้น ภาครัฐจึงต้องการทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่นำเข้าทุกรายการ เพื่อป้องกันประเด็นเรื่องการฟอกเงิน
แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเห็นว่า การทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนทุกรายการในเครื่องประดับอย่างชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากวัสดุหลายชิ้นนั้นผ่านการรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ และการขายผ่านตลาดรอง หรือขายผ่านมือมาหลายทอด แต่ทว่าภาครัฐก็ไม่ได้คล้อยตามข้อคิดเห็นดังกล่าวนี้และมองว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่ อีกทั้งยังจับตามองอุตสาหกรรมเครื่องประดับเป็นลำดับต้นๆ แม้จะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เป็นแหล่งทุนสนับสนุนเหตุความขัดแย้งต่างๆ ด้วย
ในการประชุมของภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้จึงมีการพูดถึงกลไกในปัจจุบันที่จะช่วยรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ อย่างเช่นใบรับรอง Chain of Custody ของหน่วยงาน Responsible Jewellery Council รวมถึงมีข้อสรุปหกข้อดังนี้
ทั้งนี้ หากกฎหมายดังกล่าวมีการประกาศบังคับใช้ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับในสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่วนใหญ่จากต่างประเทศ รวมถึงจะกระทบต่อผู้นำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเครื่องประดับมายังสหรัฐฯ ก็ต้องปรับตัวเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบทุกรายการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ คงต้องปรับตัวพร้อมรับกฎระเบียบใหม่ที่จะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ โดยสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกชิ้นจะต้องสำแดงเอกสารแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอยสี และโลหะมีค่าทั้งทองหรือเงิน เป็นต้น ให้ถูกต้องจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองจาก Responsible Jewellery Council หรือเพชรที่มีใบรับรอง Kimberley Process หรือองค์กรที่ให้การรับรองเหมืองทองอย่าง Fairtrade (http://www.fairgold.org) และ Fairmined (http://www.fairmined.org) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในธุรกิจเครื่องประดับ
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2562
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. “U.S. Jewelry Sourcing Regulations May Get Much Stricter” Retrieved May 16, 2019, from https://www.thediamondloupe.com/jewelry/2019-04-17/us-jewelry-sourcing-regulations-may-get-much-stricter.
2. “State Department Warns of Coming Jewelry Industry Crackdown” by Rob Bates. Retrieved April 17, 2019, from https://www.jckonline.com/editorial-article/state-department-warns-industry/.
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที