ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 5,745 รายการ เป็นอัตราร้อยละ 25 จากเดิมที่เรียกเก็บร้อยละ 10 ในวงเงิน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที และประกาศจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการที่เหลือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 25 รวมเป็นวงเงิน 325,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ในขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จากอัตราร้อยละ 5-10 เป็นอัตราร้อยละ 25 ในวงเงิน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562
นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนร้อยละ 25 เป็นมูลค่ารวม 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561 ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 ทางการสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 10-25 รวมมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนจีนก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในแบบเดียวกันกับสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับ 2 ของจีน (รองจากฮ่องกง) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าเฉลี่ย 4,599.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่จีนมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 1,027.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ล่าสุดในปี 2561 จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 3,144.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักในสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน ตามลำดับ ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่า 3,239.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทองคำฯ เป็นสินค้านำเข้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 80 รองลงมาเป็นโลหะเงิน และเครื่องประดับทอง ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากจีนไปยังสหรัฐฯ มีอัตราต่ำสุดคือ ร้อยละ 0 และอัตราสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 35 โดยสรุปได้ดังตารางด้านล่างนี้
สำหรับผลกระทบต่อสงครามการค้านั้น ในระยะสั้นถึงกลางไทยจะได้รับทั้งผลดีและเสียจากการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้ารายการที่เหลือเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการเก็บภาษีสินค้าทั้งหมดจากจีนไปยังสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยนั้น จะทำให้สินค้านำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้าชาวสหรัฐฯ อาจจะหันมานำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยแทน แต่หากจีนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลง ก็อาจนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้ากึ่งวัตถุดิบอย่างพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดจีน ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับส่งออกไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่ ซึ่งถ้าสหรัฐฯ ลดการนำเข้าเครื่องประดับจากจีนลง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าพลอยสีของไทยที่ส่งไปสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตเครื่องประดับของจีนให้ลดลงได้
ส่วนในระยะยาว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน อาจทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศชะลอการเติบโต อันเป็นการบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก เพราะทำให้ความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนของโลกลดลง และนำไปสู่การฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และเนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ผู้บริโภคก็จะระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งก็จะส่งผลให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังตลาดโลกลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาเพียงตลาดเดียวด้วยการมองหาตลาดใหม่อื่นๆ ที่มีศักยภาพมาทดแทน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2562
-------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที