ทีมนักอัญมณีศาสตร์และผู้ค้าอัญมณีจำนวน 40 ราย ได้ออกเดินทางสำรวจภาคสนามในเมืองโมกก ประเทศเมียนมา โดยเมืองโมกกแห่งนี้เป็นแหล่งอัญมณีสำคัญซึ่งมีทับทิมและแซปไฟร์ที่ผู้คนเสาะแสวงหากันมากที่สุดในโลก การเดินทางในครั้งนี้นับเป็นการผจญภัยเนื่องจากเส้นทางสู่โมกกนั้นเป็นทางคดเคี้ยวนับพันโค้งลัดเลาะไปตามภูเขา นอกจากเป็นคล้ายการแสวงบุญสำหรับนักอัญมณีแล้ว การเดินทางครั้งนี้ยังทำให้เราเกิดความเคารพด้วย เพราะเราได้ค้นพบประวัติศาสตร์และเห็นถึงความยากลำบากในการทำเหมืองที่เมืองโมกก ขณะเดียวกันก็ได้ทำความเข้าใจอนาคตข้างหน้า ตลอดจนทำความรู้จักสมบัติลับที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอัญมณี นั่นก็คือ ผู้คนในโมกกนั่นเอง
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและอินเดีย เมียนมานับเป็นประตูไปสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อาทิเช่น หยก ทับทิม แซปไฟร์ ไข่มุก อำพัน และพลอยสีอื่นๆ โดยศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้นได้แก่ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์เนปิดอว์ โมกก และพะกันต์
การปรับปรุงนโยบาย
Dr. Aung Kyaw Win รองประธานสมาคม Myanmar Gems and Jewelry Entrepreneurs’ Association (MGJEA) ระบุว่า เมียนมาเริ่มต้นนำเข้าและส่งออกเครื่องประดับในเดือนกันยายน 2561 นอกจากนี้ยังได้เตรียมการที่จะส่งออกอัญมณีเจียระไน โดยยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาล ปัจจุบันการส่งออกอัญมณีก้อนยังถูกควบคุมอยู่และชาวต่างประเทศจะซื้อวัตถุดิบกลุ่มนี้ได้ผ่านการประมูลเท่านั้น
“เมียนมาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมากว่า 50 ปี จากนั้นนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลกึ่งพลเรือนเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ดังนั้นจึงได้หันมาสนใจพัฒนากระบวนการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรแร่” Kyaw Win กล่าว
ในปี 2558 รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เน้นทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศ โดยสมาคม MGJEA ทำงานร่วมกับคณะกรรมการภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเปลี่ยนมุมมองของนานาชาติที่มองว่าเมียนมาผลิตเฉพาะอัญมณีก้อนเท่านั้น
Kyaw Win เผยว่า ทางสมาคมยังได้วางแผนที่จะก่อตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีที่มีมาตรฐานระดับโลกในปี 2562 รวมถึงยกระดับโรงเรียนฝึกอบรมด้านอัญมณีของเมียนมา (Myanmar Gems Training School) ให้เป็นสถาบันอาชีวศึกษาอีกด้วย
ผู้คนในเมืองโมกก
เดือนมีนาคม 2561 นับเป็นโอกาสครบรอบ 800 ปีของการก่อตั้งเมืองโมกก หรือที่รู้จักกันในชื่อดินแดนแห่งทับทิม (Ruby Land) เมืองเก่าแก่ทางภาคเหนือของเมียนมาแห่งนี้ยังไม่ได้เปิดรับชาวต่างชาติอย่างเต็มที่ มันตั้งอยู่ในหุบเขาทางตะวันตกของแม่น้ำ
อิระวดีอันคดเคี้ยวห่างออกไป 50 ไมล์ และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,850 ฟุต อัญมณีที่มีชื่อเสียงจากเหมืองโมกก ได้แก่ ทับทิมสีแดงเลือดนกพิราบ (pigeon’s blood) แซปไฟร์ สปิเนล และอัญมณีอื่นๆ ในสมัยโบราณทับทิมเมียนมาถูกขนส่งไปตามเส้นทางสายไหม เอกสารในสมัยราชวงศ์ชางได้ระบุถึงการทำเหมืองในเมียนมาไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และมีหลักฐานการบันทึกถึงทับทิมจากโมกกไว้เป็นครั้งแรกในปี 2140
พิพิธภัณฑ์ Smithsonian National Museum of Natural History ในวอชิงตันดีซีเป็นแหล่งรวบรวมทับทิมขนาดใหญ่ที่สุดและคุณภาพดีที่สุดในโลกส่วนหนึ่งเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือทับทิม Carmen Lucia ขนาด 23.10 กะรัต ซึ่งมีสีสดเข้มบวกกับเนื้อผลึกโปร่งใสเป็นพิเศษ อัญมณีเม็ดนี้ขุดขึ้นมาจากโมกกในช่วงปี 2473
ตลาดค้าอัญมณี
สำหรับผู้อยู่อาศัยในโมกกนั้น ตลาดค้าอัญมณี Htar Pwe เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวโมกก เพราะเป็นศูนย์รวมของผู้ซื้อและผู้เก็งกำไรในเมืองนี้และจากพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ ผู้ค้าอัญมณีจะนำสินค้ามาแสดง เสนอราคาตั้งต้น และต่อรองราคากับผู้ซื้อเพื่อตกลงซื้อขายกัน โดยราคาตั้งต้นมักสูงกว่าราคาตลาด ดังนั้นผู้ซื้อจึงควรต่อรองราคาผู้ซื้อผู้ขายส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา เนื่องจากชาวต่างชาติถูกจำกัดการเดินทางเข้ามายังโมกกตามนโยบายของทางการ เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาในตลาดจึงมักถูกห้อมล้อมด้วยผู้ค้าชาวเมียนมาที่ต้องการหาประโยชน์สูงสุดจากโอกาสนั้น มีการค้าอัญมณีหลากหลายประเภทในโมกก ไม่ว่าจะเป็นทับทิม แซปไฟร์ หรือสปิเนล ทั้งในแบบพลอยก้อนและพลอยเจียระไน โดยมีราคาตั้งแต่ไม่กี่เหรียญสหรัฐไปจนถึงกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าอัญมณีราคาแพงขนาดตั้งแต่ 3 กะรัตขึ้นไป เช่น ทับทิมสีเลือดนกพิราบที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนนั้น มักจะทำการซื้อขายกันภายในอาคาร
โมกกมีตลาดอัญมณีที่สำคัญอยู่สี่แห่ง ตลาด Mingalar ริมทะเลสาบในโมกกตะวันออกเป็นตลาดเช้าซึ่งผู้ขายจะมานั่งอยู่ตามพื้นที่ที่เช่าเอาไว้เพื่อแสดงสินค้าอัญมณีของตน
ตลาด Pan Chan ในโมกกตะวันออก หรือที่เรียกกันว่าตลาดร่มนั้น จะเปิดในช่วงบ่าย โดยผู้ซื้อจะต้องเช่าโต๊ะพร้อมร่มมานั่งรอผู้ขายซึ่งจะนำสินค้ามานำเสนอ ส่วนตลาดอีกสองแห่งที่มีผู้คนคึกคักในโมกกตะวันตกก็คือตลาด Aung Thit Lwin (ตลาดเช้า) และตลาด Pan Ma (ตลาดบ่าย) ตลาดทั้งสองแห่งนี้ไม่ค่อยมีโต๊ะให้เช่า ดังนั้นผู้ซื้อผู้ขายจึงมักจะยืนต่อรองเจรจากัน
ตลาดเหล่านี้อาศัยแสงธรรมชาติยามกลางวันในการซื้อขายอัญมณี ผู้ค้าที่มีประสบการณ์ทราบดีว่าแสงธรรมชาติในโมกกช่วยให้อัญมณีดูมีน้ำงามกว่าในสถานที่อื่นๆ ทับทิมซึ่งดูมีสีสันสดใสอาจมีเฉดสีเข้มขึ้นกว่าเดิมเมื่อไปดูที่อื่น ดังนั้นจึงควรติดตัวอย่างสีไปด้วยเพื่อให้เปรียบเทียบสีทำได้แม่นยำยิ่งขึ้น
สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
นับตั้งแต่สหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าทับทิมเมียนมาเมื่อปี 2559 รัฐบาลเมียนมาก็ได้หยุดต่ออายุสัมปทานการทำเหมืองแร่อัญมณี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตอัญมณีเป็นอย่างยิ่ง และในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ทั้งหมดในโมกกจะหมดอายุลง สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ย่อมส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานเหมืองแร่ ช่างเจียระไน ผู้ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจนี้นับหมื่นๆ ราย รวมถึงครอบครัวของคนเหล่านี้ด้วย
ความไม่แน่นอนนี้ยังอาจส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ที่ซื้ออัญมณีจากโมกกเป็นจำนวนมากจำเป็นต้องวางแผนการตลาดล่วงหน้านานนับปี และหันไปพึ่งการนำเข้าอัญมณีจากแหล่งอื่นๆ แทน เช่น ทับทิมจากโมซัมบิก หรือแซปไฟร์จากศรีลังกาและมาดากัสการ์ เป็นต้น
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2562
------------------------------------------
ที่มา: “A Thousand Turns in Mogok: A Gem Expedition.” by Julius Zheng. JNA. (March/April 2019: pp. 60-64).
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที