GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 08 พ.ค. 2019 11.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1496 ครั้ง

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่า 2,624 ล้านเหรียญสหรัฐ (84,080.09 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงร้อยละ 39.26 (ร้อยละ 39.22 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 55 ลดลงมาก ทั้งนี้ สินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 90 อยู่ในหมวดวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบทั้งสิ้น ติดตามรายละเอียดได้ที่


สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-มีนาคม 2562

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่า 2,624 ล้านเหรียญสหรัฐ (84,080.09 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงร้อยละ 39.26 (ร้อยละ 39.22 ในหน่วยของเงินบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการนำเข้าทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 55 ลดลงมาก ทั้งนี้ สินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 90 อยู่ในหมวดวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบทั้งสิ้น   

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.18 (ร้อยละ 1.70 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 3,166.98 ล้านเหรียญสหรัฐ (99,931.33 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 3,204.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (101,660.52 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.11 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,958.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (61,805.93 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.02 (ร้อยละ 6.34 ในหน่วยของเงินบาท)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลงร้อยละ 13.08, ร้อยละ 8.08 และร้อยละ 13.02 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม เติบโตได้ร้อยละ 6.67

2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวร้อยละ 2.72 และร้อยละ 1.44 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 15.02 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.98 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้ลดลงไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ซึ่งล้วนมีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 22.89, ร้อยละ 20.50, ร้อยละ 7.85 และร้อยละ 25.14 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกพลอยเนื้อแข็ง-เจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 5.78

ตลาดสำคัญรองลงมาเป็นสหภาพยุโรป ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 2.34 จากการส่งออกไปยังเบลเยียม อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลาดสำคัญในอันดับ 2, 3 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.29, ร้อยละ 54.46 และร้อยละ 16.43 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังอิตาลีและสหราช-อาณาจักรเป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างเยอรมนี หดตัวลงร้อยละ 17.47 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองได้ลดลงร้อยละ 13.92 และร้อยละ 45.39 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งตลาดหลักเดิมของไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.25 ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายซื้อสินค้า เนื่องจากกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลและความไม่แน่นอนของการเจรจาข้อพิพาททางการค้ากับจีน ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ไปยังสหรัฐอเมริกาได้ลดน้อยลงทั้งสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม เว้นเพียงพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่ยังสามารถขยายตัวได้สูงขึ้น

ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ อาทิ  กลุ่มประเทศตะวันออกลาง หดตัวลงร้อยละ 9.33 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 42 ได้ลดลงร้อยละ 13.23 ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 5 เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 74 ได้ลดน้อยลงร้อยละ 6.67 อีกทั้งไทยยังส่งออกไปยังกาตาร์ และตุรกี ตลาดที่อยู่ในอันดับ 2 และ 4 ได้ลดลงร้อยละ 12 และร้อยละ 17.57 ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังกาตาร์ลดลง เนื่องจากสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนหดตัวลงมากถึงเกือบหนึ่งเท่าตัว ในขณะที่เครื่องประดับทอง สินค้าหลักยังคงเติบโตได้ ส่วนตุรกี สินค้าสำคัญหลายรายการไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ล้วนปรับตัวลดลง สำหรับตลาดที่น่าจับตาและมีแนวโน้มเติบโตดีในภูมิภาคนี้คือ โอมาน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 1.79 เท่า โดยสินค้าหลักในตลาดนี้คือ เครื่องประดับทอง และสินค้ารองลงมาเป็นเพชรเจียระไน ที่ต่างขยายตัวได้สูงขึ้นมาก

การส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 ถึงแม้ว่าสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไนจะหดตัวลง แต่สินค้าสำคัญรองลงมาอย่างโลหะเงินกลับเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 335 เท่า ส่วนการส่งออกไปยังจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 46.54 โดยสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินเติบโตได้ดีต่อเนื่องถึงร้อยละ 45.64

มูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.67 เนื่องจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดร้อยละ 66 ได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 49.27 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสิงคโปร์เป็นเครื่องประดับเทียม และสินค้าสำคัญถัดมาเป็นเครื่องประดับทอง ที่เติบโตได้ร้อยละ 22.90 และ 1.37 เท่า ตามลำดับ เวียดนาม ตลาดสำคัญในอันดับ 3 ก็ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 66.08 ซึ่งสินค้าส่งออกหลักไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ สินค้ารองลงมาเป็นโลหะเงิน และเพชรเจียระไน ที่ต่างมีมูลค่าเติบโตได้สูงมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังมาเลเซีย ตลาดในอันดับ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 33.10 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักในปีที่ผ่านมาได้ลดลงร้อยละ 25.43 ส่วนเครื่องประดับทอง ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกหลักแทนเครื่องประดับเงินด้วยมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.23 ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดีคือ กัมพูชา ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1.59 เท่า จากการส่งออกเพชรเจียระไนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75.61 ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นการนำเข้าของบริษัท Tiffany & Co. ที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตและร้านค้าปลีกเครื่องประดับในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2556

ส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 8.35 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนได้ลดลงมากถึงร้อยละ 44.11 ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนคู่แต่งงานลดลง จึงทำให้ความต้องการบริโภคเครื่องประดับเพชรที่มักใช้ในตลาดคู่แต่งงานลดลง ในขณะที่การส่งออกเครื่องประดับทอง สินค้าหลักยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 23.76   

การส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกลดลงร้อยละ 27.61 เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดถึงราวร้อยละ 84 ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 33.52 อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองได้ลดลงร้อยละ 42.98 และ ร้อยละ10.59 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ ตลาดลำดับถัดมายังเติบโตได้สูงถึงร้อยละ 38.75 จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.70

สำหรับมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชลดลงร้อยละ 76.12 จากการส่งออกไปยังรัสเซีย และยูเครน ตลาดอันดับ 1 และ 3 ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 77.16 และร้อยละ 90.77 โดยการส่งออกไปยังรัสเซียที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักในปีที่ผ่านมาลดลงมากถึงเกือบร้อยละ 90 ในขณะที่รัสเซียหันมานำเข้าทองคำฯ เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 75.37 เนื่องจากมองว่าทองคำเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนการส่งออกไปยังยูเครนที่ลดลงนั้น เนื่องจากไทยส่งออกเครื่องประดับ-เงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในปีก่อนหน้าได้ลดลงถึงเกือบหนึ่งเท่าตัว ในขณะที่ไทยสามารถส่งออกเพชรเจียระไนได้เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยมีการส่งออกมาก่อนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนอาร์เมเนีย ตลาดในอันดับ 2 เติบโตได้สูงกว่า 1.10 เท่า จากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 และสินค้ารองลงมาอย่างพลอย-เนื้อแข็งเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นกว่า 2.42 เท่า และร้อยละ 96.26 ตามลำดับ ซึ่งมรกตเป็นสินค้าที่เติบโตดีในกลุ่มพลอย-เนื้อแข็งเจียระไน

 

--------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

29 เมษายน 2562


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที