GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 17 เม.ย. 2019 15.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2665 ครั้ง

อินเดียใต้มีรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างจากอินเดียตอนเหนือและตอนกลางอย่างชัดเจน ซึ่งวัฒนธรรมของชาวอินเดียใต้ได้ก่อให้เกิดมรดกทางภูมิปัญญาอันหลากหลาย รวมถึงส่งผลต่อการผลิตเครื่องประดับที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจนได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนของประเทศอีกด้วย ส่วนเครื่องประดับแบบอินเดียใต้จะมีหน้าตาอย่างไรและสวยงามขนาดไหน ติดตามได้ในบทความนี้


ผู้ประกอบการอินเดียใต้ปรับสินค้าอัตลักษณ์สู่เครื่องประดับร่วมสมัย

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะเมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นภูมิภาคจะยิ่งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ดังเช่น พื้นที่ทางตอนใต้ของอินเดียที่มีรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างจากอินเดียตอนเหนือและตอนกลางอย่างชัดเจน ซึ่งวัฒนธรรมของชาวอินเดียใต้ได้ก่อให้เกิดมรดกทางภูมิปัญญาอันหลากหลาย อันรวมถึงการผลิตเครื่องประดับสไตล์อินเดียใต้ ที่ปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศ ซึ่งการทำให้สินค้าชนิดนี้คงอยู่และจำหน่ายได้ในวงกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยจำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวจากผู้ประกอบการและแรงผลักดันจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการยอมรับในที่สุด

ความเป็นมาและอัตลักษณ์ของเครื่องประดับอินเดียใต้

อินเดียใต้เป็นดินแดนที่ครอบคลุมเนื้อที่ 1 ใน 3 ของประเทศอินเดีย มีประชากรอาศัยอยู่ราว 260 ล้านคน และมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 รัฐ ได้แก่ รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังกานา รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู โดยปัจจุบันเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ การเป็นเมืองท่าที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น หากพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจพบว่าอินเดียใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบกับมีอัตราการว่างงานต่ำ จึงทำให้ประชากรมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดีและมีกำลังซื้อสินค้า

แม้ว่าความเจริญในปัจจุบันได้พลิกโฉมทำให้อินเดียใต้กลายเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในแง่มุมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาอันเก่าแก่ยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งคนยุคปัจจุบันสามารถสัมผัสได้จากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ งานวรรณกรรม การแสดงพื้นเมือง รวมทั้งชิ้นงานเครื่องประดับที่มีรูปแบบแตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอินเดียใต้ได้อย่างชัดเจน

การผลิตเครื่องประดับในอินเดียใต้นั้นมีมานานหลายร้อยปี โดยเริ่มแรกเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบรรณาการต่างแคว้นและผลิตไว้ใช้สอยเฉพาะในหมู่เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงของรัฐ ต่อมาเมื่อศิลปวิทยาการก้าวหน้าขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเมืองและประชากร ทำให้การบริโภคเครื่องประดับเริ่มกระจายตัวลงสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเต้นพื้นเมืองและบรรดาสุภาพสตรีทั่วไปที่มักนิยมนำไปสวมใส่ในพิธีแต่งงาน งานมงคล และงานประจำท้องถิ่น เป็นต้น

การออกแบบเครื่องประดับให้แลดูสง่างามแต่แฝงไปด้วยความลึกลับ จัดเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ที่สร้างความแตกต่างให้แก่เครื่องประดับอินเดียใต้ โดย แรงบันดาลใจที่ใช้ในการออกแบบนั้น ส่วนใหญ่มีที่มา จากศาสนาและความเชื่อประจำท้องถิ่น ดังจะเห็นได้ จากรูปแกะสลักเทพเจ้าของศาสนาพรหมณ์-ฮินดูตาม โบราณสถานสำคัญหลายแห่งในอินเดียใต้ อาทิ วัดพฤหธิศวร (Brihadeeswarar Temple) ในรัฐทมิฬนาฑู และวัดศรีมีนากชรี (Sri Meenakshi Temple) ฯลฯ รวมทั้งยังได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ทางโหราศาสตร์ ดวงดาว และราศีมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงวัสดุที่ใช้ผลิตพบว่ามีทั้งที่ทำจาก ทองคำและเงิน ซึ่งชิ้นงานส่วนใหญ่นิยมตกแต่งตัวเรือนด้วยเพชร หรือพลอยเนื้อแข็งประเภททับทิม และมรกต  เป็นต้น

สำหรับความแตกต่างระหว่างเครื่องประดับอินเดียใต้และเครื่องประดับของอินเดียตอนเหนือนั้น เครื่องประดับอินเดียใต้มักสอดแทรกลวดลาย หรือรูปแกะสลักของเทพเจ้าตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูตามความเชื่อแบบโบราณเข้าไปในชิ้นงานเครื่องประดับด้วยเสมอ ขณะที่เครื่องประดับอินเดียตอนเหนือและตอนกลาง เน้นการเล่นลวดลายทางธรรมชาติ หรือลวดลายประยุกต์ที่มีความอ่อนช้อยใส่ลงไปในเครื่องประดับ ไม่ค่อยนิยมนำรูปแทนของเทพเจ้าใส่เข้าไปให้เป็นจุดเด่นที่สุดของชิ้นงานเหมือนดังเครื่องประดับอินเดียใต้ แม้ว่าเครื่องประดับของอินเดียเหนือบางชิ้นงานจะสอดแทรกแนวคิดทางศาสนาเข้าไป แต่นิยมใส่สัญลักษณ์เข้าไปมากกว่าเป็นรูปเคารพของ
เทพเจ้าโดยตรง อาทิ สัญลักษณ์ “โอม” (Om) หรือ “สวัสติกะ” (Swastika) เป็นต้น

 

 

ภาพซ้าย: การแต่งกายด้วยเครื่องประดับอินเดียใต้

ภาพขวา: การแต่งกายด้วยเครื่องประดับอินเดียเหนือและตอนกลาง

เครื่องประดับอินเดียใต้กับการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคชาวอินเดียใต้ สังเกตได้จาก จำนวนร้านค้าปลีกเครื่องประดับท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ ผู้ประกอบการท้องถิ่นร่วมมือกับสมาคมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่าง Chennai Jewellers Association และหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละรัฐ ได้รวมตัวเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้าในภูมิภาค โดยนำเอา เครื่องประดับอินเดียใต้ไปจัดแสดงและจำหน่าย อีกทั้งยังผลักดันชิ้นงานเครื่องประดับให้ไปปรากฏในนิตยสาร แฟชั่นของอินเดียที่มีชื่อเสียงในประเทศอย่าง Indian Jeweller, SHAADI,  Jodi, You & I, The Art of Jewellery,   SAB ฯลฯ ทำให้ภาพของเครื่องประดับอินเดียใต้ปรากฏสู่สายตาผู้บริโภคทั่วประเทศ และเกิดเป็นกระแสความสนใจในรูปแบบและต้องการครอบครองเครื่องประดับอินเดียใต้ที่เสมือนเป็นของแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใช่ คนท้องถิ่น

ด้วยความหลากหลายทางด้านช่วงวัยทำให้ฐานผู้บริโภคเครื่องประดับในอินเดียกว้างขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่จากเดิมนิยมซื้อเครื่องประดับครบชุดไว้เป็นทรัพย์สิน หรือใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคอินเดียให้ความสำคัญกับการนำเอาเครื่องประดับที่ลงทุนซื้อ มาใช้สอยให้ได้บ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ผู้ประกอบการเครื่องประดับท้องถิ่นในอินเดียใต้ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สินค้าสามารถจำหน่ายออกได้ และป้องกันไม่ให้มรดกทางภูมิปัญญาต้องสูญหายไป ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการเครื่องประดับอินเดียใต้มีทั้งใช้วิธีการปรับรูปแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้เข้ายุคสมัยยิ่งขึ้น โดยในส่วนของกระบวนการผลิตได้อาศัยเทคนิควิธีลดขนาดของชิ้นงานให้เล็กลง หรืออาจใช้เทคนิคการฉลุลายเข้าช่วยเพื่อทำให้ตัวเรือนมีน้ำหนักเบาลง จนสะดวกสบายต่อการสวมใส่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงวัยและฐานะทางเศรษฐกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้วัตถุดิบประเภททองชุบ หรือเงินมาผสานเข้ากับการออกแบบเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัย ปรับลดความอลังการของชิ้นงานลง แต่ยังคงไว้ซึ่งความมีเสน่ห์ ดูมีพลัง และแนวคิดความเชื่อของอินเดียใต้เอาไว้อย่างลงตัว โดยที่สินค้ามีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่าย และใช้ประโยชน์ได้ในหลายโอกาส เป็นต้น ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาในข้างต้นมีตัวอย่างของเครื่องประดับอินเดียใต้ที่ผ่านการพัฒนารูปแบบจนได้รับการยอมรับแล้ว ดังนี้

Kasulaperu คือ สร้อยคอเส้นยาวที่มีลักษณะเป็น เหรียญเรียงร้อยตลอดเส้น  ส่วนมากมักทำจากทองคำ   โดยผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสนใจในลวดลายที่แกะสลักลงบนเหรียญ ซึ่งนอกจากจะทำให้ชิ้นงานดูสวยงามและละเอียดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานอีกด้วย   

Temple Jewellery ยังคงเป็นรูปแบบยอดนิยมตามเอกลักษณ์เดิมของเครื่องประดับอินเดียใต้ โดยผู้บริโภคสนใจเครื่องประดับเงินที่ผ่านการออกแบบให้มีขนาดและน้ำหนักลดลง จนทำให้เหมาะแก่การใช้สอยในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

Manga Malai เป็นสร้อยคอที่มีสัญลักษณ์ของผลมะม่วง ตกแต่งอยู่ โดยตัวเรือนนิยมทำจากทองและตกแต่งด้วยเพชรหรือพลอยสี ซึ่งการออกแบบผลมะม่วงให้โดดเด่นและร่วมสมัยต่างจากของดั้งเดิม สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

Vanki เป็นปลอกแขน อันมีที่มาจากตำนานเครื่องประดับของพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นเทพีฮินดูที่ชาวอินเดียเคารพนับถือ โดยปัจจุบันนิยมออกแบบชิ้นงานให้มีขนาดเล็กลงและตกแต่งด้วยพลอยสีในลักษณะที่ไม่ดูละลานตา หรือมากจนเกินไป

Jadanagam เป็นเครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งผม ซึ่งผู้บริโภคปัจจุบันนิยมชิ้นงานที่ทำจากทองและตกแต่งด้วยทับทิม หรืออัญมณีที่มีสีแดง

Kolusu เป็นกำไลข้อเท้า ซึ่งมักทำด้วยเงินซึ่งผู้บริโภคสนใจรูปแบบของลวดลายที่ร่วมสมัยขึ้นและมีน้ำหนักเบาลง

จากวิธีการปรับตัวของผู้ประกอบการอินเดียใต้ตามที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคตามความเป็นจริง อีกทั้งการประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลักดันให้สินค้าทางภูมิปัญญาเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ของการปรับวิธีการผลิต และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบให้ชิ้นงานมีความร่วมสมัย แต่มีจุดยืนทางเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน ตลอดจนการมีมุมมองทางการตลาดที่ดีและมีความตื่นตัวพร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อันถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่ผลิตชิ้นงานอัตลักษณ์ ซึ่งควรจะพัฒนามุมมองให้มองข้ามจากกรอบแนวคิดเดิมที่ต้องการเพียงแค่การอนุรักษ์ชิ้นงาน ให้เป็นการปรับตัวและพัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัย อันนอกจากจะทำให้ภูมิปัญญายังคงอยู่เป็นสมบัติชาติแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

 

-------------------------------------          

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

ข้อมูลอ้างอิง:

            1. South continues to glitter, The Hindu Business Line, India

            2. Traditional and Authentic Jewelry of South India, WelcomeNri (24 August 2018)

            3. The most popular jewellery trends from South India, Friday magazine (August 2018)

            4. Gems and Jewellery, India brand equity foundation 2018, India

            5. Advantage India, Gem Jewellery Export Promotion Council (February 2018)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที