นับตั้งแต่ พระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับเป็นต้นมา ผมเฝ้าติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดด้วยความหวังที่อยากให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ เพื่อประเทศชาติของเราจะมีคนไทยที่มีคุณภาพจากปัจจุบันขึ้นมาบ้าง
เพราะไม่มีสิ่งใดสามารถพัฒนาศักยภาพของคนได้ดีกว่าการศึกษา
แต่นั่นก็หมายความว่าระบบการศึกษาของเราจะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีและถูกต้องด้วย
โดยเฉพาะผมตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลไทยรักไทยค่อนข้างสูงมาก เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงแรกๆ และแต่งตั้งให้ ศ. น.พ. เกษม วัฒนชัย เข้าไปดูแลกระทรวงศึกษาธิการ แต่คุณหมอเกษม วัฒนชัย เข้าไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ได้เพียงไม่กี่เดือนก็เปิดหมวกอำลาออกไป พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามารับหน้าที่แทนชั่วคราว จากนั้นจึงให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รับช่วงไปในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่นานนักรัฐมนตรีกระทรวงนี้จึงเปลี่ยนอีกครั้งเป็นนายปองพล อดิเรกสาร มาดูแลรับผิดชอบและต่อมาก็ต้องไปเอานักการตลาดที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอย่าง นายอดิศัย โพธารามิก จากรัฐมนตรีกระทรวงพานิชย์มานั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแทน ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้นเช่นกัน จนล่าสุด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็โยนความรับชอบกระทรวงนี้ไปให้นายจาตุรณห์ ฉายแสง เข้ามาดูแลแทนในหน้าที่รัฐมนตรี จนรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถูกคณะปฏิรูปฯ ยึดอำนาจไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา
จริงๆ แล้ว กระทรวงศึกษาธิการ หรือในอดีตที่มีสื่อมวลชนบางสื่อเรียกว่ากระทรวงเต่าล้านปีนั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะบุคลากรระดับสูงของกระ ทรวงนี้ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกลไกการทำงานต่างๆ อยู่นั้นยังมีความคิด และปฏิบัติงานตามแนวเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลา นาน ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า การปฏิรูปการศึกษา ของเราทั้งหมดก็ว่าได้ เรียกว่า หากเราจะปฏิรูปการศึกษา แต่คนที่มีหน้าที่ดูแลหรือที่เรียกว่านักการศึกษา บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งครูบาอาจารย์บางคนไม่ปฏิรูปตัวเอง การปฏิรูปการศึกษาจะได้ผลสัมฤทธิ์ได้อย่างไร เช่นเดียวกับการที่เราต้องการจะปฏิรูปการเมือง แต่นักการเมืองกลับไม่คิดปฏิรูปตนเอง ก็ป่วยการที่การเมืองบ้านเราจะพัฒนาขึ้นไปสู่การเมืองที่ดีขึ้นได้
เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่อาจจะมีขึ้นปลายปีนี้นั้น เชื่อว่านักการเมืองหน้าเดิมๆ นั่นแหละที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอีก
เมื่อได้อ่านบทความคอลัมน์ หมายเหตุ ประเทศไทย เรื่อง โอ้พระเจ้า......การศึกษาไทย ของ ลม เปลี่ยนทิศ ใน นสพ. ไทยรัฐ และอ่านบทความชื่อ อนิจจา.......การศึกษาไทย ใน นสพ. มติชน รายวัน ซึ่งเขียนโดยคุณธีรวิทย์ ภิญโญณัฐกานต์ เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองท่านยกเรื่องผลการประเมินการศึกษาโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศกว่า 30,000 โรง โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ผลการประเมินออกมาต่ำกว่ามาตรฐานมากถึงกว่า 20,000 โรงเรียน เรียกว่าประมาณ 2 ใน 3 ของโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไทยทั่วประเทศมีมาตรฐานการเรียนการสอน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงและดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นอย่างยิ่ง
หากมาวิเคราะห์กันถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้มาตรฐานการศึกษาของเราในปัจจุบันตกต่ำลงมากนั้น หลายประเด็นผมเห็นด้วยกับที่คุณธีรวิทย์ ภิญโญณัฐกานต์ ว่าไว้ในบทความ อนิจจา........การศึกษาไทย ยกเว้นในประเด็นที่ว่า ครู อาจารย์ ทำหน้าที่อย่างขาดกำลังใจ เพราะเงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนต่ำ หนี้สินเยอะ ไม่มีสมาธิและจิตใจในการทำงาน
แต่ปัจจุบันมีครู-อาจารย์บางท่านไม่ค่อยสนใจการสอนเด็กนัก แต่จะใช้วิธีให้ ใบงาน แก่เด็กแต่ไม่ค่อยได้ติดตามผลอย่างจริงจัง จนเด็กนักเรียนหลายโรงเรียนผลงานตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด โรงเรียนระดับจังหวัดบางจังหวัดที่เคยมีชื่อเสียงและผลงานดีเด่นในด้านการเรียน แต่ในระยะหลังมานี้ ผลการเรียนของนักเรียนแย่ลงติดต่อกันหลายปี ในขณะที่อาจารย์โรงเรียนเหล่านั้นทำผลงานทางวิชาการได้เป็นอาจารย์ระดับ 8 และระดับ 9 กันมากหน้าหลายตา
เรียกว่าครู-อาจารย์ต่างมีผลงานดี ได้ขยับซีกันเป็นทิวแถว แต่ผลการเรียนของนักเรียนกลับตกต่ำลง
เช่นเดียวกันกับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทในสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งในปัจจุบันที่มีแต่ปริมาณแต่ด้อยคุณภาพมากหากเปรียบเทียบกับในอดีตและเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาอีกหลายประเทศในโลก
กล่าวได้ว่าในปัจจุบัน ครู-อาจารย์มีรายได้ดีกว่าสมัยก่อนมากในขณะเดียวกันการเล่าเรียนของเด็ก และความประพฤติของเด็กนักเรียนกลับตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ความเป็นครูและความเป็นลูกศิษย์ก็แทบจะไม่มีความหมายต่อกันและกันดังในอดีตแล้ว
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ หากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ไม่ช่วยกันอย่างจริงจัง และแก้ปัญหาให้ตรงจุดแล้ว อนาคตการศึกษาไทยเห็นทีจะตกต่ำลงเรื่อยๆ
นั่นก็หมายความว่าคุณภาพของคนในประเทศของเราย่อมด้อยลงด้วย
เมื่อคนไม่มีคุณภาพแล้ว จะพัฒนาประเทศอย่างไรก็พัฒนายาก เพราะคน คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในการพัฒนาประเทศ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที