สหภาพยุโรป (อียู) และเวียดนาม ได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีหรือ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) เมื่อปลายปี 2558 และใช้เวลาในการเจรจาเป็นเวลา 3 ปีจนบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมการเปิดตลาด การค้าสินค้า การค้าบริการ การค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุน รวมถึงลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้เสร็จสิ้นภายในปี 2562
สำหรับสาระสำคัญของความตกลง EVFTA คือ ทั้งสองประเทศจะลดภาษีสินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 99 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด โดยสหภาพยุโรปจะลดภาษีสินค้าทันทีเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ร้อยละ 71 ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี ส่วนเวียดนาม จะลดภาษีสินค้าทันทีร้อยละ 65 ของสินค้าส่งออกจากสหภาพ-ยุโรป เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี
การลดภาษีสินค้านำเข้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี EVFTA ในภาพรวมจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเวียดนามมากขึ้น แต่หากพิจารณาเฉพาะหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ในระยะสั้นถึงกลาง ไม่ได้ส่งผลให้เวียดนามได้เปรียบไทยมากนัก เพราะแม้ว่าไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าประเภทนี้ในปัจจุบัน แต่อัตราภาษีนำเข้าในอียูก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ที่ร้อยละ 0-4 และด้วยไทยมีฝีมือการเจียระไนอัญมณีและผลิตเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงทำให้สินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงและยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกรวมถึงตลาดอียูซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทยด้วย สะท้อนให้เห็นจาก สถิติการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดอียู ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกไปยังอียูสูงกว่าเวียดนามถึงเกือบ 10 เท่า โดยไทยมีมูลค่าส่งออกราว 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกเป็นเครื่องประดับเงินที่ไทยครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับแรก ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นเครื่องประดับทองที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 2 และส่วนที่เหลือเป็นเพชรพลอยเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ ในขณะที่เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 180 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเทียม ซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยคาดว่าเป็นการส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกที่ย้ายฐานการผลิตไปจากประเทศไทย
แต่เมื่อพิจารณาในระยะยาว EVFTA อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะแม้ว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามไปยังอียูจะยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น หากเวียดนามได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการได้รับยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียู รวมถึงไม่มีมาตรการการค้าที่เป็นอุปสรรคระหว่างกันแล้ว สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากเวียดนามก็อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียูได้ในอนาคต ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าอยู่เสมอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียู
--------------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2562
ข้อมูลอ้างอิง:
1) บทวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามต่อการส่งออกสินค้าไทย, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
(25 มีนาคม 2562)
2) Global Trade Atlas, 4 April 2019 และ Statistics, European Commission, 4 April 2019
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที