GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 มี.ค. 2019 11.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6515 ครั้ง

ลาพิส ลาซูลี (Lapis Lazuli) อัญมณีทึบแสง เนื้อแน่น สีน้ำเงินเข้มสะดุดตา ถูกจำแนกเป็น ?หิน? ไม่ใช่ ?แร่? อย่างเช่นพลอยสีชนิดอื่นๆ โดยพบครั้งแรกในประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว และความนิยมหินสีมีค่านี้ได้แผ่ขยายไปยังอาณาจักรเมโสโปเตเมีย อียิปต์ จีน กรีก และโรมัน เป็นต้น ซึ่งอาณาจักรเหล่านี้ได้นำลาพิส ลาซูลีไปใช้ตามความเชื่อ ดังเช่น ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า ลาพิส ลาซูลี เป็นอัญมณีของเทพเจ้า จึงมักนำไปแกะสลักเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ รวมถึงนำไปประดับบนโลงพระศพ ตลอดจนทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อบรรจุในพีระมิดของฟาโรห์ผู้ล่วงลับ เป็นต้น อ่านเรื่องราวลาพิส ลาซูลีเพิ่มเติมได้ที่


ลาพิส ลาซูลี มหัศจรรย์แห่งอัญมณีสีน้ำเงิน

ลาพิส ลาซูลี  (Lapis Lazuli) คือชื่อของอัญมณีทึบแสง เนื้อแน่น สีน้ำเงินเข้มสะดุดตาน่าหลงใหล มีค่าความแข็งในระดับ 5 – 5.5 ตามโมห์สสเกล เป็นอัญมณีซึ่งมีความสำคัญ และมีความผูกพันกับอารยธรรมความเชื่อของมนุษย์มานานหลายพันปี

                                                

                        ตกแต่งด้วยเพชร และลาพิส ลาซูลี กำไลข้อมือทำจากทองสีชมพู 18K            จี้รูปดอกไม้ตกแต่งด้วยลาพิส ลาซูลี และเพชร

                                         เครื่องประดับโดย: Piaget                                              เครื่องประดับโดย: Chaumet

 

ลาพิส ลาซูลี เป็นการประสมคำของคำว่า ‘Lapis’ ในภาษาลาติน แปลว่า ก้อนหิน และคำว่า ‘Azula’ ในภาษาอารบิค แปลว่า สีน้ำเงิน มันเป็นอัญมณีที่มีความพิเศษและแตกต่างจากอัญมณีชนิดอื่น เนื่องจากในทางอัญมณีวิทยา ลาพิส ลาซูลี ถูกจำแนกเป็น “หิน” ไม่ใช่ “แร่” อย่างเช่นพลอยชนิดอื่นๆ ที่เรารู้จักและคุ้นเคยกัน

หินมีค่าสีน้ำเงินชนิดนี้ ถูกขุดพบครั้งแรกในประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว โดยความนิยมในอัญมณีชนิดนี้ได้แผ่ขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรเมโสโปเตเมีย อียิปต์ จีน กรีก และโรมัน เป็นต้น

ลาพิส ลาซูลี กับความเชื่อ

ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่า ลาพิส ลาซูลี เป็นอัญมณีของเทพเจ้า มันจึงมักถูกนำมาแกะสลักเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวอียิปต์ รวมถึงถูกนำไปทำเป็นเครื่องราง เช่น แกะสลักเป็นรูปแมลงปีกแข็ง (Scarab) เป็นแมลงศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวไอยคุปต์ว่าด้วยเรื่องของการถือกำเนิดใหม่ อีกทั้งยังถูกนำไปประดับบนโลงพระศพ ตลอดจนทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อบรรจุในพีระมิดของฟาโรห์ผู้ล่วงลับ

 

 

เครื่องประดับรูปแมลงปีกแข็ง (Scarab) แกะสลักจากลาพิส ลาซูลี ของฟาโรห์ตุตันคาเมน

ภาพจาก: Pinterest

นอกจากวัตถุประสงค์ในเรื่องความเชื่อและความศรัทธาต่อเทพเจ้าแล้ว อัญมณีชนิดนี้ยังถูกใช้ประโยชน์เรื่องความงาม โดยหญิงชาวไอยคุปต์จะนำเอา ลาพิส ลาซูลี มาบดเป็นผงเพื่อใช้เติมแต่งให้ดวงตาคมโตอีกด้วย

เหล่าทหารกล้าแห่งจักรวรรดิโรมันมักจะพก ลาพิส ลาซูลี ไว้ติดตัวเสมอยามออกรบ ด้วยพวกเขาเชื่อว่าเจ้าอัญมณีสีน้ำเงินเข้มนี้ทำให้เกิดความกล้าหาญและฮึกเหิม ขณะที่ผู้คนแห่งนครบาบีโลนเชื่อว่ามันสามารถช่วยรักษาเยียวยาอาการโศกเศร้าเสียใจได้

ลาพิส ลาซูลี กับศิลปะ

นอกจากนี้ ลาพิส ลาซูลี ยังมีบทบาทและความสำคัญต่อวงการศิลปะของโลกอีกด้วย ประวัติศาสตร์ศิลป์ระบุว่า มีจิตรกรในยุคเรเนสซองส์จำนวนไม่น้อยเลือกใช้สีนำเงินซึ่งทำมาจาก ลาพิส ลาซูลี ในการสรรค์สร้างผลงานอันทรงคุณค่าของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนที่มีชื่อว่า “The Last Judgment” ผลงานของไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ซีสทีน (Sistine Chapel) ในนครวาติกัน และภาพวาดสีน้ำมันที่มีชื่อว่า “Starry Night” โดย Vincent van Gogh จิตรกรชาวดัตช์ เป็นต้น

The Last Judgment” (1536 - 1541) โดยไมเคิลแองเจโล

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ซีสทีนในนครวาติกัน

ภาพจาก: https://www.michelangelo.org

 

ภาพวาดสีน้ำมัน “Starry Night” (1889) โดย Vincent van Gogh

ภาพจาก: พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Museum of Modern Art (MoMA) นิวยอร์ก

 

 

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีนาคม 2562

--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. What Does Lapis Lazuli Symbolize?. Retrived October 1, 2018, from https://www.jewelry
    notes.com/lapis-lazuli-meaning/.
  2. GIA. Lapis Lazuli History and Lore. Retrived October 1, 2018, from https://www.gia.edu/
    lapis-lazuli-history-lore.
  3. The Jewellery Editor. (July 23, 2014). Lapis Lazuli Jewellery: The celestial blue stone is enjoying a renaissance in fine jewellery. Retrived October 1, 2018, from http://www.the
    jewelleryeditor.com/jewellery/article/lapis-lazuli-enjoying-a-renaissance-in-fine-jewellery/
  4. Hyperallergic. (August 5, 2016). Lapis Lazuli: A Blue More Precious than Gold. Retrived October 1, 2018, from https://hyperallergic.com/315564/lapis-lazuli-a-blue-more-precious-than-gold/.

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที