บริษัท Gemworld International ได้ให้ข้อมูลข่าวคราวความเคลื่อนไหวในตลาด ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอัญมณีเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ประธาน Richard Drucker และรองประธาน Stuart Robertson ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกและอัญมณีที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยต่อไปนี้เป็นประเด็นทั้งหกข้อที่ทั้งสองได้กล่าวถึงภายในงานแสดงสินค้าอัญมณี AGTA GemFair Tucson 2019 ที่ผ่านมา
Pink Spinel from Gems by Nomads
1. ตลาดสหรัฐเปลี่ยนแปลงไป
Robertson กล่าวว่าราคาสินค้าในตลาดลดต่ำลงในระยะหลังมานี้เนื่องจากโครงสร้างความมั่งคั่งของอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงไป
สหรัฐยังคงเป็นตลาดหลักของแวดวงธุรกิจอัญมณี แต่ปัจจุบันสินค้าคุณภาพสูงถูกส่งไปขายอยู่ในต่างประเทศกันมากยิ่งขึ้น เขาเสริมว่าปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงนี้ คือการที่ตลาดมีความหนาแน่นขึ้นอันเป็นผลมาจากอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งก็นำไปสู่การแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย
พลอยสีบางประเภทอาจมีราคาสูงจนทำลายสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามงานประมูลอัญมณีต่างๆ ซึ่งทำให้ “คนมองภาพตลาดโดยรวมไม่ตรงตามความเป็นจริง” เขากล่าวว่าตัวเลขยอดขายสูงๆ สะท้อนถึงตลาดพลอย
ส่วนบนสุดเท่านั้น
2. อุตสาหกรรม “ใหม่” ทำหน้าที่ได้ดีในการบอกเล่าเรื่องราวของอัญมณี
Robertson กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการจัดหาอัญมณีและการนำเสนอเรื่องราวนี้แก่ผู้บริโภค
นักออกแบบทุกวันนี้ไม่ค่อยสนใจการฝากขายเพราะพวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจกันด้วยวิธีนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักซื้ออัญมณีในปริมาณน้อย และดำเนินกิจการแกลเลอรีหรือสตูดิโอขนาดเล็กที่เน้นการนำเสนอเครื่องประดับในฐานะงานศิลปะ โดยจ่ายเงินซื้ออัญมณีในระหว่างกระบวนการทำงาน
“ขณะที่บริษัทที่พึ่งพิงอัญมณีฝากขายไม่ได้สนใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องราวหรือแหล่งที่มาของอัญมณีเพราะพวกเขาไม่ได้มีภาระผูกพันกับตัวอัญมณี เงินที่วางเดิมพันไม่ใช่เงินของพวกเขาแต่เป็นเงินของคนอื่น เราสังเกตเห็นความแตกต่างที่น่าสนใจในจุดนี้” เขากล่าว
3. ประเทศแหล่งอัญมณีรายสำคัญวางกฎเกณฑ์ที่รัดกุมยิ่งขึ้น
Robertson กล่าวว่า ประเทศแหล่งอัญมณีหันมาควบคุมทรัพยากรอัญมณีที่ผลิตได้ในประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเพิ่มมูลค่าอัญมณี พร้อมทั้งระบุว่าประเทศเหล่านี้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรทางธรรมชาติของตน
หลายประเทศกำลังประเมินความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงดำเนินโครงการด้านการปรับปรุงคุณภาพแร่ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ อาทิเช่น เมียนมา แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ราคาอัญมณีสูงขึ้นแต่ก็ “น่าจะมาจากเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว” เขากล่าว
rhodolite
4. ตลาดยังคงแบ่งเป็นสองระดับหลักๆ
ตลาดพลอยธรรมชาติระดับสูงยังคงเข้มแข็งเพราะมีอุปทานจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของทับทิม มรกต แซปไฟร์ และพาราอิบาทัวร์มาลีน
ส่วนตลาดพลอยระดับล่าง อันหมายถึงทั้งสินค้าคุณภาพรองลงมา รวมถึงพลอยที่มีราคาไม่สูง เช่น โทแพซสีน้ำเงินและซิทรินนั้น มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเกินความต้องการทำให้ราคาอ่อนตัวลง Robertson กล่าวว่าสินค้ากลุ่มนี้กำลังเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับหินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพลอยซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าแต่มีราคาใกล้เคียงกับสินค้ากลุ่มนี้
ในขณะที่ตลาดระดับกลางซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นฐานหลักของอุตสาหกรรมนี้กลับทำผลงานได้ “น่าผิดหวัง” ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ตลาดมีแนวโน้มขยับตัวขึ้นแต่ก็มาหยุดนิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาและกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง
5. สถานการณ์ของกลุ่ม “บิ๊กทรี”
ในเมียนมา การผลิตทับทิมแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งเนื่องจากผู้ทำเหมืองมุ่งดำเนินการผลิตให้เพียงพอก่อนที่ระเบียบใหม่จะถูกนำมาบังคับใช้
แอฟริกาตะวันออกยังคงป้อนอัญมณีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยแหล่งสำคัญยังคงเป็นโมซัมบิก ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ได้เข้ามาแทนที่การทำเหมืองแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น
Robertson กล่าวว่าตลาดทับทิมยังมั่นคงดี แต่ความต้องการและราคาของอัญมณีที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนนั้นลดลงเล็กน้อย และจากเดิมที่ทับทิมมีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดของแซปไฟร์ แต่การผลิตทับทิมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีผลให้ทับทิมทำส่วนแบ่งตลาดได้ใกล้เคียงกับแซปไฟร์แล้ว
แนวโน้มนี้จะส่งผลสำคัญต่อการตั้งราคาทับทิมในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดคำถามขึ้นมาว่าจะมีความต้องการทับทิมมากเพียงพอเพื่อรองรับอุปทานที่สูงเช่นนี้หรือไม่ “ผมคิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อการตั้งราคาเพราะในความเป็นจริงไม่มีปัจจัยใดชี้ให้เห็นว่าความต้องการทับทิมจะเทียบเท่ากับแซปไฟร์ ในระยะยาวเราจึงคาดว่าราคาจะอ่อนตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน” Robertson กล่าว
ในขณะเดียวกันแซปไฟร์ยังคงเป็นอัญมณีที่ขายดีที่สุดในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดตะวันตก แซปไฟร์สีน้ำเงินและน้ำเงินอมเขียวยังคงได้รับความนิยม
นอกจากนี้ ยังมีอุปทานแซปไฟร์มากพอสมควรเนื่องจากแหล่งวัตถุดิบพลอยในเอเชียและแอฟริกาดำเนินการผลิตอย่างต่อเนื่อง ราคาพลอยธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยเกรดคุณภาพสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากประเทศแหล่งผลิตอัญมณีมีการควบคุมรัดกุมมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าความต้องการมรกตสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปี 2018 แต่กระแสความตื่นเต้นก็เริ่มเบาบางลงไป Robertson กล่าว การปรับปรุงคุณภาพมรกตกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความสับสนมากที่สุดในบรรดาพลอยกลุ่มบิ๊กทรี และนำไปสู่การถกเถียงซึ่งยังคงดำเนินต่อไปว่าด้วยการเปิดเผยและสื่อสารข้อมูลผลรายงานจากห้องปฏิบัติการ
เขากล่าวว่ามรกตโคลอมเบียยังคงเป็นมาตรฐานในการตั้งราคามรกตทุกชนิด ส่วนการผลิตมรกตของเอธิโอเปียชะลอตัวลงจากการที่รัฐบาลดำเนินการประเมินทรัพยากรภายในประเทศ ขณะที่การผลิตในแซมเบียยัง “ใช้ได้” ส่วนการผลิตในบราซิลนั้นมีปริมาณน้อย
6. “สินค้าที่ขาดไม่ได้” ในตลาดอัญมณี
Drucker กล่าวว่า อัญมณีสีชมพูและสีแดงยังคงเป็นที่ต้องการ โดยผู้บริโภคหันมาซื้อตามสีแทนที่จะซื้อตามประเภทของอัญมณีกันมากขึ้น จึงเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการพลอยสีอย่างมอร์แกไนต์ สปิเนล และทัวร์มาลีน
เขาเสริมว่าอัญมณีสีน้ำเงินยังคงเป็นสินค้าขายดีอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่อัญมณีสีพีชหรือสีส้มอ่อนก็ทำผลงานได้ดีเช่นกัน อย่างไรก็ดี กุญแจสำคัญคือการใช้อัญมณีสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอแซปไฟร์สไลซ์หรืออัญมณีที่ไม่ธรรมดาชนิดอื่นๆ
การ์เนตก็กำลังกลับมาได้รับความนิยม โดยโรโดไลต์สามารถดึงดูดความสนใจของนักออกแบบได้เป็นอย่างดี ขณะที่สเปสซาร์ไทต์กับซาวอไรต์ยังคงติดอันดับอัญมณีขายดีในหมวดสีของตน เช่นเดียวกับซอยไซต์สีอื่นๆ ซึ่งช่วยผลักดันให้แทนซาไนต์เป็นที่ต้องการสูงขึ้น
tsavorite
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2562
------------------------------------------
ที่มา: “From Tucson: Hot Stones and a Changing Market” by Brecken Branstrator. NATIONAL JEWELER. Retrieved February 18, 2019, from https://www.nationaljeweler.com/independents/trade-shows/
7421-from-tucson-hot-stones-and-a-changing-market.
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที