คุณรู้หรือไม่ว่าการเจียระไนเพชรแบบไหนเป็นที่นิยมที่สุด ในยุคแรกของการเจียระไนเพชร อาจจะเป็นการเจียระไนแบบทรงกลม (Round Brilliant) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากชาวอิตาเลี่ยนชื่อ Vincent Peruzzi อยู่ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 17 จนมาถึงช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 Marcel Tolkowsky ได้คิดค้นการเจียระไนแบบใหม่ โดยออกแบบมุมของการเจียระไนเพชรขึ้นใหม่เป็นการเจียระไนแบบอุดมคติ ("ideal" diamond cut) และตั้งแต่นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับสูตรที่ Tolkowsky ได้คิดค้นไว้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
Six Sigma เป็นที่รู้กันว่าเริ่มต้นจากความพยายามในการพัฒนาของผู้ทำงานในสายคุณภาพในช่วงต้นของศตวรรษ 19 โดยวิธีการที่ใช้ก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งยืนยันถึงความมีคุณค่าของแนวทางการทำงานแบบนี้เช่นเดียวกับการพัฒนาวิธีการเจียระไนเพชร
จากคำพูดของ Lord Kelvin ที่พูดถึงหัวใจหลักของแนวคิดและตัวชี้วัดของ Six Sigma
ผมมักจะบอกเสมอว่าถ้าคุณสามารถวัดได้ว่าสิ่งที่คุณกำลังพูดถึงอยู่มีค่าเป็นตัวเลขเท่าไหร่ แปลว่าคุณรู้ถึงสิ่งนั้นที่คุณพูดถึงอยู่ แต่ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายสิ่งนั้นเป็นตัวเลขได้ แปลว่าคุณมีความรู้ในสิ่งนั้นไม่มากพอ......
ถ้าคุณไม่สามารถวัดค่าในกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้หมายความว่าคุณมีความเข้าใจในสิ่งนั้นไม่มากพอ บางครั้งอาจจะต้องใช้จินตนาการในการคิดค้นวิธีการวัดค่าของกระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่เกือบทุกครั้งมันมีทางเป็นไปได้ทั้งนั้น
Six Sigma ก็เหมือนกับเพชรที่มีหลายด้าน เราสามารถอธิบายได้ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเชิงปรัชญา ชุดเครื่องมือ วิธีการ และ ตัวชี้วัด
Six Sigma คือ ปรัชญา (Philosophy)
ผู้ดำเนินกิจกรรม Six Sigma พยายามจะทำความเข้าใจกระบวนการโดยดำเนินการตามขั้นตอน defined, measured, analyzed, improved และ controlled โดยจะมองว่ากระบวนการผลิตจะใช้ปัจจัยตั้งต้น (input) ค่า X เพื่อผลิต ผลลัพธ์ (output) ค่า Y
ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจวิธีการควบคุมปัจจัยตั้งต้นได้ คุณก็สามารถจะควบคุมผลลัพธ์ได้เช่นกัน โดยจะใช้สมการคณิตศาสตร์ y = f(x) เป็นตัวอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยตั้งต้นและผลลัพธ์
จากสมการเส้นตรงในรูปด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่า ค่าตัวแปร X (อุณหภูมิ:Temperature) เพิ่มขึ้น ทำให้ ค่าผลลัพธ์ Y (ความแข็งแรง:Strength) มีค่าลดลง
จากสมการเส้นตรงในตัวอย่างนี้เป็นสมการง่ายๆ แต่ในชีวิตจริงกระบวนการผลิตที่เราศึกษาอาจจะมีความซับซ้อนกว่านี้เพราะอาจจะมีปัจจัยตั้งต้น 5 หรือ 20 ตัวหรือมากกว่านั้น แต่ด้วยหลักการของ DMAIC จะทำให้เราสามารถลดจำนวนปัจจัยตั้งต้นให้เหลือเฉพาะแต่ตัวที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้เราทำความเข้าใจและควบคุมความสัมพันธ์ของตัวแปรได้
Six Sigma คือ ระเบียบวิธี (Methodology)
ผู้ดำเนินกิจกรรม Six Sigma มักจะใช้ระเบียบวิธี DMAIC (Define, Measure, Analyze, Improve, และ Control) เพื่อระบุและวิเคราะห์ปัญหา และถือเป็นระเบียบวิธีที่ให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมมักจะเปรียบเทียบกระบวนการ Six Sigma DMAIC เป็นเหมือนการต่อภาพตัวต่อ (jigsaw puzzle) ในขั้นตอนการต่อภาพตัวต่อ จะเริ่มจากการนำตัวต่อออกจากกล่องทั้งหมด หงายด้านที่เป็นรูปภาพขึ้นและเริ่มต่อจากส่วนที่เป็นมุมและขอบ จากนั้นต่อภาพจากส่วนกลางโดยการมองภาพเปรียบเทียบที่อยู่บนหน้ากล่อง โดยวิธีนี้จะทำให้การต่อภาพตัวต่อมีประสิทธิภาพที่สุด
เมื่อใช้กระบวนการ Six Sigma DMAIC อย่างถูกต้องจะทำให้กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์มีการปรับปรุงผลให้ดีขึ้นทั้งประสิทธิภาพ (efficient) หรือประสิทธิผล (effective) หรือทั้งสองอย่าง
Six Sigma คือ ชุดเครื่องมือ (Set of Tools)
ผู้ดำเนินกิจกรรม Six Sigma จะใช้เครื่องมือเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเครื่องมือเชิงคุณภาพ ได้แก่ การรับฟังเสียงลูกค้า (Voice of the Customer) การระดมสมอง (Brainstorming) และการลงคะแนนแบบคละ (Multi-voting) ในขณะที่เครื่องมือเชิงปริมาณ ได้แก่ แผนภูมิควบคุม (Control Chart) แผนผังสายธารแห่งคุณค่า (Value Stream Mapping) และ ANOVA
ถ้าคุณเป็นเหมือนผม เครื่องมือที่มีให้ผมเลือกใช้มีมากมาย แต่ผมไม่สามารถใช้เครื่องมือทั้งหมดได้ในหนึ่งโครงงานถึงแม้ว่าผมอยากจะใช้มันก็ตาม ดังนั้นเราจะต้องเลือกเครื่องมือที่ให้สาระข้อมูลและช่วยหาทางแก้ปัญหาได้ เปรียบเหมือนกับการต่อภาพตัวต่อ บางครั้งคุณอาจจะต้องเลิกต่อชิ้นนั้นก่อนเพราะไม่รู้ว่าจะนำมันไปวางไว้ตรงไหนของภาพ และทำการหยิบชิ้นอื่นมาต่อไปเรื่อย ๆ
จงจำไว้ว่า ไม่ใช่เครื่องมือทุกอย่างที่ถูกเลือกมาจะสามารถหาทางแก้ปัญหาใน Six Sigma ได้ แต่ขอให้จำไว้ว่าทางใดที่ไม่ทำให้คุณแย่ไปกว่าเดิมก็ให้เดินตามทางนั้น
Six Sigma คือ ตัวชี้วัด (Metric)
ถึงแม้ว่าคุณต้องการจะให้ได้ตัวชี้วัดที่มีมุมมองที่สอดคล้องกัน ซึ่งตัวชี้วัดใน Six Sigma มักจะเป็นตัววัดที่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถและสมรรถนะ (capability and performance) ของกระบวนการผลิต และตัวชี้วัดเหล่านี้มักจะมีความสัมพันธ์กับค่า Big Y
ตัวชี้วัดที่ถูกเลือกมาจะถูกต้องนั้นต้องขึ้นกับชนิดของข้อมูลของเรา บางครั้งตัวชี้วัดที่ต้องใช้เพื่อให้เหมาะกับข้อมูลแบบนับ หรือบางครั้งเพื่อให้เหมาะกับข้อมูลแบบต่อเนื่อง เปรียบเหมือนกับการตีกอล์ฟที่ต้องเลือกไม้ตีจากถุงกอล์ฟให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่งอาจหมายถึงระยะทางและลักษณะสนาม นักกอล์ฟส่วนมากจะมีไม้กอล์ฟในถุงแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็น หัวไม้หนึ่ง (drivers) ชุดเหล็ก (irons) ชุดเวดจ์ (wedges) และ พัตเตอร์ (putters)
ในบทความส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ แนวคิดของความผันแปรใน Six Sigma และความแตกต่างระหว่างความผันแปรระยะสั้น/ระยะยาว (short/long-term variation) และความแตกต่างระหว่าง/ภายในกลุ่มย่อย (between/within-subgroup variation)
บทความต้นฉบับ : http://blog.minitab.com/blog/quality-business/six-sigma-concepts-and-metrics-part-1
เนื้อหาบทความโดยบริษัท Minitab Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา
แปลและเรียบเรียงโดยสุวดี นําพาเจริญ, บริษัท โซลูชั่น เซ็นเตอร์ จํากัด webadmin@solutioncenterminitab.com
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที