editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 19 ก.ย. 2006 00.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 11802 ครั้ง

บทความพิเศษ
ผศ. ไตรสิทธิ์ เบญจบุณยสิทธิ์


รำลึก “ลุงโง่ย้ายภูเขา”

หลายวันมานี้ การจราจรหน้าปากซอยพัฒนาการ 18 ทางเข้าสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) รู้สึกไหลลื่นกว่าแต่ก่อน สังเกตดูเห็นหลังคาและม้านั่งของป้ายรถเมล์หน้าปากซอยถูกรื้อลงมากองไว้เพื่อย้ายไปยังจุดจอดรถเมล์ใหม่ที่อยู่เลยจากปากซอยไป

                ภาพที่เห็นทำให้หวนรำลึกถึงนิทานของจีนที่ได้ยินได้ฟังจากรุ่นพี่ ๆ สมัยเรียนหนังสือที่ประเทศญี่ปุ่นเรื่อง “ลุงโง่ย้ายภูเขา” ซึ่งพูดถึงลุงคนหนึ่งที่พยายามขุดดินเพื่อย้ายภูเขาที่กีดขวางเส้นทางอยู่ออกไป จนเป็นที่ขบขันของผู้คนที่ผ่านไปมาว่ามันไม่ฉลาดเลย เพราะไม่มีวันสำเร็จ แต่ลุงโง่ก็ไม่สนใจคำพูดถากถาง ได้บอกกับผู้ที่เยาะเย้ยเขาว่า “ถึงแม้มันจะไม่สำเร็จในช่วงชีวิตของเขา แต่ถ้าลูกหลานของเขายังมุ่งมั่นขุดต่อไป สักวันหนึ่งก็คงจะย้ายภูเขาได้สำเร็จ และจะเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้สัญจรได้อย่างมหาศาล”

เรื่องย้ายป้ายรถเมล์นี้ ทางสำนักงาน ส.ส.ท. เคยทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดระเบียบจราจรเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล คณะกรรมการเพิ่งจะมาเห็นประโยชน์ในปีนี้เอง เรื่องนี้อาจจะเปรียบไม่ได้กับความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ของลุงโง่ย้ายภูเขา แต่ก็มีแง่คิดที่น่าจะเป็นประโยชน์คือ เรื่องบางเรื่องแม้อาจจะยุ่งยากลำบาก ไม่มีใครเห็นด้วย  แต่ถ้าผู้รับผิดชอบมีความมุ่งมั่นเหมือนดั่งลุงโง่ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่องานนั้นประสบความสำเร็จในที่สุด

งานหลาย ๆ อย่างใน ส.ส.ท. ก็มีลักษณะลองผิดลองถูก มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าผู้รับผิดชอบท้อแท้ ก็คงล้มเลิกกันไป แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า งานหลาย ๆ อย่างประสบความสำเร็จโดยดีด้วยความมุ่งมั่นของผู้รับผิดชอบ ขอยกตัวอย่างโครงการชินดัง (Shindan) ซึ่งเกิดขึ้นที่ ส.ส.ท. เป็นแห่งแรกในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตกกระจายเมื่อหลายปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักคำว่าชินดังและยังมองไม่ออกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร โชคดีที่ต่อมา JETRO และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มองเห็นความสำคัญและให้ความสนับสนุนโครงการนี้ และใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่าโครงการวินิจฉัยและให้คำปรึกษาสถานประกอบการ จนมีฐานะเป็นฝ่ายหนึ่งของ ส.ส.ท. ในปัจจุบัน

เรื่อง TRIZ (Theory of Inventive Problem Solving) ก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย   แม้ว่าฝ่ายสำนักพิมพ์ ส.ส.ท. จะเคยแปลและจัดพิมพ์ตำราด้าน TRIZ ในชื่อของ 40 หลักการสร้างสรรค์นวัตกรรม เมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีผู้รับผิดชอบไปผลักดันอย่างเต็มที่ หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องใหม่เกินไป ตลาดยังไม่พร้อม คนยังไม่รู้จัก แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ถ้ารอให้ตลาดพร้อม มีคนรู้จักกันมากขึ้น แล้ว ส.ส.ท. ค่อยวิ่งตามตลาด ก็ไม่แน่ใจว่า ถึงเวลานั้น ส.ส.ท. จะสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำทางด้าน TRIZ หรือไม่

เป็นที่น่ายินดีว่าคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันได้มองเห็นความสำคัญของ TRIZ ในฐานะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาในการประดิษฐ์คิดค้น    โดยได้เห็นชอบจัดตั้งเป็นโครงการ TRIZ ขึ้นมา แม้ว่าหนทางข้างหน้าจะไม่แจ่มชัดนัก แต่ ส.ส.ท. ก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่สังคมไทย สมดังที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญ ส.ส.ท. ว่า “ส.ส.ท. เผยแพร่วิทยาการ สร้างฐานเศรษฐกิจ”

หมายเหตุ :  ทางสมาคมฯจะจัดการบรรยายพิเศษ TPA TRIZ Talk  ครั้งที่ 3 ประจำเดือนตุลาคม ในหัวข้อ “ประสบการณ์การใช้ TRIZ ร่วมกับ Six Sigma ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต”  ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ใน TRIZ News ที่ เว็บไซต์ www.tpa.or.th   หรือที่     www.trizthailand.com/elearning

 

 ผศ. ไตรสิทธิ์ เบญจบุณยสิทธิ์


ผู้เชี่ยวชาญระดับ 5 สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที