GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 ธ.ค. 2018 03.58 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1300 ครั้ง

จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) นอกจากจะเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจากศักยภาพของผู้ประกอบการควบคู่กับไปการใช้เทคนิคเฉพาะอย่าง ?การเจียระไนแบบโคชู? (Koshu Precious Stone Carving) และรูปแบบเครื่องประดับที่ไม่ซ้ำกับของที่อื่น ทำให้เกิดการยอมรับในสินค้าเป็นวงกว้างจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของญี่ปุ่นให้เติบโตได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถติดตามเรื่องราวดังกล่าวได้จากบทความ "อุตสาหกรรมเครื่องประดับจากเมืองยามานาชิ"


อุตสาหกรรมเครื่องประดับจากเมืองยามานาชิ

จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) นอกจากจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของญี่ปุ่นแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงและได้การยอมรับจากตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของญี่ปุ่นให้เติบโต

ความเป็นมาของอุตสาหกรรมเครื่องประดับในเมืองยามานาชิ

อุตสาหกรรมเครื่องประดับในเมืองยามานาชิเริ่มต้นขึ้นในราวปี ค.ศ. 1800 จากการทำเหมืองควอรตซ์ที่มี คุณภาพดีและมีความสมบูรณ์ของญี่ปุ่น โดยแร่ควอรตซ์ใส (Rock Crystals) ที่ขุดได้ในพื้นที่จะถูกนำไปเพิ่มมูลค่าโดยการเจียระไนและผลิตเป็นเครื่องประดับออกวางจำหน่าย ส่งผลให้กลายเป็นสินค้าสำคัญของเมืองที่ได้รับความนิยมและทำให้ชื่อเสียงของเมืองยามานาชิเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้มีการนำเอาพลอยสี ไข่มุกและควอรตซ์ประเภทต่างๆ เข้ามาเจียระไนและผลิตเป็นเครื่องประดับตามสไตล์ของยามานาชิด้วย จนสินค้าที่ผลิตได้มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในวงกว้าง  

สภาพการผลิตและการค้าในปัจจุบัน

เมืองยามานาชิเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น โดยช่างฝีมือประจำท้องถิ่น ได้พัฒนาเทคนิคในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับขึ้นมาจนมีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ การเจียระไนอัญมณีแบบโคชู และเทคนิคพิเศษในการผลิตเครื่องประดับด้วยโลหะมีค่า ทั้งนี้ ทุกกระบวนการผลิตของเมืองยามานาชิล้วนอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “Monozukuri” ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและการสร้างสรรค์ผลงานให้มีความโดดเด่นเป็นเลิศจนเกิดคุณค่าและการยอมรับจากผู้บริโภค  

ที่มา : http://www.amarintv.com

“การเจียระไนแบบโคชู” (Koshu Precious Stone Carving) เป็นเทคนิคเฉพาะของเมืองยามานาชิที่แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่นๆ โดยวิธีการเจียระไนดังกล่าวต้องอาศัยประสาทรับรู้ทางเสียงและใช้ปลายนิ้วสัมผัสกับตัวอัญมณีที่นำมาเจียระไน ซึ่งต้องอาศัยช่างฝีมือที่มีความละเอียดรอบคอบ แม่นยำ และมีประสบการณ์สั่งสมมานาน ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการนำเอาอัญมณีมาเจียระไนให้ได้เหลี่ยมมุมที่ต้องการ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่ความมีมิติของเหลี่ยมมุมที่ทำให้เกิดเป็นลวดลายสวยงามเสมือนกับเป็นลวดลายจากธรรมชาติ ถัดจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการขัดโดยนำเอาอัญมณีติดไม้ทวนขัดบนแผ่นไม้เชลโควา (Zelkova Board) ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น เพื่อขัดผิวให้เกิดความเงางามและเปล่งประกาย สำหรับในส่วนของการผลิตเครื่องประดับจากโลหะมีค่าตามแบบฉบับของเมืองยามานาชิ คือ การใช้เทคนิคหล่อตัวเรือนให้ชิ้นงานมีน้ำหนักเบาซึ่งทำได้ยากกว่าการผลิตทั่วไป รวมทั้งมีการออกแบบรูปทรงของชิ้นงานโดยเลียนแบบลวดลายทางธรรมชาติแต่เพิ่มลูกเล่นให้ดูสวยงามแปลกตาขึ้น เป็นต้น

ที่มา : http://www.dooddot.com 

ปัจจุบันเครื่องประดับที่ผลิตจากเมืองยามานาชิมีอยู่หลากหลาย ซึ่งแต่ละประเภทสินค้าล้วนมีจุดเด่นเป็นของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น จนสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับแท้ที่มีสไตล์เรียบง่าย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่แฝงไว้ด้วยลูกเล่นที่ทำให้เกิดความน่าสนใจในชิ้นงาน อัญมณีเจียระไนชนิดต่างๆ ตามเอกลักษณ์การเจียระไนแบบโคชู และหินแกะสลักคามิโอ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ผลิตออกมาจะมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงทำงานในช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งเป็นผู้มีกำลังซื้อและมีค่านิยมชื่นชอบการสวมใส่เครื่องประดับ

สำหรับการค้าเครื่องประดับที่ผลิตจากเมืองยามานาชิพบว่า นอกเหนือจากการค้าส่งเพื่อกระจายสินค้า ออกไปวางจำหน่ายตามหน้าร้านของแบรนด์ต่างๆ ภายในประเทศแล้ว ผู้ประกอบการท้องถิ่นยังดำเนินธุรกิจจำหน่ายโดยตรงภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อาทิ Koo-fu, Sanpoh, Kodama และ Akiyama เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องประดับที่ผลิตได้ยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องประดับเมืองยามานาชิได้พยายามขยายตลาดผู้บริโภคให้กว้างขึ้นไปอีก โดยพยายามเข้ามาประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดยุโรปและตลาดอาเซียน ภายใต้คอนเซปต์เฉพาะตัวที่ยังคงเน้นเครื่องประดับที่มีความเรียบหรูดูเป็นธรรมชาติและแปลกใหม่ ด้วยราคาที่ผู้บริโภคทั่วไปจับต้องได้

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธันวาคม 2561


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที