GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 03 ธ.ค. 2018 04.36 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1307 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.61 หรือมีมูลค่า 10,195.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 11,279.41 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.82 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 6,495.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.85


สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2561

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.61 (ร้อยละ 15.25 ในหน่วยของเงินบาท)  หรือมีมูลค่า 10,195.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (325,646.18 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 11,279.41 ล้านเหรียญสหรัฐ (384,257.01 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.82 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 6,495.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (207,652  ล้านบาท) ซึ่งมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.85 (ร้อยละ 1.15 ในหน่วยของเงินบาท)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

1) สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม ขยายตัวร้อยละ 10.65, ร้อยละ 6.43 และร้อยละ 0.88 ตามลำดับ

2) สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตร้อยละ 5.86, ร้อยละ 4.09 และร้อยละ 7.73 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.23 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 37.68 ในขณะที่ส่งออกเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42, ร้อยละ 1.29, ร้อยละ 0.26 และร้อยละ 7.41 ตามลำดับ

ตลาดหลักรองลงมาเป็นสหภาพยุโรปเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 11.67 เนื่องมาจากการส่งออกไปตลาดหลักใน 3 อันดับแรกอย่างเยอรมนี เบลเยียม และสหราชอาณาจักร ซึ่งขยายตัวร้อยละ 19.34, ร้อยละ 2.89 และร้อยละ 0.90 ตามลำดับโดยการส่งออกไปยังเยอรมนีเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น และเต็มใจที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องประดับ จึงทำให้ไทยส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินไปยังเยอรมนีได้เพิ่มขึ้น ส่วนเบลเยียม นำเข้าเพชรเจียระไนจากไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งจำหน่ายในประเทศและอีกส่วนหนึ่งส่งออกต่อต่างประเทศตามความต้องการบริโภคเพชรเจียระไนของตลาดโลกที่มีเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรที่เติบโตได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินปอนด์ที่ยังคงอ่อนค่า ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง จึงดึงดูดใจผู้มีกำลังซื้อให้ซื้อเครื่องประดับมากขึ้น ไทยจึงส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักไปยังสหราช-อาณาจักรได้เพิ่มสูงขึ้น  

อีกหนึ่งตลาดหลักส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 15.12 ที่แม้ว่าในไตรมาสที่ 3 จะมีบางตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แผ่วลงไปบ้าง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงสดใส ชาวอเมริกันจึงมีความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในทิศทางบวก และเติบโตสูงในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 (ผลสำรวจของ Conference Board) มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไน

สำหรับตลาดส่งออกที่โดดเด่นและเติบโตได้ดีต่อเนื่องคือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดได้สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และคูเวต ตลาดในอันดับ 2, 3, 4, 5 และ 6 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอลเป็นเพชรเจียระไน ส่วนสินค้าหลักส่งออกไปยังกาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และคูเวต เป็นเครื่องประดับทอง ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 1 ปรับตัวลดลง เนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญรองลงมาได้ลดน้อยลงมาก ในขณะที่การส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักยังสามารถเติบโตได้

อาเซียนก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ขยายตัวได้ จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในภูมิภาคนี้ โดยสินค้าส่งออกหลักเป็นเครื่องประดับเทียม ซึ่งเติบโตได้ดีจากการขับเคลื่อนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบสินค้าแฟชั่น อีกทั้งไทยยังสามารถส่งออกไปยังเวียดนาม ตลาดในอันดับ 3 ได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเวียดนามคือ อัญมณีสังเคราะห์ รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน และโลหะเงิน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนการส่งออกไปยังมาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 2 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับทองได้ลดลงมาก

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

3 ธันวาคม 2561


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที