ศึกทางการค้าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกระหว่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจในอันดับ 1 และจีน อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก กำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อและขยายวงกว้างมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจของโลกที่กำลังฟื้นตัวหยุดชะงักลงได้ และแน่นอนว่าจะกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอย่างไรนั้น ติดตามได้ในบทความนี้
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา – จีน
จุดเริ่มต้นของสงครามการค้ามาจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการจะลดการขาดดุลการค้ากับประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในระดับสูง ซึ่งการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เกือบครึ่งหนึ่งของยอดขาดดุลการค้าทั้งหมดเป็นการค้าขายกับจีน จึงทำให้จีนเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการลดการขาดดุลการค้า โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวอ้างว่าจีนดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้จีนเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการค้าใหม่ ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น หากจีนไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า (ไม่มีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) เพิ่มขึ้นอย่างเป็นทางการจากจีนในอัตราร้อยละ 25 ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้รวมมูลค่ากว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนจีนก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในแบบเดียวกันกับสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีรายละเอียดดังตารางด้านล่างนี้
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างสหรัฐฯ และจีน
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับ 2 ของจีน (รองจากฮ่องกง) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าเฉลี่ย 3,970.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 70 เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน ตามลำดับ ในขณะที่จีนมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพียง 379.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้านำเข้าหลักเป็นโลหะเงิน ในสัดส่วนราวร้อยละ 30 รองลงมาเป็นของอื่นๆ ทำหรือหุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับทอง ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากจีนไปยังสหรัฐฯ มีอัตราต่ำสุดคือ ร้อยละ 0 และอัตราสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 17.9 โดยสรุปได้ดังตารางด้านล่างนี้
ผลกระทบต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยนอกจากสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าต่างๆ จากจีนแล้ว สหรัฐฯ ยังเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าประเภทอื่นกับประเทศอื่นด้วย โดยอ้างว่ามีการทุ่มตลาดในสินค้าเหล่านั้นจนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ได้แก่ เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป จากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เป็นอัตราร้อยละ 25 สำหรับสินค้าเหล็ก และร้อยละ 10 สำหรับสินค้าอะลูมิเนียม อีกทั้งยังเรียกเก็บภาษีนำเข้าหนังยางรัดของไทยจากเดิมอัตราร้อยละ 0 เป็นร้อยละ 5.86 เป็นต้น แต่ยังไม่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแต่อย่างใด
สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไรบ้างนั้น ในที่นี้จะขอสรุปสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. หากจีนยังคงไม่ทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ทรัมป์ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีกเป็นมูลค่าราว 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั่นหมายความว่าสินค้าจากจีนที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับด้วย โดยมีแนวโน้มจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดร้อยละ 25 เฉกเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว
เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอันดับ 2 ของจีน และสหรัฐฯ ก็ขาดดุลการค้าสินค้านี้กับจีน โดยในปี 2560 สหรัฐฯ เสียดุลการค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้กับจีนเป็นมูลค่า 3,084.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้น หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากจีนเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้สินค้านำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้าชาวสหรัฐฯ อาจจะหันมานำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยแทน เพราะด้วยสินค้าของไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดสหรัฐฯ อยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะทำให้ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจนำเข้าจากไทยแทนจีนมาขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นจากสถิติการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม- กันยายน 2561 ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15 ในขณะที่นำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5
2. หากจีนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลง ก็อาจนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้ากึ่งวัตถุดิบอย่างพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดจีน ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับส่งออกไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่ ซึ่งถ้าสหรัฐฯ ลดการนำเข้าเครื่องประดับจากจีนลง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าพลอยสีของไทยที่ส่งไปสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตเครื่องประดับของจีนให้ลดลงได้
3. หากสหรัฐฯ พิจารณาขึ้นภาษีสินค้านำเข้าประเภทอื่นๆ กับประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า สหรัฐฯ ก็อาจเรียกเก็บภาษีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นหนึ่งในสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า โดยในปี 2560 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมเป็นมูลค่า 6,083.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเสียดุลการค้าสินค้านี้ให้กับไทยคิดเป็นมูลค่า 881.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าและประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ไทยก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
แม้ว่าปัจจุบันไทยจะได้รับการต่อสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปลายปี 2563 ทำให้การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ มีอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 เกือบทุกรายการ ยกเว้นพิกัด 7113.11.50[1] และพิกัด 7113.19.50[2] ที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5.0 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ พร้อมจะยกเลิกหรือตัดสิทธิ GSP ได้ตลอดเวลา หากเห็นว่าประเทศตนเสียเปรียบจนขาดดุลการค้าตามนโยบายของทรัมป์ เห็นได้จากกรณีการทบทวนการให้สิทธิ GSP เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยจำนวน 11 รายการ[3] และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป หากสหรัฐฯ ยังคงใช้เกณฑ์การพิจารณาตัดสิทธิ GSP จากการนำเข้าสินค้าเกินมูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยอาจถูกตัดสิทธิ GSP ได้ในอนาคต เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ เฉลี่ยปีละราว 1,290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็จะทำให้สินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ เสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้านำเข้าก็จะปรับสูงขึ้น น่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องการอัญมณีและเครื่องประดับนำเข้าลดลง ผู้นำเข้าจึงอาจสั่งซื้อสินค้าจากไทยลดลง
4. หากสงครามการค้ายืดเยื้อและขยายวงกว้างมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วจะบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าสงครามการค้าจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายปี และนอกเหนือจากการตอบโต้กันด้วยภาษีแล้ว ทางการจีนอาจใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีร่วมด้วย อาทิ เพิ่มเงื่อนไขและกีดกันธุรกิจของสหรัฐฯ ในจีน ลดค่าเงินหยวน หรือการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนถือครองอยู่หลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (จีนเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก) เป็นต้น นอกจากนี้ จีนได้ยื่นเอกสารฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ได้ขู่ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก WTO ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้ความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุนของโลกลดลง และอาจนำไปสู่การฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกได้ในที่สุด และเนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ฉะนั้น การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับผลกระทบดังกล่าวทำให้ส่งออกไปยังตลาดโลกได้น้อยลง
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงอาจสรุปได้ว่า ในระยะสั้นไทยจะได้รับทั้งผลดีและผลเสียจากสงครามการค้า โดยผลดีที่ไทยจะได้รับนั้นอาจทำให้มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะสหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนจีน ในขณะเดียวกันไทยก็จะได้รับผลเสียทำให้ไทยอาจส่งออกพลอยสีไปยังจีนได้ลดลง เพราะจีนน่าจะส่งออกเครื่องประดับไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ได้น้อยลง ก็จะลดการนำเข้าสินค้ากึ่งวัตถุดิบอย่างพลอยสีที่จะนำไปประกอบเป็นเครื่องประดับจากไทยลดลงตามไปด้วย แต่ในระยะยาวไทยจะได้รับผลกระทบในทางลบเพียงอย่างเดียว หากสงครามการค้ายืดเยื้อและทวีความรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังตลาดโลกก็อาจเติบโตในอัตราลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บริหารสต๊อกวัตถุดิบและสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้สร้างโอกาสทางการค้าได้ถูกจังหวะเวลา รวมถึงกระจายความเสี่ยงด้วยการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2561
[1] เครื่องประดับเงินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าโหล/ชิ้นละ 18 เหรียญสหรัฐ
[2] เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม
[3] ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม มะละกอแปรรูป แผ่นไม้ปูพื้นเครื่องพิมพ์ เครื่องซักผ้า และขาตั้งกล้องถ่ายรูป โดย 10 รายการมีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 และ อีกหนึ่งรายการ คือ เครื่องซักผ้ามีมูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที