Meditate

ผู้เขียน : Meditate

อัพเดท: 13 ก.พ. 2008 14.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 100719 ครั้ง

ภัยธรรมชาติ หมายถึง ภัยอันตรายต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์

ซึงในปัจจุบันได้เกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้น รวมทั้งมีความรุนแรงมากขึ้น จึงขอรวบรม มาให้เป็นข้อมูล สถิติ เพื่อพิจารณาสังเกต ในการเตรียมพร้อม สำหรับการบริหาร ตนเอง กิจการ และอื่นๆ


สวทช. จับมือเอกชนสร้างโปรดักส์ “เซลล์แสงอาทิตย์” ต้นทุนต่ำที่สุดในโลก !

สวทช. จับมือเอกชนสร้างโปรดักส์ “เซลล์แสงอาทิตย์” ต้นทุนต่ำที่สุดในโลก ! ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แต่ความสามารถในการผลิตของประเทศมีอยู่เพียง 20,000 MWp ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าพลังความร้อนหรือไฟฟ้าพลังน้ำ แต่สิ่งที่เราใช้กันมากที่สุดคือไฟฟ้าพลังความร้อน (เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง) คิดเป็นร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ทำให้ประเทศชาติเกิดปัญหาการขาดดุลการค้าขึ้น ดังนั้นการพยายามหาพลังงานอื่นเพื่อมาทดแทน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบัน ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์หรือ “โซลาร์เซลล์” คือทางเลือกที่ค่อนข้างเหมาะสมที่สุดในภูมิอากาศของไทย การผลิตเพื่อลดการนำเข้าจึงเป็นนโยบายของประเทศเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าดังกล่าว ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมีอยู่ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ก็ยังมีภาคครัวเรือน ซึ่งในแต่ละปีเพิ่มขึ้นสูงมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน และค่าไฟฟ้าก็ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความคิดว่าถ้าประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ได้เองและมีราคาถูก รวมถึงเป็นโปรดักส์ที่สามารถส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม “เราเริ่มโครงการในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งขณะนั้นน้ำมันยังไม่แพงเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ อีกทั้งขณะนั้นยังไม่มีบริษัทที่สามารถผลิตโซลาร์เซลล์ได้เลยในประเทศไทย ทางโครงการฯ ได้เขียนโปรเจคนี้เสนอรัฐบาล จึงได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 120 ล้านบาท และเป็นส่วนของศูนย์ฯ เองอีก 60 ล้านบาท จากนั้นเราก็เริ่มผลิตแผงขึ้นมาทั้งหมด 600 แผง เพื่อเป็นต้นแบบ ซึ่งแล้วเสร็จไปในปีที่แล้ว และได้ส่งมอบให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน นำไปติดตั้งใช้งานกับสถานีอนามัย 16 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว” การพัฒนาการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ของศูนย์ฯ เป็นกระบวนการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตวัสดุสำหรับทำโซลาร์เซลล์ คือ EVA หรือโพลิเมอร์กันความชื้นจากภายนอก กระจกเคลือบสารตัวนำไฟฟ้า การพัฒนาประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ที่รู้จักกันคือแบบฟิล์มหนาและฟิล์มบาง โดยทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาประสิทธิภาพของฟิล์มบางที่เหมาะกับการใช้งานในไทยมากที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการประยุกต์การใช้งานโซลาร์เซลล์ โดยนำมาผลิตเป็นชุดผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนอีกด้วย การพัฒนาประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ด้วยการเลือกใช้ Thin Film (ฟิล์มบาง) ที่ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากจะทำให้ต้นทุนต่ำแล้ว การลดประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็จะมีน้อย จึงทำให้อุณหภูมิไม่มีผลต่อประสิทธิภาพเหมือนแบบฟิล์มหนา ซึ่งประสิทธิภาพของการใช้งานต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นหลัก คือเมื่อโซลาร์เซลล์ได้รับความร้อนจากแสงแดด ตัวแผงจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง และยิ่งอุณหภูมิสูงมากเท่าใดประสิทธิภาพก็จะลดลงมากเท่านั้น ความจริงดังกล่าวทำให้ทางศูนย์ฯ พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับแสงที่มีอยู่เพียง 7% ให้เพิ่มขึ้นเป็น 14% ภายใน 5 ปีนี้ (พ.ศ. 2549-2553) ปัจจุบัน ทางศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบางประสิทธิภาพสูงที่มีต้นทุนต่ำให้กับบริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ต้องการเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าที่ 7% ไปใช้งาน รวมถึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อน (Photovoltaic/Thermal, PVT) ให้กับบริษัทเอกชนไปแล้ว 7 ราย คือ บริษัท อาร์.ดี.เทค แอนด์ เอนเนอจี จำกัด บริษัทแสงมิตร อิเลคตริค จำกัด บริษัท รุ่งฟ้าอิเลคตริค จำกัด บริษัท สยามพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำกัด บริษัท ไทย-เอเยนซี เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด บริษัทลีโอนิคส์ จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ เทอร์โมโซลูชั่น จำกัด อย่างกรณีของบริษัทบางกอกโซลาร์ฯ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปนั้น ทางศูนย์ฯ ได้เงินจากค่า Disclosure fee ส่วนหนึ่ง และได้จากค่า Royalty fee 2% ของยอดขาย ขณะนี้ บางกอกโซลาร์ สามารถทำรายได้จากการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 1,200 ล้านบาท และในปีนี้ก็จะมีการลงทุนเพิ่มเป็น 50 เมกะวัตต์ ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปีและเป็นการส่งออก 100% รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ศูนย์ฯ จะร่วมทุนด้วยในปีนี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ สำหรับตลาดพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์มีอัตราการเติบโต 40% ต่อปี และในปี 2553 คาดว่าความสามารถในการผลิตโซลาร์เซลล์จะสูงถึง 7 กิกกะวัตต์/ปี ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7 โรง ส่วนด้านประสิทธิภาพในการผลิตของไทยขณะนี้อยู่ที่ 10% ซึ่งไม่แตกต่างจากผู้ผลิตในต่างประเทศแต่อย่างใด “ตอนนี้สิ่งสำคัญที่ผมพยายามโฟกัสก็คือ ตัวโปรดักส์และลูกค้า เพราะหากไม่มีสองสิ่งนี้เราจะไม่สามารถทำวิจัยต่อไปได้ โซลาร์เซลล์ คือโปรดักส์ที่เราต้องตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ตรงนี้เราจะไม่มองในด้านการเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์เพียงอย่างดียว แต่ต้องมองว่าเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ โดยเราอาจจะเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศโดยตรง และทำให้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่สามารถหาซื้อได้ง่ายเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป” รอง ผอ.ศูนย์ฯ กล่าวย้ำอีกว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของโซลาร์เซลล์เต็มร้อย เพราะเราสามารถพัฒนาได้เองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการผลิต เครื่องจักร วัสดุ เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่ขาดอยู่ในขณะนี้ก็คือ ความกล้าของเอสเอ็มอีไทยที่จะร่วมกันสร้างโปรดักส์เพราะยังมีความคิดว่าเซลล์แสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงหากเอสเอ็มอีลองเปิดใจและศึกษาความเป็นไปได้ โอกาสที่เอสเอ็มอีไทยจะเป็นจ้าวในการผลิตโซลาร์เซลล์ก็มีความเป็นไปได้สูง จากความจำเป็นหลายปัจจัยในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยหันมาผลิตโซลาร์เซลล์ดังกล่าว รอง ผอ.ศูนย์ฯ จึงได้นำเสนอการตัดพีคด้วยโซลาร์เซลล์ 10% ภายใน 15 ปีไว้ว่า ในปี 2564 คาดการณ์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึงอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 เมกะวัตต์ 10% ของพีคก็คือ 5,000 เมกะวัตต์ จะเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ “ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าชนิด TOU คือ ประมาณ 5 บาท/ยูนิต เทียบกับโซลาร์เซลล์คือ 10-12 บาท/ยูนิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบด้วย แต่ถ้าเราทำต้นทุนตรงนี้ให้ต่ำลงมาเท่ากับราคาของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ตามปกติได้ ซึ่งปัจจุบันแพงกว่าอยู่ 2 เท่า ก็จะคุ้มค่าต่อการใช้งาน เราก็เลยมีแผนที่จะลดราคาระบบตรงนี้ให้เหลือครึ่งหนึ่งนับจากปี 2549 เป็นต้นไป และจะมีต้นทุนต่ำที่สุดในโลก เนื่องจากเรามีราคาต้นทุนของเครื่องจักรที่ถูก ลงทุนไม่มาก แต่สามารถผลิตได้เยอะ ซึ่งเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วเครื่องจักรของเราต้นทุนต่ำกว่ามาก ” ประเทศที่มีการใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลกขณะนี้คือประเทศเยอรมนี แซงขึ้นหน้าประเทศญี่ปุ่นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตามมาด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา และหากแผน 5 ปี ของศูนย์ฯ ที่จะสร้างประวัติศาสตร์การผลิตโซลาร์เซลล์ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในโลกเป็นจริงขึ้นมา ไม่แน่ถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจจะมีชื่ออยู่ในประเทศที่ใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลกก็เป็นไปได้ เอสเอ็มอีท่านใดมีความสนใจในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1619 หรือ E-mail: thana@tmc.nstda.or.th หรือpakorn@tmc.nstda.or.th

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที