การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.19 (ร้อยละ 13.43 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 7,893.07 ล้านเหรียญสหรัฐ (250,839.82 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 8,414.09 ล้านเหรียญสหรัฐ (289,763.89 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.67 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,855.28 ล้านเหรียญ-สหรัฐ (154,311.30 ล้านบาท) เติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.83 (ลดลงร้อยละ 0.58 ในหน่วยของเงินบาท)
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
1) สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.57, ร้อยละ 3.60 และร้อยละ 2.51 ตามลำดับ
2) สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 5.94 , ร้อยละ 1.98 และร้อยละ 7.77 ตามลำดับ
ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 26 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.65 จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 4.55, ร้อยละ 1.65 และร้อยละ 42.83 ตามลำดับ ตลาดหลักลำดับถัดมา คือ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวได้ร้อยละ 11.30 และร้อยละ 13.71 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้ง 2 ตลาดปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่สำคัญคือเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนสินค้าหลักส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไน
ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.47, ร้อยละ 14.10, ร้อยละ 13.96, ร้อยละ 3.79, ร้อยละ 12.40 และร้อยละ 24.14 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นเครื่องประดับทองที่เติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 26.89 ส่วนสินค้าส่งออกหลักราวครึ่งหนึ่งไปยังจีนเป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ต่างขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลัก รวมถึงเครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับเงิน สินค้ารองลงมาได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังอาเซียนที่เติบโตได้นั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเทียม ซึ่งเป็นสินค้าหลัก และเครื่องประดับทอง สินค้าลำดับถัดมาได้เพิ่มสูงขึ้น สำหรับการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด และคาซัคสถาน ตลาดในอันดับ 3 ได้สูงขึ้นร้อยละ 60.45 และร้อยละ 22.19 ตามลำดับ
------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที