กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยราว ร้อยละ 7 ต่อปี (Asian Development Bank, 9 May 2018) จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้กัมพูชามีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น และชาวกัมพูชามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ค่านิยมการบริโภคทองคำและเครื่องประดับทองของชาวกัมพูชายังคงไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอน การถือครองทองคำและเครื่องประดับทองจะเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงที่สุด จึงทำให้ชาวกัมพูชามีความต้องการทองคำและเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นในทุกยุคทุกสมัย
ความนิยมสะสมทองคำและเครื่องประดับทองของชาวกัมพูชา
แม้ว่าในปัจจุบันระบบการเงินและการเมืองในประเทศกัมพูชาจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ชาวกัมพูชาก็ยังไม่มีความเชื่อมั่นในสกุลเงินเรียล และเชื่อว่าทองคำคือการออมที่ดีที่สุดที่จะช่วยรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ ชาวกัมพูชาโดยทั่วไปเมื่อมีรายได้มากขึ้นหรือเกินจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็มักจะซื้อทองคำและเครื่องประดับทองทั้งเก็บสะสมไว้ที่บ้านและนำไปฝากไว้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารที่รับฝากทองคำคือ Canadia Bank Plc. ธนาคารร่วมทุนระหว่างบริษัทสัญชาติแคนาดากับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา นับเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสาขาอยู่ทั่วประเทศกว่า 50 สาขา โดยบัญชีเงินฝากในธนาคารแห่งนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำในรูปของทองคำ รองลงมาเป็นบัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมสะสมทองคำของชาวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ชาวกัมพูชายังนิยมเก็งกำไรจากการลงทุนในทองคำมากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นการซื้อทองคำแท่งจากบริษัทผู้ค้าทองคำในช่วงราคาต่ำ และนำไปขายคืนให้แก่ผู้ค้าเดิมในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น สำหรับชาวกัมพูชาบางส่วนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสนใจการซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) จึงทำให้มีบางบริษัทเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดนี้ และได้เปิดให้บริการซื้อ-ขายทองคำออนไลน์และซื้อขายทองคำล่วงหน้า อาทิ บริษัท Golden FX Link Capital Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนบริษัทด้วยเงินทุน 5 ล้านเหรียญสหรัฐในกัมพูชาและได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2559 ในส่วนของเครื่องประดับทอง
ชาวกัมพูชายังคงนิยมซื้อเครื่องประดับทอง 24 กะรัต เพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์และสวมใส่ในเทศกาลหรือโอกาสสำคัญเพื่อแสดงฐานะ และนิยมซื้อเครื่องประดับทอง 18 กะรัต และ 14 กะรัต สไตล์อิตาลีสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และมอบเป็นของขวัญให้แก่คนพิเศษ
การนำเข้าทองคำของกัมพูชา
แม้ว่ากัมพูชาจะมีเหมืองทองในประเทศ หากแต่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและยังไม่มีข้อมูลปรากฎแน่ชัดว่าปริมาณทองคำที่ขุดได้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์มากน้อยแค่ไหน และหากบริษัทเหล่านั้นขุดทองคำได้ก็มักส่งออกไปหลอมเป็นทองคำแท่งในต่างประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าทองคำเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการนำเข้าทองคำของกัมพูชาเติบโตในแนวบวก ซึ่งในปี 2560 กัมพูชานำเข้าทองคำรวม 2,952 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงกว่า 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากสิงคโปร์สูงที่สุด ด้วยมูลค่านำเข้าสูงถึง 2,110 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนในปี 2559 และนำเข้าจากไทยในลำดับถัดมาด้วยมูลค่าราว 842 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 28.50 โดยการนำเข้าทองคำส่วนใหญ่เพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์ ออมแทนเงินสด และการเก็งกำไร อีกส่วนหนึ่งนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับทอง ทั้งนี้ การนำเข้าทองคำจากทุกประเทศไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงทำให้การนำเข้าทองคำเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับบริษัทในกัมพูชาที่จะนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ รวมทั้งการซื้อ-ขายทองคำในประเทศจะต้องจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) และขอใบอนุญาตการค้าสินค้าเกี่ยวกับทองคำกับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia) โดยบริษัทผู้ค้าและนำเข้าทองคำรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชาคือ Ly Hour Exchange ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นที่รู้จักรายอื่นๆ อาทิ Liberty Gold (Cambodia) Import Export Co., Ltd และ Ly Heng Money Exchange เป็นต้น ทั้งนี้ ในกัมพูชามีผู้จดทะเบียนค้าทองคำและเครื่องประดับทั่วประเทศเกือบ 4,000 ราย โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการในกรุงพนมเปญ
การผลิตเครื่องประดับทองของกัมพูชา
การนำเข้าทองคำส่วนหนึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับทอง ซึ่งกิจการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน ที่มักเปิดเป็นร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองและมีช่างฝีมือของตนเอง โดยเน้นงานที่ทำด้วยมือเป็นหลัก และมีรูปแบบเครื่องประดับที่เรียบง่าย
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการผลิตเครื่องประดับทองนับร้อยรายตั้งอยู่ย่านตลาดโอลิมปิก (Olympic) และตลาดใหม่พซาทะไม (Psah Thmey หรือ Central Market) ซึ่งส่วนมากเป็นรายเล็กและมีช่างทำเครื่องประดับทองประมาณ 1-5 คน มีเพียงส่วนน้อยที่มีช่างทำเครื่องประดับทองประมาณ 10-20 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตทองรูปพรรณ 24 กะรัต บางรายผลิตเครื่องประดับทอง 18 กะรัตสำหรับใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งด้วยอัญมณีต่างๆ และมีบางรายผลิตเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ต่ำกว่า 9 กะรัต (ผสมโลหะเงินหรือโลหะอื่นๆ ในสัดส่วนสูง) รวมถึงมีการนำเครื่องประดับเงินมาชุบทองคำอีกด้วย ส่วนเครื่องประดับทองขาวและทองสามกษัตริย์สไตล์อิตาลีส่วนใหญ่นำเข้าผ่านฮ่องกง และสิงคโปร์
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางแผนการเป็นประเทศผู้ผลิตและจัดหา (Supplier) อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาเซียนในอนาคตอันใกล้ จึงเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ในฐานะที่ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จึงได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งดึงดูดให้บริษัทจากต่างประเทศเริ่มเข้าไปตั้งบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับในกัมพูชาเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท Hong Kong Jewelry Cambodia Company Limited บริษัทร่วมทุนชาวฮ่องกงกับกัมพูชาซึ่งผลิตและจัดหาเครื่องประดับเพชร เครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
การนำเข้าเครื่องประดับทองของกัมพูชา
ในอดีตตลาดเครื่องประดับทองของกัมพูชามีเพียงผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ผลิตเครื่องประดับทองด้วยลวดลายเรียบง่าย และแต่ละรายมีมาตรฐานแตกต่างกัน หากแต่สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก แต่เนื่องจากในปัจจุบันชาวกัมพูชาให้ความสนใจกับสินค้าสวยงามทันสมัยได้มาตรฐาน และมีทางเลือกเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ค้าชาวกัมพูชาบางรายนำเข้าเครื่องประดับทองจากต่างประเทศเข้าไปจำหน่าย รวมถึงบริษัทต่างชาติเข้าไปตั้งบริษัทจำหน่ายเครื่องประดับมากขึ้น อาทิ Lukfook Jewellery Cambodia บริษัทชั้นนำจากฮ่องกงที่เข้าไปตั้งร้านจำหน่ายเครื่องประดับเพชรและเครื่องประดับทองในกรุงพนมเปญ เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตในประเทศเริ่มปรับตัวพัฒนาการผลิตสินค้าเครื่องประดับให้สามารถตอบสนองลูกค้ายุคใหม่ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 กัมพูชานำเข้าเครื่องประดับทองด้วยมูลค่า 22.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงกว่า 1.49 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2559 โดยสิงคโปร์ เป็นแหล่งนำเข้าที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดด้วยมูลค่านำเข้า 11.41 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 9.09 เท่า รองลงมาเป็นไทย ด้วยมูลค่านำเข้า 8.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตกว่า 2.13 เท่า ตามด้วยฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 1.83 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 57.57 โดยการนำเข้าเครื่องประดับทองจากประเทศในอาเซียนมีภาษีเป็น 0 หากนำเข้าจากประเทศนอกอาเซียนจะมีภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งไม่ว่าจะนำเข้าจากในหรือนอกประเทศอาเซียนจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าสินค้าร้อยละ 10 ดังนั้น เครื่องประดับทองจากประเทศในอาเซียนจะมีโอกาสในตลาดกัมพูชามากกว่าเครื่องประดับทองจากประเทศนอกอาเซียน อีกทั้งการขนส่งภายในอาเซียนก็ทำได้สะดวกกว่าและถูกกว่าด้วย
การซื้อขายทองคำและเครื่องประดับทองในกัมพูชา
โดยปกติราคาทองคำในกัมพูชามักอ้างอิงตามราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดลอนดอนจากประกาศราคากลางของ London Bullion Market Association (LBMA) สำหรับการซื้อขายทองคำในกัมพูชานั้น จะใช้หน่วยวัดน้ำหนักเป็น ชิ (Chi) และตำลึง (Domlung) ซึ่ง 10 ชิเท่ากับ 1 ตำลึง และ 1 ตำลึงเท่ากับ 1.2 ทรอย-ออนซ์ หรือเท่ากับ 37.49 กรัม ดังนั้น 1 ชิ มีค่าเท่ากับ 3.749 กรัม ส่วนการระบุค่าความบริสุทธิ์ของทองคำนั้น จะระบุเป็นส่วนในพันส่วน เช่น ทองคำ 24 กะรัต หมายถึงทองคำที่มีค่าความบริสุทธ์ 99.999% เป็นต้น
ทั้งนี้ ชาวกัมพูชานิยมซื้อเครื่องประดับทอง 24 กะรัต หรือภาษากัมพูชาเรียกว่า “Tuk Dorp Meas” ซึ่งเมื่อลูกค้าซื้อทองคำแท่งหรือเครื่องประดับทองแล้ว ร้านค้าจะออกใบเสร็จรับเงินพร้อมกับใบรับรองที่ระบุประเภทและน้ำหนักของสินค้า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะต้องเก็บไว้ใช้ในการขายคืนให้กับร้านค้า โดยทั่วไปเมื่อมีการขายคืนเครื่องประดับทองล้วน ผู้ขายจะถูกหักราคาประมาณ 5-10 เหรียญสหรัฐ (ค่ากำเหน็จ) ส่วนการขายคืนทองคำแท่งจะได้รับเงินตามราคากลางที่ประกาศในวันนั้นๆ
สำหรับแหล่งค้าทองคำและเครื่องประดับทองส่วนใหญ่อยู่ในกรุงพนมเปญ โดยมีศูนย์การค้าทองคำและเครื่องประดับทองอยู่ที่ตลาดโอลิมปิก นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อทองคำและเครื่องประดับทองในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ได้ด้วย อาทิ ตลาดใหม่พซาทะไม ตลาดรัสเซีย (Russian Market) และ NGO Stores เป็นต้น ซึ่งเครื่องประดับทองที่วางจำหน่ายในตลาดเหล่านี้ส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ตั้งแต่ 14 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ต่ำกว่า 14 กะรัตลงมามักจะวางจำหน่ายในตลาดเก่า (Old Market หรือ Phsar Chas)
โอกาสของทองคำและเครื่องประดับทองในกัมพูชาสดใส
ปัจจุบันกัมพูชามีผู้มีกำลังซื้ออยู่ประมาณร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรที่มีอยู่ราว 15 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจากความนิยมสะสมทองคำและเครื่องประดับทองดังเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็น่าจะทำให้ตลาดทองคำและเครื่องประดับทองของกัมพูชายังสามารถเติบโตต่อไปได้อีกหลายสิบปี และเนื่องจากกัมพูชาต้องพึ่งพาการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ จึงยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าทองคำ ซึ่งถือเป็นโอกาสทองของผู้ค้าทองคำจากต่างประเทศที่จะส่งทองคำเข้าไปขายในกัมพูชาได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของเครื่องประดับทองนั้น เนื่องจากชาวกัมพูชายุคใหม่ชื่นชอบสินค้าสวยงามทันสมัยและสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าเครื่องประดับทอง หากแต่ชาวกัมพูชาก็ยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้านี้อยู่มาก ส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องประดับทองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากสถิตินำเข้าในปี 2560 ที่การนำเครื่องประดับทองเติบโตสูงถึง 1.49 เท่า อย่างไรก็ดี เครื่องประดับทองจากประเทศในอาเซียนจะได้เปรียบในตลาดกัมพูชามากกว่าจากประเทศนอกอาเซียน เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จึงถือว่ามีโอกาสสดใสในตลาดนี้
นอกจากนี้ กัมพูชายังมีแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งยังมีค่าจ้างที่ต่ำ และพร้อมเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาฝีมือ ประกอบกับรัฐบาลวางแผนเป็นประเทศผู้ผลิตและจัดหา (Supplier) อัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาเซียน จึงเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงกัมพูชาได้รับสิทธิ์ GSP ในฐานะที่ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาจากประเทศพัฒนาแล้ว เหล่านี้นับเป็นข้อได้เปรียบของกัมพูชาที่จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้าไปเปิดบริษัทผลิตและจัดหาเครื่องประดับทองในกัมพูชามากขึ้น อันอาจทำให้กัมพูชากลายเป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ผลิตและจัดหาเครื่องประดับทองชั้นนำของอาเซียนได้ในอนาคต
-------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที