สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2561
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2561 มีมูลค่าเติบโต ร้อยละ 1.21 (ลดลงร้อยละ 7.74 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 7,019.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (221,886.91 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 6,935.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (240,498.91 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.80 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้สูงขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,320.70 ล้านเหรียญสหรัฐ (136,599.49 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.92 (ลดลงร้อยละ 2.31 ในหน่วยของเงินบาท)
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 10.82, ร้อยละ 0.32 และร้อยละ 3.13 ตามลำดับ
2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 3.95, ร้อยละ 0.40 และร้อยละ 8.14 ตามลำดับ
ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ตลาดหลักที่มีสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 27 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.75 จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 0.83, ร้อยละ 5.87 และร้อยละ 2.85 ตามลำดับ ตลาดหลักลำดับถัดมา คือ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เติบโตได้ต่อเนื่องร้อยละ 11.11 และร้อยละ 9.25 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของทั้ง 2 ตลาดดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น ซึ่งมีผลให้ไทยส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยสีไปยังสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกานั้น สินค้าหลายรายการขยายตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้าถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง อีกทั้งพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไนก็เติบโตสูงขึ้นด้วย
ส่วนตลาดอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 14.49 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคชาวตะวันออกกลางมีกำลังซื้อสูง และส่วนใหญ่ชื่นชอบเครื่องประดับทองซึ่งในปัจจุบันมีราคาถูกลง เนื่องจากราคาโลหะทองคำปรับตัวลดลงมาก ประกอบกับชื่นชอบในคุณภาพและความสวยงามของสินค้าไทย จึงทำให้มีความต้องการเครื่องประดับทองจากไทยเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการส่งออกไปยังอินเดีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.39 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของอินเดียขยายตัวดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางและคู่แต่งงาน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นิยมเครื่องประดับเพชรมากขึ้น ส่งผลให้มีการนำเข้าเพชรเจียระไนจากไทยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับเพชรทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่อต่างประเทศ
การส่งออกไปยังจีนที่เติบโตได้นั้น เนื่องมาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน สินค้าหลักในสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.11, 3.44 เท่า และร้อยละ 6.43 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนที่ขยายตัวนั้น เนื่องมาจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 61 และเวียดนาม ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ได้สูงขึ้น โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสิงคโปร์เป็นเครื่องประดับเทียม ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ เพชรเจียระไน และโลหะเงิน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนการส่งออกไปยังมาเลเซีย ตลาดในอันดับ 2 หดตัวลงจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินได้ลดลง
สำหรับการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ยังคงเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน ซึ่งเป็นตลาดหลักใน 3 อันดับแรกของไทยในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มสูงขึ้น
------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที