GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 ส.ค. 2018 06.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8703 ครั้ง

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งผลิตเครื่องถมที่สำคัญของไทย โดยมีการสืบสานทางภูมิปัญญาอยู่คู่กับแผ่นดินไทยมานานกว่าร้อยปี ปัจจุบันยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้นิยมค่อนข้างมาก เพราะมีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์และมีความหลากหลายของรูปแบบสินค้าที่สามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ชนิดต่างๆ หรือเครื่องประดับ ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องถม ตั้งแต่ประเภทเครื่องถม กรรมวิธีการผลิต ตลอดจนการค้าในปัจจุบันได้จากบทความ ?ถมนคร? ภูมิปัญญาแห่งนครศรีธรรมราช


ถมนคร ภูมิปัญญาแห่งนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยที่ปรากฏความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม มาแต่ครั้งอดีต เนื่องจากเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าของหัวเมืองใต้ จึงรับเอาวัฒนธรรมและความเจริญจากภายนอกเข้ามา โดยเครื่องถมถือเป็นหลักฐานความเจริญทางภูมิปัญญาของชาวนครศรีธรรมราชที่เป็นมรดกตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน

ความเป็นมาและเอกลักษณ์ของเครื่องถม

เครื่องถม หรือเรียกอีกชื่อตามแหล่งกำเนิดว่า “ถมนคร” เป็นเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุเงินหรือทองแกะลวดลายให้ตัดกับสีพื้นซึ่งเป็นน้ำยาสีดำ การทำเครื่องถมมีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่แน่ชัดว่าภูมิปัญญาดังกล่าวมีที่มาอย่างไร บ้างก็เชื่อว่ามาจากโปรตุเกส บ้างก็ว่ามาจากช่างชาวนครศรีธรรมราชที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นเองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเครื่องถมได้กลายมาเป็นงานหัตถกรรมชั้นสูงที่นิยมใช้กันในราชสำนัก ทั้งใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ

เครื่องถมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

# ถมเงินหรือถมดำ เป็นเครื่องถมที่มีความเก่าแก่มากที่สุด ทำจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 95% เพราะหากมีความบริสุทธิ์ต่ำจะทำให้ยาถมไม่ติดผิว โดยนำเม็ดเงินมาหลอมแล้วขึ้นรูปก่อนจะสลักลวดลายด้วยสีเงินตัดกับพื้นที่เป็นสีดำ

# ถมทอง เป็นการนำถมเงินมาเพิ่มมูลค่า โดยการนำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมและผสมกับปรอท แล้วนำมาทาทับเคลือบผิวถมเงิน ซึ่งงานถมทองต้องอาศัยช่างที่มีทักษะชำนาญสูง

# ถมตะทอง เป็นชิ้นงานที่มีทั้งสีดำ สีเงินและสีทอง เนื่องจากมีการทาทองลงบนพื้นที่บางส่วนของผิวถมเงินเพื่อเน้นลวดลายให้มีความเด่นชัดขึ้น ซึ่งปัจจุบันปรากฏชิ้นงานให้เห็นน้อยมาก เพราะมีวิธีการทำที่ยากกว่าเครื่องถมชนิดอื่น อีกทั้งยังใช้เวลานานและความระมัดระวังสูงด้วย

เอกลักษณ์ของเครื่องถมอยู่ที่สีดำเงางามของพื้นผิว และลวดลายที่เกิดจากการแกะสลัก โดยแบ่งลวดลายออกเป็นทั้งลายที่เลียนแบบธรรมชาติ อาทิ ลายกนกเปลว ลายใบเทศ ลายประจำยาม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกระจัง ลายก้านขด รวมทั้งลวดลายแบบประดิษฐ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพประกอบลาย โดยแต่ละชิ้นงานช่างจะเป็นผู้ออกแบบและวางลวดลายให้เหมาะสมกับชิ้นงาน

กรรมวิธีการทำเครื่องถม

กรรมวิธีในการทำเครื่องถมประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก อันได้แก่ การทำน้ำยาถม เป็นการหลอมโลหะ สามชนิดได้แก่ ตะกั่ว ทองแดง และเงินลงไปตามสัดส่วน จนเกิดเป็นน้ำยาถมที่มีสีดำเงา การเคาะขึ้นรูป เกิดจากการนำเอาแผ่นเงินมาทำเป็นรูปทรงตามแบบของชิ้นงาน แล้วจึงขัดผิวโลหะให้เกลี้ยงด้วยกระดาษทราย จากนั้นจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการเขียนและแกะสลักลาย โดยช่างจะเขียนลายด้วยหมึกเสียก่อนที่จะสลักลายให้เป็นร่องลึก การถมลาย เป็นการใส่น้ำยาถมลงไปในบริเวณที่มีการสลักลาย แล้วจึงเป่าให้ความร้อนเพื่อให้น้ำยาถมเกาะติดกับผิวของชิ้นงาน ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำเครื่องถมที่จะทำให้เกิดความเงางามของชิ้นงาน การขัดลายและปรับแต่ง เป็นการตกแต่งชิ้นงานไม่ให้ผิดรูป ช่างจะใช้ตะไบหรือกระดาษทรายแต่งผิวของเครื่องถมให้เรียบจากรอยขรุขระของน้ำยาถม แล้วจึงขัดซ้ำด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อนให้พื้นผิวเงาขึ้น ปิดท้ายด้วยการเพลาลายซึ่งเป็นการใช้สิ่วเล็กๆ สลักลงบนเนื้อของชิ้นงานตามแนวเส้นลายของยาถม เพื่อให้เกิดแสงเงาช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้แก่ชิ้นงาน

การค้าเครื่องถมในปัจจุบัน

ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงเป็นแหล่งผลิตเครื่องถมที่สำคัญของไทย หากแต่จำนวนช่างฝีมือที่ทำกลับลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานเครื่องถมต้องใช้ทั้งฝีมือ ความอดทนและความละเอียดประณีตสูง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยลง นอกจากนี้ผลพวงจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการสร้างงานออกมาในปริมาณไม่มาก แต่ถึงกระนั้น การจำหน่ายเครื่องถมก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั้งในรูปแบบเครื่องใช้ ของตกแต่งและเครื่องประดับ อาทิ พานขันโตก ถาด ช้อน แหวน กำไล สร้อย เข็มกลัดติดเสื้อ เป็นต้น

ลักษณะของเครื่องถมนครที่จำหน่ายในปัจจุบัน ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้ทั้งรูปแบบและลวดลาย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่พอมีกำลังซื้อในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเครื่องถมเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น สินค้าบางอย่าง ดังเช่น แหวนหัวนะโม ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ซื้ออยู่เสมอทุกยุคสมัยเพราะเป็นเครื่องรางของชาวนครศรีธรรมราชที่มักจะพกติดตัวเอาไว้เพื่อป้องกันภยันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ และคนที่คิดปองร้าย รวมถึงสิ่งที่ไม่เป็นมงคลต่อชีวิต เป็นต้น

------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สิงหาคม 2561

 

ข้อมูลอ้างอิง :

1. “เครื่องถมเมืองนคร”, แหล่งเรียนรู้เทศบาลทุ่งสง (http://www.tungsong.com).

2. “เครื่องถม บรรพศิลป์แห่งแดนทักษิณ”, สมาคมค้าทองคำ (ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2554).

3. “ขั้นตอนการทำเครื่องถม”, ร้านถมนคร (http://thomnakhon.com).

4. “เครื่องถมเมืองนครฯ”, กลุ่มลายไทยเครื่องถมนคร.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที