เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 29 พ.ย. 2008 16.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 44416 ครั้ง

บ้านที่อยู่อาศัยต้องการความสมดุล ในขณะเดียวกัน ระบบคุณภาพขององค์กรก็ต้องการความสมุดลเช่นเดียวกัน


ความสมดุลของความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

            ความสมดุลของความสามารถกับประสิทธิภาพในการทำงาน

            ความสามารถในการปฏิบัติงานมีปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ ความสามารถของเครื่องจักร และ ความสามารถของคน

            สำหรับหน่วยงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรคงต้องพิจารณาปัจจัยทั้งคนและเครื่องจักร

            แต่ถ้าเป็นหน่วยงานบริการ หน่วยงานสนับสนุน ปัจจัยที่สำคัญคือความสามารถของคน

            ความสามารถของเครื่องจักรจะมีค่าสูงสุดตามข้อกำหนดที่วิศวกรออกแบบไว้ แต่ความสามารถของพนักงานสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ถ้าพนักงานผู้นั้นเป็นใจด้วย)

            จึงเป็นเหตุให้การพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรมากขึ้น แนวทางในการพัฒนาบุคลากรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลายระดับ

1.       การอบรมแรกเข้า (ปฐมนิเทศ) มี 2 แบบ ถ้าเป็นองค์กรใหญ่จะมีการจัดประชุมอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับองค์กรเล็กจะทำการชี้แจงที่หน้างานโดยสังเขป เช่น กฎระเบียบขององค์กรและของหน่วยงานที่จะเข้าไปสังกัด สวัสดิการ วัฒนธรรมขององค์กรให้พนักงานใหม่รับทราบ เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสถานที่ทำงานใหม่

2.       การอบรมทักษะในการทำงาน (On the job Training) การอบรมประเภทนี้มีความสำคัญมาก ต้องมีหัวหน้างานหรือพี่เลี้ยงในการสอนงานที่หน้างาน เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ตามตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย

3.       การอบรมเพิ่มความรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

           พนักงานที่มีทักษะความชำนาญสูง จะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงด้วย ยิ่งถ้าพนักงานมีความรู้ความเข้าใจในงานและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้วยแล้ว จะช่วยเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้ามีทัศนคติที่ดีต่องาน มีความตั้งใจในการทำงานจะยิ่งช่วยให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ค้นคว้าเพิ่มเติม จนบางครั้งก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นในองค์กรและกลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างรายได้ให้กับองค์กรได้

Competency คือ ความสามารถ หรือ ศักยภาพที่พนักงานมีแล้วจะทำให้การทำงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

           
ตามข้อกำหนดของ ISO 9001 ข้อ 6.2.2 ได้กล่าวถึงความสามารถ ความตระหนัก และการฝึกอบรมไว้ ซึ่งก็คือ เรื่องการพัฒนาความรู้ความสามารถ (Competency) ของพนักงานนั่นเอง


องค์ประกอบของ Competency คือ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะของบุคคล (Personal Attributes) ที่สามารถสังเกตและวัดได้

 Competency มี 4 ระดับ

1.    Core competency ความสามารถหลัก เป็นพฤติกรรมที่องค์กรทุกคนต้องมีเพื่อช่วยสนับสนุนให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายและภารกิจตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด

2.    Managerial competency ความสามารถในการจัดการ เป็นทักษะในการบริหารและจัดการงานต่างๆ

3.    Functional competency ความสามารถในงาน เป็นความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะเฉพาะของงานต่าง ๆ

4.    Individual competency  ความสามารถเฉพาะบุคคล เป็นความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะเฉพาะของบุคคลที่เกิดขึ้นจริงตามหน้าที่งานที่ได้รับมอบหมาย

แนวคิดในการนำเรื่อง Competency มาประยุกต์ใช้งานในองค์กร

·          วัดความสามารถและพัฒนาพนักงานให้มีความความสามารถเท่าเทียมกับระดับที่ต้องการ

·          คัดสรรหรือจัดพนักงานให้ทำงานในตำแหน่งงานที่พนักงานผู้นั้นมีความสามารถเหมาะสมตามความสามารถที่กำหนดไว้

·          วางแผนพัฒนาพนักงานเพื่อรองรับการเลื่อนตำแหน่งงานในอนาคต

วิธีการนำระบบ Competency เข้ามาใช้ในการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการมีดังนี้

1.    Job analysis การวิเคราะห์งานของตำแหน่งงานที่สนใจ ว่า ตำแหน่งงานนั้นมีขั้นตอนงานอย่างไร งานแต่ละขั้นตอนต้องใช้ Competency (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ) อะไรแล้วตั้งเป็นมาตรฐานความสามารถที่ต้องมีสำหรับตำแหน่งงานนั้น

2.    นำหัวข้อ Competency ที่ได้มาให้คำนิยามความหมาย และแบ่งเกรดระดับความสามารถ

3.    นำเกรดระดับความสามารถของ Competency แต่ละตัวมาจัดทำแบบประเมินความสามารถของพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ เพื่อหาว่าช่องว่างของความสามารถ (Competency gap) ของพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งนั้น

4.    นำหัวข้อและรายละเอียดของ Competency นั้นมาแปลงเป็นหลักสูตรสำหรับใช้ในการจัดอบรม

5.    จากการประเมินความสามารถของพนักงานในข้อ 3 เราจะรู้ได้ว่าพนักงานคนนั้นยังขาดความสามารถ (Competency) ตัวไหน ให้นำหลักสูตรอบรมของ Competency ตัวนั้นมาทำเป็นแผนอบรมเฉพาะสำหรับพนักงานคนนั้น เพื่อให้เขามีความสามารถครบตามมาตรฐานที่กำหนดในข้อ 1

     ตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้ Competency เฉพาะในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด

     ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพนักงานมี Competency สูงแล้วย่อมจะต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ทั้งนี้เพราะ Competency ได้รวมความรู้ ทัศนคติและคุณลักษณะที่ดีไว้แล้ว 
    
     ความรู้ เราสามารถสร้างได้ด้วยการจัดอบรม

     ทักษะความชำนาญ เราสามารถสร้างได้ด้วยประสบการณ์ในการทำงาน 

     คุณลักษณะ เป็นสิ่งที่สร้างและปรับเปลี่ยนได้ยาก หลายองค์กรพยายามที่จะสรรหาบุคลากรให้มีคุณลักษณะตรงตามที่ต้องการโดยไม่ต้องสร้างหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่ หลายองค์กรพยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนคุณลักษณะของพนักงานให้ได้ตามที่ต้องการ หลายองค์กรพยายามสรรหาบุคลากรที่มีคุณลักษณะ Soft เพื่อคาดหวังว่าจะสามารถนำมาปรับแต่งให้ได้ตามที่ต้องการได้ง่าย

    ดังนั้นเรื่อง คุณลักษณะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีเพียงแต่ความรู้ มีทักษะแล้วแต่ทัศนคติต่องานยังไม่ดี ก็เข้าข่ายสุภาษิตที่ว่า “มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที