การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA มีชื่อเดิมว่า Preference Trade Area for Eastern and Southern Africa: PTA โดยเปลี่ยนชื่อเป็น COMESA ในปี 2537 เนื่องจากขยายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีลักษณะเป็นตลาดร่วม ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 19 ประเทศ ได้แก่ จิบูตี เคนยา อียิปต์ มาดากัสการ์ มาลาวี แซมเบีย มอริเชียส ซูดาน บุรุนดี ซิมบับเว รวันดา คอโมโรส ลิเบีย คองโก เอริเทรีย เซเชลส์ เอธิโอเปีย ยูกันดา และ เอสวาตีนี (สวาซิแลนด์) ซึ่งดินแดนดังกล่าวเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบของอัญมณีมีค่า รวมทั้งยังเป็นช่องทางเริ่มต้นสำหรับการเจาะตลาดแอฟริกาที่น่าสนใจสำหรับนักแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย
COMESA แหล่งวัตถุดิบพลอยสี
แอฟริกาเป็นทวีปที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอย่างมหาศาล เมื่อตีกรอบให้แคบลงไปที่กลุ่ม COMESA หรือพิกัดทางตะวันออกและทางตอนใต้ของทวีป ไม่ว่าจะเป็นในมาดากัสการ์ เอธิโอเปีย แซมเบีย และเคนยา ต่างก็เป็นแหล่งของทับทิม ไพลิน และพลอยสีหลากประเภท ที่มักมีพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติ รวมทั้งนักธุรกิจชาวไทยเข้าไปแสวงหาโอกาสสำหรับธุรกิจอยู่เสมอ ขณะที่แถบเคนยาก็เป็นแหล่งของทับทิมและพลอยสีที่สำคัญ ที่เรียกว่าสายอัญมณีแอฟริกันตะวันออก (East African Gemstone Belt) หรือสายโมซัมบิก (Mozambique Belt) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของเคนยา แทนซาเนีย โมซัมบิก แซมเบีย และมาดากัสการ์
ทั้งนี้ ในปี 2560 ไทยมีตัวเลขการนำเข้าพลอยสีอย่างเป็นทางการจากประเทศในกลุ่ม COMESA ราว 18.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 42.66% ซึ่งเป็นการนำเข้าจากแซมเบีย และมาดากัสการ์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 90.25% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในกลุ่ม COMESA โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเริ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ขณะที่เพชรเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่มีอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็จริง แต่ในกระบวนการต้นน้ำจัดเป็นธุรกิจที่ค่อนไปทางผูกขาด (Monopoly) เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินทุนมหาศาลในการทำเหมือง หรือกล่าวได้ว่าปัจจุบันเพชรบนโลกนี้ 100 เม็ด มาจากผู้ครองตลาดรายใหญ่อย่าง De Beers ถึงกว่า 40 เม็ด
เคนยาประตูสู่แอฟริกา
COMESA มี GDP รวมกันราว 1 ใน 4 ของ GDP รวมของทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังมีประชากรรวมกันเกือบ 500 ล้านคน แต่การเข้าไปเริ่มต้นธุรกิจในภูมิภาคที่มีทั้งความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่า COMESA จะเป็นการรวมกลุ่มในลักษณะ “ตลาดร่วม” ที่มีรูปแบบการวมกลุ่มที่เก็บภาษีการนำเข้ากับประเทศที่ 3 ในอัตราเดียวกันทั้งกลุ่มก็ตาม โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีอัตราภาษีอยู่ระหว่าง 0-25%
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการยังลังเลว่าจะเข้าไปเริ่มต้นธุรกิจที่ประเทศไหนในกลุ่ม COMESA “เคนยา” อาจเป็นตัวเลือกของคำตอบที่น่าสนใจ เนื่องจากได้รับการจัดอันดับความง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจจาก Ease of Doing Business ประจำปี 2561 ให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่ม COMESA จากทั้งหมด 19 ประเทศ (โดยอันดับที่ 1 ของกลุ่มตกเป็นของมอริเชียส ขณะที่เอริเทรียเป็นประเทศรั้งท้าย) เมื่อพิจารณาปัจจัยของภาครัฐก็พบว่ารัฐบาลเคนยามีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเป็นชาวท้องถิ่น จากเดิมต้องมีชาวท้องถิ่นเป็นหุ้นส่วนด้วย 35%
ขณะที่ในด้านการคมนาคมก็จัดว่าพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเฉพาะทางน้ำก็มีท่าเรือที่มีชื่อเสียงอย่าง “ท่าเรือบอมบาซา” เป็นจุดกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศอื่นๆ จึงทำให้การต่อยอดธุรกิจในเคนยาเป็นประเทศที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งในฐานะของการเป็นสะพานเพื่อเข้าสู่แหล่งวัตถุดิบ ในกลุ่ม COMESA และการเป็นประตูไปสู่แอฟริกาตอนกลางของทวีปที่มีสภาพภูมิประเทศเป็น Landlockedอีกด้วย
-------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิงหาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที