Atelier Swarovski ใช้วัตถุดิบจากการค้าที่เป็นธรรม
ปัจจุบันผู้บริโภคคนรุ่นใหม่เรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องประดับดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเด็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบของภาคธุรกิจเครื่องประดับนั้น มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับสักชิ้นหนึ่งจากแบรนด์หรือร้านค้าปลีกค่อนข้างมาก คนรุ่นใหม่มีมุมมองที่มากกว่าคุณภาพและบริการของสินค้า โดยมองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และพร้อมที่จะจ่ายแพงขึ้นสำหรับแบรนด์ที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ทุกวันนี้ผู้ผลิตเครื่องประดับจึงใช้ถ้อยคำมากมายเพื่อบรรยายถึงความตั้งใจที่จะยืนยันว่าสินค้าของตนไม่ได้มาจากการทำเหมืองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น “การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ” “การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม” “การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ” และ “สินค้าหรูหราแบบยั่งยืน” เป็นต้น ฉะนั้น การจัดหาวัตถุดิบตามหลักจริยธรรมทางการค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นและต่อยอดไปถึงภาคการผลิตและการค้าเครื่องประดับที่ควรดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่นั้นมีพื้นฐานมาจากแนวทางที่ผู้ขายนำเสนอปัจจัยเหล่านี้
การจัดหาวัตถุดิบของธุรกิจเครื่องประดับ
ที่มา: http://www.fairtrade-gold-eheringe.de
ผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายรายมักมองหาธุรกิจที่ใช้ทองและโลหะเงินจากการค้าที่เป็นธรรม หรือเข้าร่วมโครงการโลหะรีไซเคิลอย่างเป็นทางการ กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการให้การซื้อโลหะมีค่าของตนช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตของคนงานเหมืองและคนงานอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ หรืออย่างน้อยการซื้อนี้ก็ต้องไม่ไปมีส่วนทำให้เกิดการรบกวนสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการทำเหมือง ในมุมมองของคนกลุ่มนี้ การซื้อเครื่องประดับที่ผ่านการจัดหาวัตถุดิบอย่างถูกต้อง น่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานโดยรวม
ฉะนั้นในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นเครื่องประดับ ผู้ผลิตเครื่องประดับจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองไม่ได้ใช้วัตถุดิบอย่างทองและอัญมณีจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กหรือเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองทองและอัญมณีนั้นดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกโดยสามารถตรวจสอบได้
ความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจเครื่องประดับ
ผู้ผลิตเครื่องประดับควรหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยอาจหมั่นตรวจสอบว่าตนเองมีห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใสและสามารถติดตามข้อมูลได้หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ ในขั้นต้นผู้ผลิตเครื่องประดับต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบโลหะมีค่าและอัญมณีนั้นมาจากไหน เพื่อสามารถประเมินความถูกต้องด้านสิทธิมนุษยชน ติดตามประเด็นเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิของชนพื้นเมือง สิทธิด้านสุขภาพ และการปกป้องพลเรือนในสงคราม โดยการตรวจสอบดังกล่าวมีหลายวิธี ทางเลือกหนึ่งก็คือการหามาตรฐานการรับรองที่เข้มงวดเพื่อตรวจสอบสภาพการทำงานภายในเหมืองและลดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น องค์กรที่ให้การรับรองเหมืองทองอย่าง Fairtrade (http://www.fairgold.org) และ Fairmined (http://www.fairmined.org) อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเครื่องประดับอาจหาวัตถุดิบโดยตรงจากเหมืองที่ได้รับการรับรองและติดตามข้อมูลผ่านโครงการขององค์กรภาคเอกชนได้เช่นกัน
ที่มา: http://www.fairmined.org/the-fairmined-standard/
ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องประดับรายย่อยจำนวนมากเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบจากเหมืองที่สามารถติดตามตรวจสอบได้ผ่านองค์กรต่างๆ ตัวอย่างเช่น Anna Loucah ผู้ขายเครื่องประดับจากสหราช-อาณาจักรใช้ทองส่วนใหญ่จากเหมืองขนาดเล็กที่ติดตามข้อมูลได้ในเปรูซึ่งเป็นเหมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Fairtrade ขณะเดียวกันบริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน อาทิ Tiffany and Co. ที่ใช้ทองซึ่งสามารถติดตามข้อมูลย้อนกลับไปยังเหมืองต้นกำเนิดได้ ผู้ผลิตเครื่องประดับจากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Chopard และผู้ผลิตเครื่องประดับจากฝรั่งเศสอย่าง Cartier ก็ใช้ทองคำซึ่งบางส่วนสามารถติดตามข้อมูลกลับไปถึงเหมืองได้ และผู้ถลุงทองก็สามารถให้บริการถลุงทองคำแบบแยกส่วนเพื่อให้ทองคำยังคงระบุแหล่งที่มาได้ โดย Chopard นั้นหาทองคำบางส่วนจากเหมืองที่ได้รับการรับรองจากองค์กร Fairmined ในละตินอเมริกา
ในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบเพชรนั้น แบรนด์ต่างๆ เช่น Forevermark ก็ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพชรในตลาดโลก เพราะมีการรับประกันแหล่งที่มาที่ถูกต้องตามหลัก Kimberley Process และสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ทั้งในฐานะคนงานเหมือง นักธรณีวิทยา และวิศวกรในประเทศผู้จัดหาวัตถุดิบเพชร
นอกจากผู้ผลิตเครื่องประดับมีหน้าที่ต่อผู้บริโภคและชุมชนในพื้นที่เหมืองแร่ในแง่การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบอย่างแท้จริงแล้ว ยังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้จัดหาวัตถุดิบแก่สาธารณชน ความโปร่งใสดังกล่าวจะช่วยให้แน่ใจได้ว่าคนงานเหมืองและชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร ซึ่งผู้บริโภคและสาธารณชนจะสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท และเปรียบเทียบว่าคำแถลงของบริษัทตรงกับการกระทำหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเครื่องประดับบางแห่งรวมถึง Tiffany and Co., Cartier และผู้ผลิตเครื่องประดับจากเดนมาร์กอย่าง Pandora ก็ได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีว่าด้วยการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน...กุญแจสู่ความสำเร็จ
การสร้างความแตกต่างและปรับตัวตามความต้องการ และความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของธุรกิจเครื่องประดับในทุกวันนี้ การมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาธุรกิจของท้องถิ่น การดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์แบรนด์โดยแสดงให้เห็นหลักการทางจริยธรรมและคุณค่า ตลอดจนการเข้าร่วมองค์กรที่สนับสนุนแนวทางความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมล้วนเป็นความพยายามที่สำคัญ
ปัจจุบัน หลายองค์กรทั่วโลกที่มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต่างส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และเร่งวางแนวทางการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนในการดำเนินงานของภาคธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบของอุตสาหกรรมพลอยสี ซึ่งขณะนี้องค์กรหลักอย่าง CIBJO มีแนวคิดที่จะจัดทำมาตรการควบคุมการค้าพลอยก้อน โดยผลักดันให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอุตสาหกรรมเพชรที่ดำเนินการตามขั้นตอนการรับรองของ Kimberley Process ซึ่งคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ซึ่งมีการทำเหมืองแร่ เพื่อกำหนดแนวทางและจัดตั้งระบบการออกใบรับรองสำหรับพลอยก้อนที่ยังไม่ได้เจียระไนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนี้จึงควรเร่งปรับธุรกิจให้ก้าวทันกระแสจริยธรรมทางการค้า รองรับแนวทางมาตรฐานการรับรองต่างๆ ที่จะถูกกำหนดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะความตั้งใจของผู้ขายที่จะส่งเสริมความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม การสนับสนุนชุมชน และการจัดหาสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักในคำมั่นสัญญาของแบรนด์นั้น นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดเครื่องประดับต่อไปในระยะยาว
------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กรกฎาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที