GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 ก.ค. 2018 09.35 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1978 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่รวมทองคำระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2561 ทำรายได้ 3,139.78 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าขยายตัวสูงขึ้น 7.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกสำคัญเกือบทุกรายการยังเติบโตได้เป็นอย่างดี ด้านตลาดส่งออกของไทยนั้น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักเดิมของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนตลาดสำคัญอื่นที่เติบโตสดใสและควรเร่งรุกตลาด ได้แก่ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งไทยส่งออกเครื่องประดับทองไปได้สูงมาก ส่วนอินเดีย สินค้าหลักส่งออกเป็นเพชรเจียระไนที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง สำหรับรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช สินค้าดาวเด่นเป็นเครื่องประดับเงินที่ขยายตัวได้สูงมาก สำหรับรายละเอียดของสถานการณ์ส่งออกติดตามได้ในบทวิเคราะห์นี้


สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2561

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.47 (ร้อยละ 10.32 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 5,163.00 ล้านเหรียญสหรัฐ (162,348.17 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 5,187.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (181,023.71 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.96 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมาจากการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปในสัดส่วนราวร้อยละ 39 ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 10.96 เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,139.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (98,712.10 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.71 (ลดลงร้อยละ 2.79 ในหน่วยของเงินบาท)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

      1. สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.61 และร้อยละ 0.12 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 2.04

      2. สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 7.35 ร้อยละ 7.55 และ ร้อยละ 4.34 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ตลาดหลักที่มีสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 26 หากแต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.63 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 1.62 และ ร้อยละ 0.42 ตามลำดับ ตลาดหลักลำดับถัดมา คือสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เติบโตได้ร้อยละ 11.52 และ ร้อยละ 9.50 ตามลำดับ เนื่องมาจากผู้บริโภคของทั้ง 2 ตลาดมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้มีความต้องบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น ส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินหดตัวลงเล็กน้อย โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสหภาพยุโรปเป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง ที่ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นเครื่องประดับทอง และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไน ก็ต่างมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้น

ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 15.32 ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมสินค้าฝีมือของคนไทย และอีกส่วนหนึ่งมาจากหลายประเทศหันมานำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงมากขึ้นจากเดิมที่นำเข้าผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้ไทยส่งออกเครื่องประดับทองไปยังกาตาร์ อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และตุรกี ตลาดในอันดับ 2, 4, 5 และ 6 ได้สูงขึ้น และส่งออกเพชรเจียระไนไปยังอิสราเอล ตลาดอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้ลดลงต่อเนื่อง ที่แม้ว่าสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองจะยังเติบโตได้ หากแต่สินค้าสำคัญอื่นอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนกลับปรับตัวลดลงมาก

สำหรับการส่งออกไปยังอินเดีย ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 35.48 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของอินเดียที่เติบโตดี โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าในปีงบประมาณ 2561 นี้อินเดียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.0-7.5 นับว่าเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ชาวอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอินเดียเป็นเพชรเจียระไนที่ขยายตัวได้สูงถึงราวร้อยละ 46

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ยังเติบโตได้นั้น น่าจะมาจากความนิยมสินค้าเครื่องประดับเงินไทย ด้วยเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีความประณีตสวยงาม และราคาเหมาะสม จึงมีผลทำให้ไทยส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถานได้เพิ่มสูงขึ้นมาก

-------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที