GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 21 มิ.ย. 2018 09.42 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1624 ครั้ง

จีนได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม ของที่ทำด้วยไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง ของทำด้วยพลอยเนื้อแข็งหรือพลอยเนื้ออ่อน รวมถึงเครื่องทองและเครื่องเงิน จำนวน 18 รายการในหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลงไปโดยปริยาย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่แบรนด์เครื่องประดับต่างประเทศจะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการคิดภาษีนำเข้าสินค้าของจีนในอัตราใหม่เป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนี้


จีนปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องประดับตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้

คณะกรรมการภาษีศุลกากรประจำคณะรัฐมนตรีของจีนได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเครื่องประดับแท้ เครื่องประดับเทียม ของที่ทำด้วยไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง ของทำด้วยพลอยเนื้อแข็งหรือพลอยเนื้ออ่อน รวมถึงเครื่องทองและเครื่องเงิน จำนวน 18 รายการในหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยอัตราที่ลดลงเฉลี่ย 68% โดยอัตราภาษีนำเข้าใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับอัตราภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากจีนได้จัดประเภทสินค้าเครื่องประดับเหล่านี้ใหม่ให้เป็น “สินค้าประจำวันเพื่อผู้บริโภค” จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ถือว่าสินค้าเครื่องประดับเหล่านี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ในบรรดาสินค้าที่ได้รับการลดอัตราภาษีนั้นมีสินค้าเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ซึ่งอัตราภาษีจะลดลงจาก 20% เป็น 8% ส่วนภาษีสำหรับเครื่องประดับแพลทินัมและโลหะมีค่าอื่นๆ จะลดลงจาก 35% เป็น 10% เช่นเดียวกันกับสินค้ากลุ่มของที่ทำด้วยไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง และของทำด้วยพลอยเนื้อแข็งหรือพลอยเนื้ออ่อน รวมถึงเครื่องทองและเครื่องเงิน และเครื่องประดับเทียมบางประเภท รายละเอียดดังตาราง

การลดภาษีครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการคิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของจีนในอัตราใหม่ โดยปกติไม่ว่าจะนำเข้าสินค้าชนิดใดจะต้องมีการเรียกเก็บภาษีอยู่สองประเภท คือ ภาษีนำเข้า (MFN Rate) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งการเรียกเก็บภาษีทั้งสองประเภทนี้จะถูกนำมาคิดรวมเป็นอัตราภาษีแบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Tax Rate) ซึ่งสามารถคำนวณได้โดยใช้สูตรดังต่อไปนี้

1) ถ้าสินค้าไม่ได้เรียกเก็บภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ในขั้นตอนการนำเข้า จะสามารถคำนวณอัตราภาษีเบ็ดเสร็จตามสูตรคือ

 

 

2) ถ้าสินค้าเรียกเก็บภาษีการบริโภคในขั้นตอนการนำเข้า จะคิดอัตราภาษีเบ็ดเสร็จตามสูตรดังนี้


 

 

ในการคิดอัตราภาษีโดยใช้สูตรการคำนวณทั้งสองสูตรดังกล่าวยกตัวอย่างเช่น

1) สินค้าพิกัด 7113191100 เครื่องประดับทองฝังเพชร (ไม่เก็บภาษีการบริโภคในขั้นตอนการนำเข้า) ซึ่งคิดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 16% และอัตราภาษีนำเข้าปกติลดลงจาก 20% เหลือ 8% นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ฉะนั้น อัตราภาษีเบ็ดเสร็จของสินค้ากลุ่มนี้จะลดลงจากปัจจุบันที่ 39.20% (มาจาก 20% + 16% + 3.2%) เป็น 25.28% (มาจาก 8% + 16% + 1.28%) สำหรับสินค้าเครื่องประดับทองฝังเพชรที่มีมูลค่าตามราคา CIF เท่ากับ 1 ล้านหยวน อัตราภาษีเบ็ดเสร็จสำหรับการนำเข้าสินค้านี้จะลดลงจาก 392,000 หยวน เป็น 252,800 หยวน หรือลดลง 35.51%

2) สินค้าพิกัด 71162000 ของที่ทำด้วยพลอยเนื้อแข็งหรือพลอยเนื้ออ่อน (มีการเรียกเก็บภาษีการบริโภคในขั้นตอนการนำเข้าที่อัตรา 10%) ซึ่งคิดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 16% และอัตราภาษีนำเข้าปกติลดลงจาก 35% เป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ฉะนั้น อัตราภาษีเบ็ดเสร็จของสินค้ากลุ่มนี้จะลดลงจากปัจจุบันที่ 74% (มาจาก {35% + 10% + 16% + 5.6%} / 0.9%) เป็น 41.778% (มาจาก {10% + 10% + 16% + 1.6%} / 0.9%) ตัวอย่างเช่น สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าตามราคา CIF เท่ากับ 1 ล้านหยวน ภาษีเบ็ดเสร็จสำหรับการนำเข้าจะลดลงจาก 740,000 หยวน เป็น 417,780 หยวน หรือลดลง 43.54%

อย่างไรก็ตาม ประเทศและภูมิภาคที่ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนอัตราภาษีก็ยังคงเป็นไปตามข้อตกลง เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (ไทย เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว บรูไน) ถ้ามีการออกใบรับรองแหล่งที่มาตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) หรือที่เรียกว่า Form E สินค้านั้นก็จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า

ตัวอย่างการคำนวณสินค้าที่ได้รับสิทธิลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาทิเช่น สินค้าพลอยก้อนที่ไม่ผ่านการแปรรูปในพิกัด 71031000 (มีการเรียกเก็บภาษีการบริโภคในขั้นตอนการนำเข้า 10%) เนื่องจากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 16% และไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียน หากมีการออกใบรับรองแหล่งที่มาตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ อัตราภาษีเบ็ดเสร็จจะลดลงจาก 30% (มาจาก {0% + 10% + 17% + 0%} / 0.9%) เป็น 28.889% (มาจาก {0% + 10% + 16% + 0%} / 0.9%) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตรา 17% เหลือ 16% ดังนั้น หากสินค้าพลอยก้อนที่มีมูลค่าตามราคา CIF เท่ากับ 1 ล้านหยวน อัตราภาษีเบ็ดเสร็จที่จ่ายสำหรับการนำเข้าสินค้านี้จะลดลงจาก 300,000 หยวนเป็น 288,889 หยวน หรือลดลง 3.70%

ทั้งนี้ การปรับลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้า 18 รายการในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับของจีน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไปนั้น นับเป็นครั้งแรกในช่วงหลายปีมานี้ที่จีนลดภาษีนำเข้าในหมวดสินค้าประเภทนี้ และจะส่งผลให้อัตราภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลงไปโดยปริยาย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่แบรนด์เครื่องประดับต่างประเทศจะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนหากยื่นขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนย่อมได้เปรียบจากการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกรายการ ซึ่งช่วยให้อัตราภาษีเบ็ดเสร็จสำหรับการนำเข้าสินค้าจากไทยนั้นต่ำกว่าการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 อย่างแน่นอน

-------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2561

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที