GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 มิ.ย. 2018 07.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2118 ครั้ง

ในปี 2560 ธุรกิจ E-Commerce ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทั่วโลกราว 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 24.8% เมื่อย้อนมาดูธุรกิจ E-Commerce ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียน พบว่า เวียดนาม มาเลเซียเป็นประเทศที่น่าจับตามอง แต่จะน่าสนใจอย่างไรนั้น เชิญติดตามได้จากบทความโอกาสการค้า E-Commerce ใน CLMV และ อาเซียน


โอกาสการค้า E - Commerce ใน CLMV และ อาเซียน

ในปี 2560 ธุรกิจ E–Commerce ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทั่วโลกราว 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 24.8% จากการศึกษาของ eMarketer’s พบว่าการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจาก M-Commerce หรือการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการซื้อของบนโลกออนไลน์ถึง 58.9% และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 72.9% ในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อย้อนมาดูธุรกิจ E–Commerce ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่มอาเซียน พบว่า CLMV แม้ปัจจุบันตลาดจะยังไม่เฟื่องฟูนัก แต่ภายในปี 2563 รายได้ต่อหัวประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 10% ต่อปี ทำให้กลุ่ม CLMV เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม อีกทั้งมาเลเซียได้มีการร่วมมือกันพัฒนาระหว่างภาครัฐกับเอกชนของจีนอย่าง Alibaba จึงนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่น่าจับตา

 

เวียดนาม: แหล่งโอกาสของตลาด E–Commerce ท่ามกลางกลุ่ม CLMV

ศักยภาพของตลาด E–Commerce กลุ่ม CLMV ซ่อนอยู่ที่เวียดนาม แม้ว่าตลาดออนไลน์ใน CLMV จะยังไม่คึกคักนัก แต่เทรนด์การบริโภคของประเทศในกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากไทย จึงทำให้ความนิยมสินค้าออนไลน์ซึ่งกำลังเติบโตได้ดีในไทยค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในกัมพูชา ลาว เมียนมา และหนึ่งในประเทศที่น่าจับตาที่สุดคือเวียดนาม เนื่องจากมีชนชั้นกลางซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมีการประมาณการว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวชาวเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจาก 1,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี เป็น 3,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ในอีก 3 ปีข้างหน้า

เวียดนามกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากการสนับสนุนของรัฐบาล ในปี 2560 ที่ผ่านมาตลาด
E–Commerce ของเวียดนามเติบโตถึง 35% โดยเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าญี่ปุ่นถึง 2.5 เท่า อีกทั้งระบบโครงข่ายการสื่อสารพื้นฐานอย่างระบบอินเทอร์เน็ตก็เติบโตถึง 2.1 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีการคาดประมาณว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ของเวียดนามจะโตถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 หรือเติบโตถึงปีละ 10% จึงทำให้เวียดนามเป็นตลาด E–Commerce ที่ดึงดูดการลงทุนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบการเงินการธนาคาร ไปจนถึงระบบการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการค้าออนไลน์ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง โดยเวียดนามก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกับประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV เนื่องจากทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีทางการเงิน รวมทั้งโครงข่ายการสื่อสารที่เอื้ออำนวยต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว เช่น เวียดนามอยู่ที่โฮจิมินห์ ฮานอย ส่วนลาวก็กระจุกตัวอยู่ที่เวียงจันทน์ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากระบบการเงินและการขนส่งยังไม่ตอบสนองรูปแบบการค้าออนไลน์ใน CLMV ผู้ซื้อและผู้ขายจึงนิยมเก็บเงินที่ปลายทาง รวมทั้งหากเป็นพื้นที่ห่างไกลออกไป จะนิยมฝากสินค้าไปกับรถทัวร์และนัดรับสินค้าที่ท่ารถจึงทำให้การค้าออนไลน์ต้องปรับตัวกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

ที่มา: Internetworldstats, ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

เว็บไซต์อะไร Hot Hit ใน CLMV บ้าง

กัมพูชา: Glad Market, Shop168 และ MALL855 เป็นเว็บไซต์ท้องถิ่นที่ติดตลาดกัมพูชาโดย Glad Market ได้รับความนิยมสูงที่สุด ขณะที่ MALL855 ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อดาวน์โหลดฟรีสำหรับแอนดรอยด์ด้วย แต่ทั้ง 3 แพลตฟอร์มยังคงไม่มีการให้บริการชำระเงินผ่านทางธนาคาร รวมทั้งบัตรเครดิต

ลาว: แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของลาวคือ Plaosme ซึ่งได้รับแหล่งเงินกู้เพื่อสร้างและพัฒนามาจากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนให้กลุ่ม SMEs มีพื้นที่เพื่อขายสินค้าทั้งในประเทศลาวเอง และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพื่อค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ดังกล่าวกว่า 80 ราย

เมียนมา: เนื่องจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตของเมียนมายังคงไม่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 33.4% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง อย่างไรก็ตามเมียนมาก็มีเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ BaganMart, OneKyat และ Shop.com.mm

เวียดนาม: แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดฮิตของเวียดนามไม่ใช่เว็บไซต์ท้องถิ่นเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CLMV แต่เป็น Lazada ที่เข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ Thegioididong เว็บไซต์ท้องถิ่นของเวียดนามตามมาเป็นอันดับที่ 2 โดยมีปริมาณการเข้าใช้ใกล้เคียงกับ Lazada โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และสามารถทำธุรกรรมผ่านทางธนาคารได้

 

มาเลเซีย: ตลาดศักยภาพด้าน E–Commerce ของอาเซียน

ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


นอกจากปัจจัยพื้นฐานอย่างอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมาเลเซียจะสูงถึง 78.3% แล้ว หัวใจสำคัญที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ คือ การส่งเสริม/สนับสนุนของรัฐบาล และการพัฒนาร่วมกันกับภาคเอกชน โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ตั้งเป้าการเป็นผู้นำด้าน E–Commerce และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Alibabaยักษ์ใหญ่ด้าน E–Commerce จากแดนมังกรประกาศจับมือเป็นพันธมิตร และจัดตั้ง Digital Free Trade Zone: DFTZ ในปี 2560 ที่ผ่านมา จึงทำให้มาเลเซียจะกลายเป็น “Hub” นอกแผ่นดินจีนแห่งแรก ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นเมืองท่าที่กระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย โดยมี "ไช่เหนี่ยว" (Cainiao) เป็นพันธมิตรด้าน

โลจิสติกส์ พร้อมด้วย "แอนท์ ไฟแนนเชียล" (Ant Financial) ให้บริการด้านระบบการชำระเงิน โดยคาดว่า DFTZ จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ และพร้อมให้บริการในปี 2562 จึงเป็นที่แน่นอนว่าหากAlibaba รุกตลาดมาเลเซียแล้ว E-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในมาเลเซียก็ต้องเป็นของ Lazada ขณะที่อันดับรองลงมาคือ 11street และ Shopee

ดังนั้นหากผู้ค้ามองหาโอกาสของตลาดออนไลน์ในกลุ่ม CLMV แล้ว “เวียดนาม” ดูจะเป็นประเทศที่มีความหวังมากที่สุด แต่หากขยายขอบเขตของโอกาสออกไปเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว “มาเลเซีย” จัดเป็นประเทศที่ตอบโจทย์ผู้ค้าออนไลน์มากที่สุด ทั้งนี้ผู้ค้าปลีกไม่ว่าจะเป็นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหรือสินค้าใดๆก็ตาม ที่จะเข้ามารับส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจออนไลน์จะต้องปรับตัวให้เป็นผู้ค้า 4.0 โดยรู้เท่าทันต่อข้อจำกัด รวมถึงข้อได้เปรียบในแต่ละแพลตฟอร์ม และข้อจำกัดของปัจจัยพื้นฐานในบางประเทศที่จะเข้าไปทำการค้า อีกทั้งโลกออนไลน์จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นทั้งทางด้านราคาและคุณภาพ สินค้าที่อยู่รอดจึงต้องโดดเด่น มีคุณภาพ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ค้าที่ไว้ใจได้ จริงใจต่อผู้บริโภค ก็จะสามารถทำตลาดได้ในโลกของการค้าที่ไร้พรมแดน

-------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2561

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที