ภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยภาพรวมแล้วมีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้น และการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการของสินค้า IT ของโลกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก คือวงจรพิมพ์ และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และสินค้าที่เกี่ยวข้องมีดัชนีผลผลิตลดลง และการส่งออกยังมีการขยายตัว
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2547 พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 มาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับดีอย่างต่อเนื่อง
มาโดยตลอดซึ่งในเดือนเมษายนมีดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว คือเพิ่มขึ้นจาก 107.8 เป็น 109.5 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะอุตสาหกรรมในทิศทางที่ดีขึ้น
จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับดีข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาภาวะการค้าระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2547 มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งไทยมีดุลการค้าเกินดุลเท่ากับ 89,618.28 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด 405,356.45 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดเท่ากับ 243,037.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.96 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.58 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ (CPU, HDD, FDD, CD Rom Drive, Tape Drive Monitor, Printer, LCD Projector, Keyboard, Mouse และ อุปกรณ์ Network) มีมูลค่าเท่ากับ 108,967.61 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 44.84 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.63 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา รองลงมาได้แก่ วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี(Intergrated Circuit) ไดโอดทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ และวงจรพิมพ์ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 25.99 6.10 และร้อยละ 5.72 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 162,318.68 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.78 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคือ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 25,658.38 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 15.80 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.68 รองลงมา ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม(ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก และ Socket) และเครื่องรับโทรทัศน์สี โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 10.45 และ 9.39 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด
ภาวะการนำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเดือนมกราคม- เมษายน 2547 มีมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งหมดเท่ากับ 315,738.17 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.09 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดเท่ากับ 212,080.43 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 67.17 ของมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.66 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดคือ วงจรรวมและไมโครแอสเซมบลี(Intergrated Circuit) มีสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 44.29 ของการนำเข้ากลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวม
ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 103,657.74 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.39 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดคือ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม(ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก และ Socket) ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 22.03 ของการนำเข้ากลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ และภาวะการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในระดับดี และมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ถ้าหากพิจารณาตัวเลขการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าอุตสาหกรรม และดัชนี Total Factor Productivity Growth (TFPG) เป็นตัวชี้อัตราการขยายตัวของผลิตภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดอัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน มีมูลค่าเพิ่มหดตัว 2.99% เนื่องมาจากค่า TFPG ที่ติดลบ โดยผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นลบ และมีผลิตภาพของทุนหรือผลิตภาพของแรงงานหดตัว แสดงให้เห็นว่าปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากขาดการวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตและแรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดเสรี และให้มีศักยภาพการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอย่างจีนซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้สินค้าราคาถูกกว่าของไทยมาก
ทั้งนี้การส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และมีการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะในการผลิตมากขึ้นให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเหนือคู่แข่ง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที