กระแสความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการค้าที่เป็นธรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก จนทำให้หลายอุตสาหกรรมปรับตัวมุ่งไปสู่แนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหลักในตลาดทั่วโลกนั่นก็คือ คนรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่ต่างเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมจากธุรกิจสินค้าหรูหราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากคุณภาพ คุณค่า รูปแบบสินค้า ความไว้วางใจ และความภักดีต่อแบรนด์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออัญมณีและเครื่องประดับยังรวมไปถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การให้ความสำคัญต่อชุมชน และการจัดหาสินค้าอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วย เพราะคนกลุ่มนี้สนใจว่าสินค้าที่ตนเองซื้อและเงินที่ใช้จ่ายไปนั้นส่งผลต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างไร ผู้ผลิต ผู้ค้า หรือแบรนด์ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจึงต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ซื้อเห็นว่าจิตสำนึกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นส่วนหนึ่งในสินค้าและบริการของตน
Melissa Joy Manning Jewelry ธุรกิจเครื่องประดับที่เน้นการใช้โลหะรีไซเคิล และอัญมณีที่มาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
มุมมองของอุตสาหกรรมต่อกระแสความยั่งยืน
แต่เดิมนั้นภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอาจมองว่า ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้สัมพันธ์กับแวดวงอุตสาหกรรมนี้เท่าไหร่นัก เพราะธุรกิจต้นน้ำได้วัตถุดิบหลายส่วนมาจากการทำเหมืองแร่ เมื่อขุดแร่ออกมาแล้ว มันจะไม่สามารถเติบโตกลับขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ดี ความยั่งยืนกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจเครื่องประดับในปัจจุบัน และในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ก็ได้มีการศึกษาเรื่องความยั่งยืนจากมุมมองทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรมีค่าทางธรรมชาติที่ใช้ในธุรกิจเครื่องประดับสามารถมอบโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนแก่ผู้คนและชุมชนในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกซึ่งมีทรัพยากรเหล่านี้อยู่ และมักจะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความยากไร้
ที่มา: “Green is the New Gold Standard” Indian Jeweller. Feb-Mar 2018
การเติบโตของจำนวนผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่พร้อมกับเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นในเรื่องความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ล้วนเป็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับตั้งแต่ภาคการผลิตอัญมณีและโลหะมีค่าไม่ว่าจะเป็นเหมืองเพชร พลอยสี โลหะทองและเงิน ไปจนถึงธุรกิจการเจียระไนหรือแปรรูปวัตถุดิบ การค้าหรือจัดหาวัตถุดิบ การผลิตเครื่องประดับ ตลอดจนการจัดจำหน่ายสินค้า เพราะคนรุ่น Gen Y และ Gen Z ล้วนให้ความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือในการซื้อสินค้า และต้องการให้ผู้ขายเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสินค้าที่ตนซื้อ อุตสาหกรรมนี้จึงควรให้ข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องการเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้า
ฉะนั้น แหล่งที่มาของวัตถุดิบจึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ที่มาของอัญมณีไม่เพียงบ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่า แต่ยังเล่าเรื่องราวการเดินทางอันเป็นเอกลักษณ์จากเหมืองมาสู่ตลาด เป็นการช่วยยืนยันแก่ผู้บริโภคว่าการซื้อของตนเป็นสิ่งถูกต้อง อย่างไรก็ดี การให้ข้อมูลดังกล่าวก็มีความท้าทายในตัวมันเอง เนื่องจากธุรกิจพลอยสีนั้นแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ มีอัญมณีหลายประเภทหลากสีสันที่ผลิตอยู่ในประเทศต่างๆ 47 ประเทศ ผลผลิตกว่าร้อยละ 50 มาจากผู้ทำเหมืองขนาดเล็กในท้องถิ่น อัญมณีจากแหล่งแร่ที่ดำเนินการแบบนี้ต้องผ่านเส้นทางมากมายก่อนจะมาถึงผู้ค้า ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเส้นทางกว่าจะมาถึงผู้บริโภค จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะระบุแหล่งที่มาให้แน่ชัดในบางกรณี
อย่างไรก็ตาม Clement Sabbagh ประธานสมาคม International Colored Gemstone Association (ICA) แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า เมื่อผู้บริโภคและแบรนด์สินค้าหรูหรารายใหญ่ต้องการความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความยั่งยืนจากผู้จัดหาอัญมณีมากขึ้น ICA ในฐานะตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของแวดวงอัญมณีสากล รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน จึงรวมตัวและร่วมมือกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในแง่การให้ความร่วมมือและการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม
อุตสาหกรรมเพชรกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
สำหรับอุตสาหกรรมเพชรนั้น ปัจจุบันเพชรมากถึงร้อยละ 99.8 ของปริมาณเพชรที่ผลิตได้ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมาจากแหล่งที่ปราศจากความขัดแย้ง โดยมีองค์กรสำคัญที่ขับเคลื่อนก็คือ World Diamond Council (WDC) ที่คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ซึ่งมีการทำเหมืองแร่จากตะกอนน้ำพา เพื่อยกระดับสภาพการทำงานและรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมมือกับ Civil Society Coalition และ Diamond Development Initiative (DDI) เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในทวีปแอฟริกาด้านการทำความเข้าใจและดำเนินการตามขั้นตอนการรับรองของ Kimberley Process ไม่ว่าจะให้การศึกษาและจัดอบรมซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรับผิดชอบและยึดมั่นในหลักการของ Kimberley Process ตลอดจนช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ซึ่งปัจจุบันยังประสบปัญหากลุ่มกบฏที่อาจหาประโยชน์จากการค้าเพชร เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในบอตสวานา นามิเบีย และประเทศอื่นๆ
ฉะนั้น การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่มีการทำเหมืองแร่ขนาดเล็กนั้น นับเป็นมาตรการป้องกันปัญหาเรื่องเพชรที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง (Conflict Diamonds) ที่ดีที่สุด เพราะวิธีนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งยังมีการทำเหมืองขนาดเล็กอยู่ และพื้นที่การทำเหมืองเพชรบางแห่งอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธเมื่อใดก็ได้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงต้องผลักดันแนวทางดังกล่าวด้วยความกล้าหาญและมุ่งมั่น เพราะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะช่วยกำจัดเพชรที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปจากห่วงโซ่อุปทาน
ธุรกิจมุกและปะการังมุ่งสู่ความยั่งยืนในการผลิต
Stephane Fischler ประธานองค์กร WDC แสดงความเห็นว่า แม้ว่าการดำเนินงานนี้จะมีต้นกำเนิดขึ้นมาจากการรับมือกับข้อมูลเชิงลบ แต่ก็ได้เปลี่ยนมาเล่าเรื่องราวเชิงบวกถึงการที่อุตสาหกรรมเพชรได้มอบสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยชี้ให้เห็นว่าเพชรปริมาณมหาศาลได้ปรับปรุงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนหลายแห่ง และสร้างผลลัพธ์อันสำคัญยิ่งในแง่การจ้างแรงงานทั่วโลกกว่า 10 ล้านคน รวมถึงโอกาสในการพัฒนาต่างๆ ที่ตามมา
ในแวดวงเครื่องประดับก็ยังมีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนที่ทั้งผลิตภัณฑ์และธุรกิจสามารถมีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกี่ยวข้องกับวัสดุทางธรรมชาติในท้องทะเล ซึ่งสามารถทำการผลิตอย่างยั่งยืนได้ผ่านการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในทะเล เช่น มุกเลี้ยง และในระดับรองลงมาก็คือ หินปะการัง เพราะศักยภาพในการผลิตสินค้าคุณภาพสูงนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะของระบบนิเวศทางทะเลเป็นสำคัญ
ต่างจากเหมืองซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานจำกัด ฟาร์มมุกสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องไม่จำกัด โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าจะต้องดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ หรืออาจกล่าวได้ว่ามันเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่และเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นทรัพยากรเพื่อโอกาสที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่หินปะการังมีค่านั้นถูกเก็บจากแนวปะการังธรรมชาติในน้ำลึก ความยั่งยืนจึงเกิดขึ้นได้ด้วยการดูแลให้อัตราการผลิตเครื่องประดับปะการังต่ำกว่าความสามารถของหินปะการังในการเติบโตและก่อตัวขึ้นมาใหม่ และปัจจุบันยังได้มีการศึกษาหาแนวทางเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูหินปะการังมีค่าในพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองด้วย
ฉะนั้น อุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวตามพฤติกรรมรูปแบบใหม่ๆ ในตลาด เพื่อตอบสนองต่อปรัชญาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยแรงผลักดันที่ไม่เพียงเพราะมันเป็นของมีค่า เป็นสิ่งสวยงาม และมีความสำคัญทางอารมณ์ แต่เป็นเพราะมันได้มีส่วนช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมหรือประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงช่วยปกป้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมจึงไม่เพียงแต่ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากมุมมองทางศีลธรรมและจริยธรรมเท่านั้น แต่แนวทางดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งหากต้องการยกระดับการอยู่รอดทางเศรษฐกิจในระยะยาว
------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที