GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 เม.ย. 2018 04.05 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3084 ครั้ง

ชาวจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชคลางว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต โดยนิยมสวมใส่เครื่องประดับที่แฝงความหมายเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เอาไว้เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิต เปรียบดั่งสมบัติล้ำค่าที่มีไว้ติดกาย สำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นและกำลังมองหาลู่ทางในการบุกตลาดจีน เครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลางอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนติดตามแนวทางเจาะตลาดจีนได้จากบทความนี้


เจาะตลาดจีนด้วยเครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลาง

แม้ว่าสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะพลิกโฉมให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่หากพิจารณาไปถึงด้านสังคมและวัฒนธรรม กลับพบว่าชาวจีนยังคงมีค่านิยมยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่สั่งสมมาแต่โบราณ รวมทั้งมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโชคลางว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งความเชื่อต่างๆ นอกจากจะถูกแสดงออกผ่านทางวิถีชีวิต และพิธีกรรมแล้ว ชาวจีนยังนิยมถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงบนชิ้นงานเครื่องประดับสำหรับใช้พกติดตัว เพื่อเรียกความมั่นใจในการดำเนินชีวิตด้วย โดยสำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นและกำลังมองหาลู่ทางดีๆ ในการบุกตลาดจีน เครื่องประดับ แนวความเชื่อและโชคลาง อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเพราะมีจุดขายที่ชัดเจนในตัวเอง อันน่าจะเป็นโอกาสที่ดีต่อการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน

เปิดมุมมองเกี่ยวกับความเชื่อและโชคลางของชาวจีนที่สะท้อนผ่านเครื่องประดับ

หยก และไข่มุก เป็นอัญมณีสำคัญที่สะท้อนความเชื่อของชาวจีน โดยเฉพาะ “หยก ที่ชาวจีนใช้เป็น เครื่องประดับพกติดตัวตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ด้วยเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ความโชคดี และทำให้ผู้ที่สวมใส่มีอายุยืนยาว นอกจากนี้ ชาวจีนยังเชื่อด้วยว่าหยกสามารถใช้เป็นลางบอกเหตุให้แก่ผู้สวมใส่ได้ โดยสังเกตจากสีของหยก หากมีสีสดใสแสดงว่ากำลังจะมีโชค ตรงกันข้ามหากหยกมีสีหมองคล้ำหรือ เกิดรอยแตกร้าวแสดงว่าอาจจะมีเคราะห์มาเยือน ส่วน “ไข่มุก” เป็นที่นิยมสำหรับสุภาพสตรี ด้วยเชื่อว่ามีพลังที่สามารถเสริมสง่าราศี ความงาม และความอ่อนเยาว์ให้แก่ผู้หญิงได้

นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมทำเครื่องประดับเป็นรูป เทพเจ้า สัตว์มงคล และธรรมชาติที่มีความหมายโดยนัย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของจี้หยกแกะสลัก จี้เงินหรือทองคำฉลุลาย ต่างหู และลายสลักบนกำไล อาทิ การนำเอารูป มังกร มาใส่ลงในเครื่องประดับ ด้วยชาวจีนเชื่อว่าจะนำมาซึ่งพลังอำนาจ วาสนาและความแข็งแกร่งทางจิตใจ ปี่เซียะ (Pi Xiu) เป็นสัตว์มงคลกึ่งเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความนับถือด้วยเชื่อว่าจะช่วยดูดทรัพย์ให้มีเงินทองและโชคลาภเข้ามาในชีวิต น้ำเต้า และผักกาด เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อด้านสุขภาพของชาวจีนว่าสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ลูกท้อ เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุที่ยืนยาว รวมทั้ง เรือสำเภา และปลาคาร์ฟ (ปลาหลี่ฮื้อ) เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่เกิดจากความเพียรพยายาม ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นสิ่งมงคลและใช้เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นต้น

พฤติกรรมการบริโภคเครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลางในจีน

ในอดีตพฤติกรรมการบริโภคเครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลางของชาวจีน แตกต่างกันไปตามชนชั้นในสังคม กล่าวคือ หากเป็นประชาชนทั่วไปมักสวมใส่เครื่องประดับที่นำเอาลวดลายทางธรรมชาติ อาทิ ใบไม้ ดอกไม้ กิ่งไผ่ หรือนก มาทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบของหยกแกะสลัก ลูกปัดหินร้อยเชือก หรือพู่ห้อย ด้วยเชื่อว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่สวรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองภยันตรายและอวยพรให้ผู้ที่สวมใส่อยู่ดีมีสุข ขณะที่คนชั้นสูง (ชนชั้นปกครอง) ส่วนมากบริโภคเครื่องประดับ ที่ทำจากหยกจักรพรรดิ หรือทองคำ โดยนิยมทำเป็นรูปมังกร หงส์ นกยูง และเสือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอำนาจบารมีและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต  

ปัจจุบันเครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลางที่บริโภคในตลาดจีน ไม่ได้แบ่งแยกค่านิยมทางชนชั้นเหมือนดังสมัยก่อน การบริโภคเครื่องประดับแนวนี้เป็นไปตามรสนิยม และวัตถุประสงค์ทางความเชื่อว่าต้องการให้เสริมในด้านใด นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวจีนยังให้ความสนใจกับรูปแบบการดีไซน์ที่น่าดึงดูดและมีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งอัญมณีประเภทอื่นๆ นอกจากหยก อาทิ ทับทิม มรกต โกเมน คริโซเบริล โอปอ มูนสโตน ฯลฯ หากแต่ทั้งหมดยังคงกลิ่นอายของแนวคิดทางความเชื่อและโชคลางเอาไว้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น การทำจี้เงินเป็นตัวอักษรมงคล ต่างหูรูปมังกรที่ตกแต่งด้วยอัญมณี หรือกำไลข้อมือที่มีลูกปัดลายผลท้อ เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยในการบุกตลาดจีน

Source: https://www.rubylane.com, http://www.thaisilverjewelrystore.com/

 

จีน เป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและนิยมสินค้าหรูมากถึง 109 ล้านคน และคาดว่าจำนวนผู้บริโภคดังกล่าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวภายในปี 2030 (National Bureau of Statistics of China) เมื่อพิจารณาถึงลู่ทางการค้าพบว่าเครื่องประดับแนวความเชื่อและโชคลางเป็นสินค้าที่มีจุดขายและมีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการนำสินค้าเครื่องประดับบุกตลาดจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกเฟ้นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความเหมาะสมกับตนเอง รวมทั้งพิจารณาและปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

1) การส่งออกทางตรง ตามปกติแล้วจีนมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องประดับในอัตราร้อยละ 20-35 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 17 รวมถึงภาษีบริโภคสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยร้อยละ 5-10 นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้า รวมทั้งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบอีกมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาวิธีการทั้งหมดอย่างรอบคอบและคิดคำนวณต้นทุนให้ดีก่อนตัดสินใจ

2) การจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันพบว่าชาวจีนมีจำนวนผู้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2017 มีมากถึง 731 ล้านคน ซึ่งจากผลสำรวจของ China Internet Network Information Center ระบุว่าชาวจีนมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์มากถึงร้อยละ 63.8 จากจำนวนผู้ถูกสำรวจทั้งหมด โดยสำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว การนำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Etsy, AliExpress, Taobao, Tmall, Tencent, Alibaba ฯลฯ รวมทั้งการใช้ WeChat หรือ Weibo ก็เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติได้ค้าขายแบบ B2C กับผู้บริโภคในจีน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับด้วยว่าผู้ค้าในตลาดเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากผู้ประกอบการจะต้องพยายามแสดงจุดเด่นของสินค้าให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาข้อกฎหมาย ระบบการจดทะเบียน ระบบการชำระเงิน และขั้นตอนในการส่งมอบสินค้าเอาไว้ให้ดีด้วย

3) การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ค้าชาวจีน เป็นช่องทางที่น่าจะเห็นผลได้ค่อนข้างชัดเจน หรือการออกงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศจีน เพื่อช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และมีโอกาสขายสินค้าได้โดยตรง

-----------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมษายน 2561

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที