GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 เม.ย. 2018 05.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1378 ครั้ง

งานแฮนเมด กำลังเป็นที่นิยมในตลาดเครื่องประดับออนไลน์ ด้วยการชูจุดเด่นของกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่ Mass Production จึงทำให้เครื่องประดับชิ้นนั้นๆ มีคุณค่าทางจิตใจและมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก เช่นเดียวกับเครื่องประดับที่ผลิตจากเขาสัตว์ที่เวียดนามใช้เป็นสินค้าเด่นในการรุกตลาดโลก ติดตามบทความเต็มได้จาก ตลาดเครื่องประดับเขาสัตว์กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม


ตลาดเครื่องประดับเขาสัตว์กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม

กระแสเครื่องประดับที่ผลิตด้วยมือ หรือเรียกเป็นศัพท์เก๋ๆ ว่า “งานแฮนเมด” กำลังเป็นที่นิยมในตลาดเครื่องประดับออนไลน์ ด้วยการชูจุดเด่นของกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่ Mass Production จึงทำให้เครื่องประดับชิ้นนั้นๆ มีคุณค่าทางจิตใจและมีเพียงชิ้นเดียวบนโลก จากการจัดอันดับสินค้าทำมือขายดีที่สุด 100 อันดับแรกของเว็บไซต์ขายสินค้าแฮนเมดโดยเฉพาะอย่าง Etsy (เอ๊ทซี่) พบว่าส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80% เป็นแบรนด์ของชาวอเมริกัน แต่ก็มีชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามที่นำเขาสัตว์มาเป็นจุดขายและสามารถรุกตลาดออนไลน์ได้ดี โดยมียอดขายสูงติดอันดับที่ 31 (แบรนด์ Quecraft) ขณะที่สินค้าทำมือเช่นเดียวกันแบรนด์ชาวฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 49 (แบรนด์ Freeforme) และแบรนด์ไทยอยู่ในอันดับที่ 50 (แบรนด์ Brasslady)

เวียดนาม: แหล่งผลิตเครื่องประดับเขาสัตว์เพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

เวียดนามเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงทำให้มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ทั้งเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและตอบสนองการเกษตรแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้เวียดนามจึงมีเขาสัตว์เป็นจำนวนมาก และมีผู้ผลิตมองเห็นช่องทางการนำเขาสัตว์ดังกล่าวไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับ ที่สำคัญสามารถรุกตลาดต่างประเทศได้โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รวมทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

การคำนึงถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญของผู้บริโภคยุค Eco-Conscious เจ้าของแบรนด์ในเวียดนามต่างรับประกันว่าเครื่องประดับแบรนด์ของตนไม่ได้มาจากอวัยวะของสัตว์ป่าหายากอย่างเขากวาง นอแรด รวมทั้งไม่ได้มาจากการทารุณกรรมหรือฆ่าเพื่อเอาเขาสัตว์แต่อย่างใด เนื่องจากเขาสัตว์ทุกชิ้นมาจากวัวและควายตายแล้วที่มีอยู่อย่างมหาศาล ทั้งจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และจากสัตว์ที่ตายแล้วในพื้นที่เกษตรกรรมของเวียดนาม นอกจากนี้ยังรับประกันอีกว่าสินค้าแฮนเมดดังกล่าวไม่ได้มาจากแรงงานเด็ก แต่มาจากการสร้างงานให้กับแรงงานฝีมือในท้องถิ่น จึงทำให้ผู้บริโภคแนว Eco Friendly สามารถมั่นใจได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและสวมใส่ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

...นอกจากแบรนด์ท้องถิ่นของเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับเขาสัตว์แล้ว

แบรนด์เนมสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง “แอร์เมส” ก็เข้ามาในตลาดเครื่องประดับเขาสัตว์เช่นกัน…

ที่มา: http://hornhandmade.com

มีเอกลักษณ์ น้ำหนักเบา ทำด้วยมือ มาจากธรรมชาติ 100% ล้วนเป็นจุดเด่นที่ทำให้เครื่องประดับที่ผลิตจากเขาสัตว์เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเขาส่วนที่เป็นสีขาวจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ นอกจากนี้สีน้ำตาล สีดำ รวมทั้งสีครีมก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทั้งนี้เขาสัตว์ที่ได้มาจะถูกนำไปผ่านกระบวนการผลิตด้วยมือทุกขั้นตอน ทั้งตัดให้ได้รูปทรงที่ต้องการ ขัดให้ลวดลายของวัตถุดิบมีความคมชัดยิ่งขึ้น และเคลือบให้เกิดความเงา จากนั้นผลผลิตจากธรรมชาติเหล่านี้จะถูกรังสรรค์กลายเป็นเครื่องประดับทั้งสร้อยคอ กำไล แหวน ต่างหูที่เหมาะกับสาวๆ ในลุคโบฮีเมียน ลุคชายทะเล หรือหากจะแต่งกายอย่างเป็นทางการก็สามารถมิกซ์แอนด์แมทช์ได้อย่างลงตัว

ที่มา: www.belartes.com และ Pinterest

ขยายตลาดเครื่องประดับเขาสัตว์ด้วยโลกดิจิทัล

จากข้อมูลในปี 2017 พบว่าครึ่งหนึ่งของชาวเวียดนามสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ จึงทำให้ยอดค้าปลีกออนไลน์ในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวปีละ 35% (Business Forum 2017) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตลาดออนไลน์ของญี่ปุ่นถึง 2.5 เท่า ด้วยข้อได้เปรียบของต้นทุนที่ต่ำกว่าธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้าน จึงทำให้ผู้ผลิตเครื่องประดับเขาสัตว์ชาวเวียดนามแบรนด์ Quecraft มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการใช้ฐานออนไลน์รุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยนอกจากจะพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นหน้าร้านของตนเองแล้ว ยังกระจายงานคราฟต์ไปสู่ทั่วทุกมุมโลกผ่านเว็บไซต์ฮิปๆ อย่าง Etsy ที่เป็นชุมชนออนไลน์คล้ายกับ Ebay แต่ต่างกันตรงที่ Etsy จะวางขายได้เฉพาะสินค้าทำมือเท่านั้น

จากข้อมูลเบื้องต้นผู้ผลิตชาวไทยเองก็สามารถประยุกต์กลยุทธ์ของแบรนด์ Quecraft ในด้านการหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เจาะตลาดผู้ซื้อแต่งตัวมีสไตล์ ใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างเสน่ห์ให้สินค้าโดยการผูกโยงถึงเรื่องราวที่มาของวัตถุดิบที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเครื่องประดับและส่งต่อความภาคภูมิใจไปยังผู้สวมใส่ได้

-----------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมษายน 2561


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที