GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 29 มี.ค. 2018 05.14 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2852 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่รวมทองคำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 ทำรายได้ 1,437 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกทั้งเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยสีเจียระไน ขยายตัวได้ทุกรายการ ซึ่งนอกจากไทยจะสามารถส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้มากขึ้นแล้ว ยังมีตลาดใหม่ที่น่าจับตา เช่น กาตาร์ ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแทนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังจีน และรัสเซียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น 19.74% และ 1.33 เท่า


ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสดใส สองเดือนแรกโตกว่า 4%

สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2561

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2561 ลดลงร้อยละ 16.71 (ร้อยละ 24.51 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 ที่มีมูลค่า 2,641.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (93,222.87 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 2,200.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (70,371.37 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.44 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,437.31 ล้านเหรียญสหรัฐ (45,846.26 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.26 (ลดลงร้อยละ 5.64 ในหน่วยของเงินบาท)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ในสัดส่วนร้อยละ 34.68 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และมีมูลค่าลดลงร้อยละ 39.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรกทั้งสวิตเซอร์แลนด์ กัมพูชา และสิงคโปร์ได้ลดลงร้อยละ 5.12, ร้อยละ 8.67 และร้อยละ 79.74 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,331.52 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) ซึ่งปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้น ผู้ประกอบการไทยจึงชะลอการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา โดยรอเทขายทองคำฯ ในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกยังคงเป็นประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความผันผวนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐ และตลาดหุ้นของโลก

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.99 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม เติบโตได้ร้อยละ 2.68 โดยการส่งออก เครื่องประดับทอง ขยายตัวร้อยละ 6.09 เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดี หนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประกอบกับราคาทองคำที่ค่อนข้างทรงตัว ไทยจึงส่งออกเครื่องประดับทองไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และกาตาร์ ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกที่ต่างขยายตัวได้ร้อยละ 0.17, ร้อยละ 13 และร้อยละ 70.27 ตามลำดับ เครื่องประดับเงิน หดตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.97 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดสำคัญในอันดับ 4 ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 62.71 ในขณะที่ตลาด 3 อันดับแรกอย่างเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีน เติบโตได้ร้อยละ 19.81, ร้อยละ 3.80 และร้อยละ 19.74 ตามลำดับ เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.53 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2 ได้เพิ่มสูงกว่า 1.01 เท่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ตลาดอันดับ 1 จะลดลงร้อยละ 11.21 ก็ตาม ทั้งนี้ ตลาดที่มีแนวโน้มเติบได้ดี คือ สิงคโปร์ กาตาร์ และอิตาลี ซึ่งไทยส่งออกไปได้สูงกว่า 1.8 เท่า, 57.88 เท่า และ 18.43 เท่า ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 15.08 และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 9 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย จากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 96 ด้วยมูลค่าขยายตัวร้อยละ 9.98 โดยตลาดส่งออกหลักใน 4 อันดับแรกของไทยไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เบลเยียม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 4.52, ร้อยละ 15.62, ร้อยละ 47.19 และร้อยละ 59.33 ตามลำดับ สำหรับตลาดที่น่าจับตาคือ กาตาร์ ซึ่งไทยเพิ่งส่งออกเพชรเจียระไนไปกาตาร์เป็นครั้งแรก แต่กลับทำให้กาตาร์ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 5 แซงหน้าตลาดเดิมอื่นๆ อาทิ อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.37 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ขยายตัวร้อยละ 2.03 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2.32 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 65 ได้ลดลงร้อยละ 4.30 ส่วนตลาดสำคัญรองลงมาอย่างสหรัฐอเมริกา และอิตาลี ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 1.53 และร้อยละ 16.54 ตามลำดับ ส่วนการส่งออก พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.66 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และสหรัฐ-
อาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับ 1 และ 3 ได้สูงขึ้นร้อยละ 18.20 และกว่า 17.04 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 2 หดตัวลงร้อยละ 13.54

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 ในสัดส่วนร้อยละ 2.81 และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 24.02 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราวร้อยละ 40 และสิงคโปร์ ตลาดในอันดับ 2 ได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 24.24 และร้อยละ 84.66 ตามลำดับ

ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (รวมทองคำ) ที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คือ ฮ่องกง ในสัดส่วนร้อยละ 27.01 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับเงิน รวมถึงทองคำฯ ได้ลดลงร้อยละ 4.30 ร้อยละ 62.71 และร้อยละ 95.56 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไนเติบโตได้ไม่มากนักร้อยละ 0.17 และร้อยละ 4.52 ตามลำดับ

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 19.54 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.67 จากการส่งออกทองคำฯ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 96 ได้ลดลงร้อยละ 5.12

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.09 เติบโตร้อยละ 5.57 อันเป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ สินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 61ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 3.80 และร้อยละ 13 ตามลำดับ อีกทั้ง สินค้าสำคัญถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไนก็สามารถเติบโตได้ร้อยละ 1.53 และร้อยละ 59.33 ตามลำดับ

กัมพูชา นับเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 4 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 9.33 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.43 โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นทองคำฯ ซึ่งหดตัวลดลงร้อยละ 8.67

ส่วนตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญในอันดับ 5 คือ เยอรมนี ในสัดส่วนร้อยละ 5.13 ด้วยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.25 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ ในสัดส่วนราวร้อยละ 90 ซึ่งเกือบร้อยละ 90 เป็นการส่งออกเครื่องประดับเงิน ที่เติบโตร้อยละ 19.81 ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องประดับทอง ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.91

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ดังตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.26 โดยตลาดที่ขยายตัวได้ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จีน รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ที่ต่างมีอัตราการเติบโตร้อยละ 9.46, ร้อยละ 5.59, ร้อยละ 10.98, ร้อยละ 26.34, ร้อยละ 7.48 และ
ร้อยละ 82.31 ตามลำดับ

การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวยุโรปมีความเชื่อมั่นในการบริโภคมากขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นมาเป็นลำดับ โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่
ร้อยละ 1.4 หลังจากที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1 มาเป็นเวลาหลายปี

มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้นนั้น น่าจะมาจากความต้องการซื้อเครื่องประดับที่ยังคงดีตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ไทยส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในตลาดนี้ได้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจของ InStore Magazine ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า ผู้ค้าปลีกเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาเกือบร้อยละ 60 สามารถขายเครื่องประดับเงินได้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ขยายตัวนั้น เนื่องมาจากการส่งออกไปยังกาตาร์ ซึ่งขยับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้แทนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักของไทยมานานหลายทศวรรษ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังกาตาร์เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้สูงมาก ทั้งนี้ แต่เดิมกาตาร์นำเข้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เนื่องจากทางการสหรัฐ-อาหรับเอมิเรตส์เก็บทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมร้อยละ 10 จึงทำให้สินค้าที่นำเข้าแล้วส่งออกต่อมีราคาสูงขึ้นมาก ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่กาตาร์จะหันมานำเข้าจากไทยโดยตรง

มูลค่าการส่งออกไปยังจีนที่ขยายตัวได้นั้น จากการส่งออกเครื่องประดับเงินไปได้สูงขึ้นร้อยละ 19.74 โดยบริษัทส่งออกอันดับ 1 ของไทยคือ บริษัท แพนดอร่า จำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีเสถียรภาพ ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น และผู้มีกำลังซื้อนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีราคาแพงก็ตาม ด้วยเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพที่มีมากกว่าแบรนด์ท้องถิ่น

ส่วนรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชยังคงเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่เติบโตได้เป็นอย่างดี โดยไทยส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ตลาดหลักในภูมิภาคนี้ รวมถึงตลาดรองลงมาอย่างยูเครน และคาซัคสถาน ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ ผู้ขายเครื่องประดับจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ ไม่เพียงจะจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้านค้าเท่านั้น หากแต่ยังวางจำหน่ายผ่านออนไลน์อีกด้วย ซึ่งจำนวนไม่น้อยจำหน่ายสินค้าบน eBay.com (http://www.sovietjewelry.com)

สำหรับตลาดที่หดตัวลงได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น อาเซียน และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.12,ร้อยละ 12.03, ร้อยละ 13.45 และร้อยละ 9.44 ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไนได้ลดลง ส่วนการส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 91 ได้น้อยลง โดยสินค้าหลักในออสเตรเลียเป็นเครื่องประดับเงินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.53

บทสรุป

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.71 (ร้อยละ 24.51 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าเติบโตร้อยละ 4.26 (ลดลงร้อยละ 5.64 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.53 (หดตัวลงร้อยละ 5.40 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) ดังตารางที่ 3

แม้ว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในปีนี้จะขยายตัวได้ หากแต่ถูกสกัดจากปัจจัยค่าเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐที่ยังคงผันผวนในทิศทางแข็งค่า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.27 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 10.11 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีส่วนทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่มากเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกลับมีประโยชน์ต่อการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้วัตถุดิบนำเข้ามีราคาถูกลง

เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น (Research and Development หรือR&D) เพื่อค้นหา “นวัตกรรม” ช่วยสร้างมูลค่าที่แตกต่างให้กับสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดและความสำเร็จของธุรกิจในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ควรบริหารต้นทุนให้เหมาะสม ส่งเสริมบุคลากรในหน่วยงานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เร่งรุกบุกตลาดใหม่ๆ โดยตลาดที่น่าสนใจคือ กาตาร์ ซึ่งนำเข้าเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไนจากไทยสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ รวมถึงตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่นำเข้าเครื่องประดับเงินไทยสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังควรติดตาม

เทรนด์ของตลาดเพื่อผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยในปี 2561 Pantone ได้ประกาศให้สีอัลตราไวโอ-เล็ต (สีม่วงโทนนำเงิน) เป็นสีแห่งปี ฉะนั้น สินค้าที่เกี่ยวกับสีม่วงไม่ว่าจะเป็นเพชรสีม่วง หรือพลอยสีอย่างแซปไฟร์สีม่วง แอเมทิสต์ หรือแทนซาไนต์ เป็นต้น น่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกิจการ SMEs แบบรับจ้างผลิตก็ควรเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ประหยัดต้นทุน และต่อยอดสู่การสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง เพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจและประเทศในระยะยาว

 

--------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

27 มีนาคม 2561

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที