อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดีย โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนราว 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งสามารถสร้างงานให้แก่ชาวอินเดียได้กว่า 2.5 ล้านตำแหน่ง ในด้านการนำเข้านั้น อินเดียเป็นผู้นำเข้าทองคำมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของโลกด้วยมูลค่า 36,253.80 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากสวิตเซอร์แลนด์ที่มูลค่า 70,068.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ 80% ของการนำเข้าทองคำของอินเดียเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับทอง โดยปัจจุบันอินเดียมีการเก็บภาษีนำเข้าทองคำที่สูงถึง 10%
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 2560 ได้เกิดประเด็นเรื่องการปรับลดภาษีนำเข้าทองคำของอินเดีย ดังนั้นเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องภาษีนี้ได้อย่างตรงประเด็น ทางศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับจึงจัดทำบทความดังกล่าวในรูปแบบของคำถาม เพื่อเล่าถึงอดีตความเป็นมาของภาษีดังกล่าว สถานการณ์ปัจจุบันของอินเดีย และผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยหากการลดภาษีนำเข้าทองคำของอินเดียเกิดขึ้นจริง ในบทความ 3 คำถามเกี่ยวกับภาษีทองคำของอินเดีย
#1 เมื่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินเดีย แล้วทำไมภาษีนำเข้าทองคำต้องสูงถึง 10%
สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ 2555 อินเดียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 4.7% ของ GDP ซึ่งมีสาเหตุหลักจากมูลค่าการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก โดยทองคำเป็นหนึ่งในสินค้านำเข้าที่ทำให้อินเดียขาดดุลอย่างมหาศาล จึงทำให้รัฐบาลอินเดียต้องใช้ยาแรงอย่างมาตรการทางภาษีเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าดังกล่าว โดยในปี 2555 ได้ทยอยปรับภาษีขาเข้าจาก 2% เป็น 4%, 6%, 8% จนหยุดอยู่ที่ 10% ในเดือนสิงหาคม 2556 รวมทั้งธนาคารกลางของอินเดียได้กำหนดสัดส่วนการนำเข้าทองคำเป็น 80:20 นั่นคือ การนำเข้าทองคำร้อยละ 80 จะต้องถูกนำเข้ามาเพื่อใช้ภายในประเทศ และอีกร้อยละ 20 จะต้องนำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นเครื่องประดับเพื่อการส่งออกเท่านั้น
ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ในปี 2556 อินเดียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือเพียง 1.7% ของ GDP รวมทั้งการนำเข้าทองคำก็ลดลงทันทีถึง 25% แต่มาตรการดังกล่าวก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่น้อย เพราะส่งผลให้เครื่องประดับทองของอินเดียมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในตลาดโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบโดยเปรียบเทียบ นอกจากนั้นผลที่ตามมาอีกประการคือทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าทองคำอย่างมหาศาลถึง 120 ตันในปี 2559 (ข้อมูลจาก World Gold Council)
#2 นอกจากภาษีนำเข้าทองคำ 10% แล้ว ยังมีอะไรเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย
ในปี 2559 การส่งออกเครื่องประดับทองของอินเดียมีมูลค่า 9,046.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.09% ขณะที่ปี 2560 มูลค่าดังกล่าวหดตัวลงถึง 9.06% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากเศรษฐกิจภายในของคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 5% ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อมกราคม 2561 และการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) 3% สำหรับทองคำและเครื่องประดับทองภายในประเทศอินเดียเอง ที่ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ล้วนจะยิ่งทำให้มูลค่าการส่งออกและการบริโภคทองคำภายในประเทศอินเดียลดลง จึงทำให้ประธานสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย (Gem and Jewellery Export Promotion Council: GJEPC) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีการนำเข้าทองคำลงจาก 10% เหลือเพียง 4% เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศได้
#3 หากอินเดียลดภาษีนำเข้าทองคำลงจริงจาก 10% เหลือเพียง 4% จะเกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยอย่างไร
ประเด็นดังกล่าวคุณเบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้เกียรติตอบข้อสงสัย ว่าหากอินเดียลดภาษีการนำเข้าทองคำลงจริงจะส่งผลกระทบกับไทยแน่นอนแต่จะมากหรือน้อยนั้น ขอแบ่งเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าทองคำ และผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในภาพรวม กล่าวคือ ในด้านผลกระทบต่อผู้ส่งออกทองคำของไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแต่คงไม่มาก เพราะหากดูสถิติการค้าจะพบว่าอินเดียเป็นตลาดส่งออกทองคำของไทยในลำดับที่ 9 มีสัดส่วนการส่งออก 0.79% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าเพียง 45.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดส่งออกทองคำหลักของไทยคือสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีมูลค่าถึง 3,280.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในภาพรวม จะพบว่านักลงทุนจะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะหากมีการลดภาษีนำเข้าทองคำจริง จะทำให้ราคาทองคำในตลาดอินเดียลดลง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ต่อทองคำในประเทศมากขึ้น และจะทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด ดังนั้นจะส่งผลบวกต่อภาพรวมการลงทุนของไทยแต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ราคาวัตถุดิบทองคำเพิ่มขึ้นและกลับมาส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตเครื่องประดับทองเช่นกัน
ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการลดภาษีนำเข้าทองคำของอินเดียจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะหากดูบริบทของบัญชีเดินสะพัดของอินเดียแล้วจะพบว่าปี 2560 ที่ผ่านมาอินเดียขาดดุลมหาศาลจากการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก ดังนั้นหากอินเดียผ่อนคลายมาตรการจำกัดการนำเข้าทองคำลงจริง จะยิ่งทำให้นำเข้าทองคำมากขึ้น และจะยิ่งซ้ำเติมให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แม้กระทั่งสำนักข่าว Economictimes ของอินเดียเองก็ยังมองว่าการลดภาษีดังกล่าวเป็นเรื่องยาก หรือหากเกิดขึ้นจริงก็คงลดลงเหลือเพียง 8% จากเดิม 10% ก็เป็นได้
--------------------------------
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที