GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 ก.พ. 2018 09.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4272 ครั้ง

จังหวัดน่านจัดเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย การทำหัตถกรรมเครื่องเงินของจังหวัดน่านได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นบรรพบุรุษมาสู่รุ่นปัจจุบัน จึงทำให้เครื่องเงินของจังหวัดน่านยังคงไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา โดยปัจจุบันหัตถกรรมเครื่องเงินแห่งเมืองน่าน สามารถแบ่งได้เป็นสองแหล่ง ได้แก่ เครื่องเงินโบราณท้องถิ่นน่าน และเครื่องเงินชาวเขา หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ชมพูภูคา”


เครื่องเงินแห่งเมืองน่าน



เครื่องประดับเงินน่านร้านสกุลเงิน

น่านเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นแนวภูเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยม่านหมอก บรรยากาศของเมืองแห่งนี้จึงมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ประกอบกับมีวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งวัฒนธรรมน่านดั้งเดิม และวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ ได้ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นที่สะท้อนออกมาผ่านงานหัตถกรรมเครื่องเงิน และเครื่องประดับเงิน

ความเป็นมาของเครื่องเงินเมืองน่าน

จังหวัดน่านจัดเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย การทำหัตถกรรมเครื่องเงินของจังหวัดน่านได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นบรรพบุรุษมาสู่รุ่นปัจจุบัน จึงทำให้เครื่องเงินของจังหวัดน่านยังคงไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา โดยปัจจุบันหัตถกรรมเครื่องเงินแห่งเมืองน่าน สามารถแบ่งได้เป็นสองแหล่ง ได้แก่ เครื่องเงินโบราณท้องถิ่นน่าน และเครื่องเงินชาวเขา หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ชมพูภูคา”


♦ เครื่องเงินแบบดั้งเดิม หรือเครื่องเงินโบราณ

เครื่องเงินแบบดั้งเดิมของเมืองน่านมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่เมื่อครั้งช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้มีการทำสงครามและกวาดต้อนเทครัวช่างเงินและช่างทองจากฮ่อน้อย ฮ่อหลวง เมืองยอง และเชียงแสน มายังบริเวณบ้านประตูป่องของเมืองน่าน จนเกิดการก่อตั้งรกรากและถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินของช่างพื้นเมืองน่าน ซึ่งได้ปรากฏออกมาในรูปแบบของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ สลุงเงิน (ขันเงิน) พานรอง คุหมากเงิน (ภาชนะที่ทำเป็นตลับใช้สำหรับบรรจุหมากพลู) กระบวย และเชี่ยนหมาก โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองน่าน ได้แก่ ลายดอกกระถิน และลาย 12 นักษัตร นอกจากนี้ ยังพบว่าช่างท้องถิ่นได้นำเอาศิลปะของลาวและเมียนมาผสมผสานลงในชิ้นงานด้วย    
 

♦ เครื่องเงินชาวเขา



 
เครื่องประดับเงินน่านร้านพันศิลป์ซิลเวอร์
           
เครื่องเงินชาวเขา หรือ เครื่องเงินชมพูภูคาที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในปัจจุบันเป็นฝีมือของช่างชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) และเผ่าม้ง (แม้ว) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ตั้งรกรากในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน แต่เดิมชาวเขาเผ่าเมี่ยนประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยและทำสวนเป็นหลัก แต่ในปี 2515 บริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้เกิดปัญหาภัยแล้งและพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ชาวเขาเผ่าเมี่ยนจึงได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าเกี่ยวกับงานหัตถกรรมฝีมือต่างๆ อาทิ งานหัตถกรรมเครื่องประดับเงิน งานสิ่งทอ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่ายเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการทำเครื่องประดับเงินถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่าของชาวเผ่าเมี่ยน เพราะนอกจากจะเป็นงานหัตถกรรมที่มีมูลค่าทางการค้ามากที่สุดแล้วยังเป็นสินค้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม และค่านิยมของชาวเขาเผ่าเมี่ยนออกมาได้อย่างชัดเจน   
           
นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ชาวเขาเผ่าเมี่ยนได้หันมาประกอบอาชีพผลิตเครื่องเงินกันมากขึ้น เรื่อยมาจนปี 2538 ได้มีการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจัง โดยได้รวมเอางานหัตถกรรมประเภทต่างๆ ทั้งเครื่องประดับเงิน งานเย็บปัก สิ่งประดิษฐ์ และสิ่งทอมารวมเป็นแหล่งเดียว ภายใต้การจัดตั้งเป็น “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน” เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าส่วนกลางให้แก่ผู้ที่มาเยือน โดยในส่วนของเครื่องเงินชมพูภูคาซึ่งเป็นงานฝีมือของชาวเขาเผ่าเมี่ยน มักมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน อาทิ ลวดลายจากธรรมชาติ จำพวกดอกไม้ที่มีความอ่อนช้อย ชิ้นงานต่างๆ ที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงิน ทั้งสร้อยคอ กำไลข้อมือ ต่างหู แหวน ปิ่นปักผม จี้เงิน และเข็มขัด นอกจากนี้ยังมีการผลิตเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย อาทิ ขันเงิน โถใส่ของ ตลับเงิน กระบวย และพานรอง เป็นต้น

เอกลักษณ์และความงดงามของเครื่องเงินเมืองน่าน

เครื่องเงินเมืองน่านทั้งในรูปแบบของเครื่องเงินโบราณ และเครื่องเงินชมพูภูคา มีชื่อเสียงทั้งใน ด้านคุณภาพและความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งชิ้นงานส่วนใหญ่ทำขึ้นด้วยมือ จึงมีความประณีตและอ่อนช้อยงดงามมากกว่าเครื่องเงินทั่วไปตามท้องตลาด โดยเครื่องเงินของเมืองน่านมีความพิเศษในการเลือกใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงกว่ามาตรฐาน เป็นเม็ดเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์ระหว่าง 96-98% ซึ่งมีความอ่อนตัวสูงกว่าเนื้อเงินทั่วไป ทำให้นำไปตีหรือขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น ประกอบกับกรรมวิธีในการตีเครื่องเงิน และการออกแบบลวดลายก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามแบบฉบับของช่างเงินท้องถิ่น และช่างเงินชาวเขา

ลักษณะของเครื่องเงินเมืองน่าน นอกจากจะมีความอ่อนตัวมากกว่าเครื่องเงินทั่วไปแล้วเนื้อโลหะจะมีลักษณะไม่มันวาว พื้นผิวดูมีความเรียบ และชิ้นงานมีน้ำหนักมากกว่าสแตนเลส ลวดลายที่ปรากฏส่วนมากมักมีที่มาจากลวดลายทางธรรมชาติ อาทิ ลายดอกกระถิน ลายพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์ ลายดอกกลีบบัวหรือกาบบัว ลายตาสับปะรด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่โดดเด่น ได้แก่ ลายเทพพนม และลายสิบสองนักษัตร ซึ่งปัจจุบันการผลิตเครื่องประดับเงินของจังหวัดน่านมีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์และการออกแบบลวดลายให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคหลายช่วงวัยสามารถใช้สอยได้เหมาะกับตนเอง


กรรมวิธีการผลิตเครื่องเงินเมืองน่าน

กรรมวิธีในการผลิตเครื่องเงินเมืองน่านเริ่มต้นจากการหลอมเม็ดเงินบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิสูงถึง 900 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาประมาณ 40 นาที จนหลอมละลายแล้วจึงนำไปเทใส่ลงในบล็อก ทิ้งไว้ให้เย็นตัวลงแล้วจึงเคาะออกมา เข้าสู่กระบวนการรีดให้แบนเป็นแผ่น หรือรีดเป็นเส้นตามแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ แล้วจึงนำไปขึ้นรูปตกแต่งด้วยความประณีต สุดท้ายจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บงาน อาทิ การเผา การขัดเงาให้เกิดความมันเงา ตลอดจนทำความสะอาดสิ่งเจือปนต่างๆ บนชิ้นงาน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยเตรียมพร้อมสู่การจัดจำหน่าย

สภาพตลาดในปัจจุบันของเครื่องเงินเมืองน่าน 

จังหวัดน่านถือเป็นหนึ่งในแหล่งการค้าเครื่องเงินที่สำคัญของประเทศ มีผู้ประกอบการเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินจำนวนหลายราย ช่องทางการค้านอกจากจะจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกแล้ว ยังมีศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่านเป็นทั้งแหล่งผลิต แหล่งรับซื้อ รับฝากขายสินค้า และฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชน ตลอดจนทำหน้าที่เสมือนคนกลางที่ช่วยกระจายสินค้าออกไปทั้งในและต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าของเครื่องเงินเมืองน่านในปัจจุบัน ถือได้ว่าสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากจะได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคไทยแล้ว เครื่องเงินเมืองน่านก็เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ด้วยอานิสงส์ของการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ช่วยดันยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30-40 คิดเป็นรายได้รวมสูงกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้านี้จำหน่ายได้มากในช่วงไฮซีซั่น หรือช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีที่จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาเยือน

ด้านการกระจายสินค้านอกจากจะมีหน้าร้านของผู้ประกอบการแต่ละราย และการวางจำหน่ายสินค้าในศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาแล้ว ยังมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด  บริเวณพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง และในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลทุกสาขา รวมถึงการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผ่านพ่อค้าคนกลางไปยังต่างประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดยุโรป บราซิล และอินเดีย เป็นต้น

ปัจจุบันแม้ธุรกิจเครื่องเงินเมืองน่านจะประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต อาทิ ปัญหาช่างฝีมือที่ลดน้อยลง กำลังการผลิตมีไม่เพียงพอ จนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของลูกค้า และปัญหาราคาวัตถุดิบเม็ดเงินบริสุทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าจากประเทศจีนและออสเตรีย ประกอบกับราคาในการซื้อขายแต่ละครั้งก็ไม่มีความแน่นอน จึงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จนผู้ประกอบการอาจต้องเพิ่มราคาขายเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน แต่ขณะเดียวกันการปรับขึ้นราคาอาจส่งผลให้ความต้องการซื้อปรับลดลงจนเกิดความเสี่ยงต่อยอดขายของผู้ประกอบการด้วย
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2561

-------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
1. “เครื่องเงินเมืองน่าน”, กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องเงินน่าน (www.nansilvers.com).
2. “ชมพูภูคา...ลุคใหม่เครื่องเงินเมืองน่าน ออกแบบอินเทรนด์มัดใจวัย 4.0”, ผู้จัดการออนไลน์ (ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2560).
3. “ลืมตามาก็เห็นแต่เงิน! พิสูจน์ฝีมือเจน 2 สานต่อเครื่องเงิน ชมพูภูคา”, ไทยรัฐออนไลน์ (ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2560).
4. “เครื่องเงินทำมือ 'ชมพูภูคา' ชูอัตลักษณ์ชนเผ่าม้ง-เมี่ยน”, คมชัดลึกออนไลน์ (ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2560).
5. “ธุรกิจเครื่องเงินน่านโตเงียบ อานิสงส์ท่องเที่ยวบูมต่อเนื่อง”, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2558).
6. เครื่องเงินชมพูภูคา จังหวัดน่าน, เอกสารจากศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน PHUKHA SILVER .


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที