สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2533 จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเมียนมา และได้ออกกฎหมาย Tom Lantos Block Burmese JADE (Junta’s Anti-Democratic Efforts) หรือเรียกอย่างย่อว่า Jade Act 2008 ลงนามโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน 2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ห้ามนำทับทิมและหยก รวมถึงเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยทับทิมและหยกจากเมียนมาเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาทั้งจากเมียนมาโดยตรงและผ่านประเทศที่สาม โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นแหล่งระดมทุนของรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ทั้งนี้ มิได้มีสหรัฐฯ ประเทศเดียวที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา หากแต่รวมถึงสหภาพยุโรปก็ดำเนินมาตรการดังกล่าวเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในปี 2554 ผู้นำทหารเมียนมาได้เริ่มปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ โดยการปรับปรุงกฎระเบียบการค้าและออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุน จึงทำให้ในปี 2555 สหรัฐฯ ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลงบ้าง แต่ยังคงกฎหมาย Jade Act 2008 อยู่ ในขณะที่สหภาพยุโรปได้เริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบางประเภทต่อเมียนมา รวมถึงยกเลิกการห้ามนำเข้าทับทิมและหยกในปี 2555 และยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดในปี 2556
เมียนมาได้เข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว หลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางอองซาน ซูจีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2559 โดยมีการหารือประเด็นสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา จากนั้นผู้นำสหรัฐฯ จึงได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เหลืออยู่รวมถึงกฎหมาย Jade Act 2008 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 พร้อมทั้งเพิ่มเมียนมาเข้าไปในบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized Preference System: GSP) ทำให้สินค้าส่งออกจากเมียนมาไปยังสหรัฐฯ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ากว่า 5,000 รายการ
ปฏิกิริยาตอบรับจากสหรัฐฯ และเมียนมา
ทันทีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ทราบข่าวการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา ผู้นำในหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีของสหรัฐฯ อันได้แก่ American Gem Trade Association (AGTA), Jewellers of America (JA) และ Gemological Institute of America (GIA) ได้เดินทางเข้าพบหน่วยงานรัฐบาลและผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีเมียนมา เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าและหารือแนวทางการขยายการค้าอัญมณีระหว่างสหรัฐฯ และเมียนมา อีกทั้งได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเมียนมาในหลายประเด็น เช่น การให้แยกออกใบอนุญาตการทำเหมืองอัญมณีและเหมืองหยก การทำแผน 10 ปีในการฟื้นฟูสภาพเหมืองเก่า รวมถึงการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเหมืองรายใหม่จะต้องกำหนดความรับผิดชอบฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ของเหมืองที่เสื่อมสภาพด้วย การพัฒนาความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการหนีภาษีและการคอรัปชั่น รวมทั้งยังเสนอความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีของเมียนมาให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันทาง GIA ได้เข้าไปให้ความรู้การตรวจสอบอัญมณีและห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีแก่ชาวเมียนมาแล้ว
ในส่วนของเมียนมาเองก็เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีศักยภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น เริ่มจากเมื่อต้นปี 2560 เพื่อทำการจัดระเบียบการทำกิจการเหมืองอัญมณี รัฐบาลเมียนมาจึงไม่ต่อใบอนุญาตสำหรับเหมืองอัญมณีที่หมดสัมปทานในเมืองโมกก แต่เหมืองที่ยังมีสัมปทานอยู่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในเมืองโมกก โดยรัฐบาลอ้างว่าเหมืองอัญมณีบางแห่งในเมืองโมกกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังต่อต้านรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของชาวต่างชาติ จึงจำเป็นต้องปิดเมืองโมกกอย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ดี วงในแวดวงอัญมณีของเมียนมากล่าวว่า เบื้องหลังของการห้ามต่างชาติเข้าเมืองโมกกนั้นก็เพื่อเตรียมมาตรการขจัดปัญหาการผูกขาดการซื้อขายอัญมณีจากชาวจีน ซึ่งมักไปซื้ออัญมณีถึงหน้าเหมืองโมกก
นอกจากนี้ เมียนมายังได้กำหนดมาตรการลดภาษีนำเข้า เพื่อสนับสนุนให้มีอัญมณีไหลเข้าประเทศมากขึ้น โดยลดภาษีนำเข้าพลอยก้อนทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน รวมถึงเพชรก้อนจากต่างประเทศเหลือร้อยละ 0 และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา ส่วนพลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมถึงเพชรที่ผ่านการตัดหรือโกลนลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 5 และร้อยละ 3 ตามลำดับ อีกทั้งรัฐบาลเมียนมายังมีนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีโดยกำหนดให้มีการส่งออกพลอยสีและหยกที่ผ่านการเจียระไนแล้วเท่านั้น รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการอัญมณีเมียนมาออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการออกงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาได้นำเสนอร่างกฎหมาย Myanmar Gemstone Law, 2017 ต่อรัฐสภา โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรีอัญมณีมากขึ้น หากแต่ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐบาลกำหนด อาทิ ผู้ค้าอัญมณีจะต้องขอใบอนุญาตการค้าจากรัฐบาล และการจ่ายภาษีการค้าตามที่รัฐบาลกำหนด อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และภาคเอกชนก็มีความเห็นขัดแย้งในหลายประเด็น จึงยังไม่มีกำหนดการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มการจัดประมูลอัญมณี ที่จัดขึ้น ณ กรุงเนปิดอว์ จากปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการซื้อขายอัญมณีในเมียนมา ในส่วนของภาคเอกชนเองก็ร่วมมือกับรัฐบาลในทุกด้าน และอยู่ระหว่างการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของเมียนมาให้เติบโตมากขึ้น
การค้าอัญมณีเมียนมาหลังยกเลิก Jade Act 2008
ก่อนที่สหรัฐฯ จะบังคับใช้กฎหมาย Jade Act 2008 การซื้อขายทับทิมส่วนใหญ่ในโลกกว่าร้อยละ 90 เป็นทับทิมที่มาจากเมียนมา แต่หลังจากสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้การค้าทับทิมระหว่างเมียนมากับสหรัฐฯ หยุดชะงักลง และการค้าทับทิมในตลาดโลกก็ลดลง ส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าเพื่อส่งออกต่อ อาทิ ไทย ฮ่องกง และอินเดีย เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถส่งออกทับทิมเมียนมาไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคอัญมณี(โดยเฉพาะทับทิม) รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ จึงทำให้ต้องหาแหล่งวัตถุดิบทับทิมจากประเทศอื่นทดแทน อย่างไรก็ตามพ่อค้าอัญมณีเมียนมารายหนึ่งกล่าวว่า แม้ว่าจะมี Jade Act 2008 แต่ก็ยังมีการซื้อขายทับทิมกับพ่อค้าสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม หรือขายผ่านพ่อค้าคนกลางอย่างไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมถึงการขายผ่านงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศด้วย การที่สหรัฐฯ ยกเลิก Jade Act 2008 ช่วยให้การค้าทับทิมกับสหรัฐฯ เป็นไปอย่างเปิดเผยและถูกกฎหมายมากขึ้น
หลายฝ่ายมองว่าการยกเลิก Jade Act 2008 จะทำให้การค้าอัญมณีในเมียนมาและตลาดโลกมีความคึกคักมากขึ้น แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าเมืองโมกกอย่างไม่มีกำหนด กลับทำให้ตลาดค้าอัญมณีในเมียนมาซบเซาลงมาก เพราะเดิมทีผู้ซื้ออัญมณีในเมืองโมกกส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจากหลากหลายประเทศ อีกทั้งพ่อค้าเมียนมายังมีข้อจำกัดในการนำวัตถุดิบออกจากเหมืองและการส่งออก โดยก่อนการส่งออกอัญมณีจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาล รวมถึงการเสียภาษีส่งออกอัญมณีเจียระไนที่ค่อนข้างสูง ตลอดจนการไม่มีความชำนาญในการทำตลาดต่างประเทศ ล้วนส่งผลให้มีปริมาณทับทิมออกสู่ตลาดโลกน้อยลง ประกอบกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ความต้องการทับทิมจากเมียนมายังมีไม่สูงมากนัก ในส่วนของการค้าหยกนั้น การยกเลิก Jade Act 2008 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าหยก เพราะผู้บริโภคหยกเมียนมารายใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน หากแต่การค้าหยกซบเซาลงเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ในโอกาสที่สหรัฐฯ ยกเลิกกฎหมาย Jade Act 2008 ครบหนึ่งปี GIT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าอัญมณีเมียนมาในปัจจุบันจากผู้ค้าอัญมณีทั้งไทยและเมียนมา คุณวีระศักดิ์ ตรีโรจส์อนันต์ เจ้าของบริษัท วีระศักดิ์ เจมส์ จำกัด ผู้ค้าอัญมณีกับเมียนมาเป็นเวลานาน ให้สัมภาษณ์กับ GIT ว่า “นับตั้งแต่ยกเลิก Jade Act 2008 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี การค้าทับทิมเมียนมายังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไหร่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ดีนัก และมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าสหรัฐฯ บ้างแต่ไม่มาก หากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจมากขึ้นก็คงจะมีคำสั่งซื้อทับทิมเมียนมาจากสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่นมากขึ้น”
คุณภูเก็ต คุณประภากร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวกับ GIT ว่า “กว่า 1 ปีหลังสหรัฐฯ ยกเลิก Jade Act 2008 การค้าทับทิมเมียนมาในตลาดโลกยังคงทรงตัว เพราะมีปริมาณทับทิมออกสู่ตลาดน้อย และมีราคาสูง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ผู้ซื้อบางรายจึงชะลอการซื้อทับทิมเมียนมาและหันไปซื้อทับทิมจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน แต่ในส่วนของบริษัทตนเองนั้นมีคำสั่งซื้อทับทิมของเมียนมาจากลูกค้าทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มากนัก และมองว่าการค้าทับทิมเมียนมาในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต”
Mr. Aung Naing Tun จาก Maniyadanar Gem & Jewellery Co.Op เปิดเผยกับ GIT ว่า “การค้าทับทิมเมียนมาขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวยุโรป และเอเชีย แต่ก็เริ่มได้รับคำสั่งซื้อทับทิมจากชาวสหรัฐฯ บ้าง หากแต่ยังมีปริมาณน้อยอยู่ โดยส่วนมากได้รับคำสั่งซื้อจากที่ไปเข้าร่วมงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ในไทย และงานแสดงสินค้าในสิงคโปร์ และฮ่องกง เชื่อว่าในอนาคตการค้าทับทิมเมียนมาน่าจะดีมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพวัตถุดิบอัญมณีของเมียนมา โดยเฉพาะทับทิมซึ่งมีความสวยงามและมีคุณภาพดี จึงทำให้ทับทิมเมียนมายังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก กอปรกับรัฐบาลเมียนมากำลังปฏิรูปการค้าและการผลิตอัญมณีภายในประเทศ รวมถึงการพยายามเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แก่ผู้ประกอบกิจการอัญมณี และส่งเสริมผู้ค้าอัญมณีออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่การค้าอัญมณีเมียนมาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่เนื่องจากเมียนมาเพิ่งเริ่มออกสู่ตลาดโลกได้ไม่นานจึงทำให้ยังไม่มีความชำนาญในการทำตลาดต่างประเทศ ฉะนั้น ไทยจึงควรใช้ความได้เปรียบในฐานะเป็นประเทศคู่ค้าอัญมณีกับเมียนมาเป็นเวลานาน และมีความเชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศ ในการเป็นศูนย์กลางรับคำสั่งซื้ออัญมณีเมียนมาจากประเทศคู่ค้าต่างๆ ผ่านพ่อค้าไทย รวมถึงการใช้จุดแข็งจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านความร่วมมือหรือให้ความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเมียนมา ก็น่าจะทำให้ไทยและเมียนมาเป็นพันธมิตรทางการค้าได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มกราคม 2561
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที