GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 29 ธ.ค. 2017 09.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1218 ครั้ง

ปัจจุบันจีนถือเป็นผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความต้องการบริโภคเครื่องประดับทั้งหมดในตลาดโลก ติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ http://infocenter.git.or.th


ความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในจีนเพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อกลุ่มมิลเลนเนียล

 

ที่มา: China Internet Information Center (http://www.china.org.cn)


ปัจจุบันจีนถือเป็นผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความต้องการบริโภคเครื่องประดับทั้งหมดในตลาดโลก โดยจากรายงานของ The China Gold Association พบว่าในภาพรวมผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคทองคำแท่ง และเครื่องประดับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2017 ในปริมาณ 815.9 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นความต้องการบริโภคทองคำแท่งที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่นิยมซื้อทองคำแท่งเพื่อนำมาใช้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคเครื่องประดับที่ทำจากทองคำก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคิดเป็นร้อยละ 7.44 ซึ่งจากภาพรวมของพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน พบว่าผู้บริโภคในกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 1980 จนถึงปี 2000 ถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความต้องการบริโภคทองคำ และเครื่องประดับในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นประชากรที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน มีกำลังซื้อ มีความคิดก้าวทันตามกระแสโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จึงทำให้เปิดรับการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในจีนได้มากกว่าผู้บริโภครุ่นเก่า

จากอิทธิพลของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลที่ทำให้ภาพรวมของตลาดการค้าเครื่องประดับในจีนกลับมาคึกคักและมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการในจีนเกิดแรงจูงใจที่จะเพิ่มมูลค่าทางการค้า โดยหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบชิ้นงานเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัย และเป็นไปตามเทรนด์แฟชั่นมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อรสนิยมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ควบคู่ไปกับการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อผลักดันให้ยอดขายเครื่องประดับเติบโตได้ดียิ่งขึ้นในปีถัดไป
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


-------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. “Millennials, online sales driving gold demand.” The China Daily (December 1, 2017).
2. “China’s Gold Bar and Gold Jewelry Demand up More Than 40% This Year”, The China Daily (November 1, 2017).


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที