GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 28 ธ.ค. 2017 08.16 น. บทความนี้มีผู้ชม: 11313 ครั้ง

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่นและงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยโดยเปรียบดั่งศูนย์กลางของภาคเหนือที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม โดยปัจจุบันแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญของเชียงใหม่ ปรากฏอยู่บริเวณย่านวัวลาย อำเภอเมืองเชียงใหม่ และตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง ซึ่งแหล่งผลิตเครื่องเงินทั้งสองแห่งเป็นชุมชนหัตถกรรมเก่าแก่ที่ปัจจุบันยังคงสืบสานการทำเครื่องเงิน เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป จนมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เครื่องเงินแห่งเมืองล้านนา


 

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่โดดเด่นและงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยโดยเปรียบดั่งศูนย์กลางของภาคเหนือที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนา โดยเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินของจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงและมีเสน่ห์ในตัวเอง ทั้งลวดลายและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนา

โดยปัจจุบันแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สำคัญของเชียงใหม่ ปรากฏอยู่บริเวณย่านวัวลาย อำเภอเมืองเชียงใหม่ และตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง ซึ่งแหล่งผลิตเครื่องเงินทั้งสองแห่งเป็นชุมชนหัตถกรรมเก่าแก่ที่ปัจจุบันยังคงสืบสานการทำเครื่องเงิน เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป จนมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 

เครื่องเงินวัวลาย
 

ความเป็นมาของเครื่องเงินวัวลาย

เครื่องเงินของบ้านวัวลายปรากฏหลักฐานมาช้านานตั้งแต่สมัยของพญามังรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ และมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรพุกาม จนมีการเจรจาขอช่างฝีมือเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อฝึกฝนการทำเครื่องเงินให้กับชาวเมืองเชียงใหม่ โดยชาวเมืองมักจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อว่างเว้นจากการเก็บเกี่ยวก็จะมาเป็นช่างฝีมือ โดยแทบทุกบ้านจะมีอุปกรณ์และเตาเส่าสำหรับผลิตเครื่องเงินออกมาใช้สอยและจำหน่ายแก่ผู้คนในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทักษะและรูปแบบการทำเครื่องเงินได้ถูกถ่ายทอดจากคนในชุมชนสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มมีการก่อตั้งร้านจำหน่ายเครื่องเงินรุ่นแรกๆ ขึ้นบนถนนวัวลาย ต่อมาในปี 2520-2530 เมื่อความต้องการของตลาดมีมากขึ้น ทำให้จำนวนร้านค้าเครื่องเงินบริเวณริมถนนวัวลายเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านเครื่องเงิน” (Silver Village)
           
ชาวชุมชนบ้านวัวลายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยึดอาชีพการทำเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยการทำเครื่องเงินมักเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยกันผลิตในครัวเรือน ส่วนมากผู้ชายจะเป็นฝ่ายตีเครื่องเงิน ในขณะที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายตกแต่งลวดลายให้มีความประณีต สวยงาม

ส่วนผู้เฒ่าและเด็กๆ จะรับหน้าที่ขัดเงาให้เครื่องเงินมีความงดงามน่าใช้ นับเป็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชนวัวลายที่ได้มีการรักษาศิลปวัฒนธรรมล้านนาเอาไว้เป็นเวลานานหลายร้อยปี
 
 
เอกลักษณ์ท้องถิ่นที่ถ่ายทอดลงสู่เครื่องเงินวัวลาย

 “เครื่องเงินของชุมชนวัวลาย” ปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 ชุมชนที่มีการทำเครื่องเงิน ได้แก่ ชุมชนศรีสุพรรณ ชุมชนหมื่นสาร และชุมชนนันทาราม ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วไปถึงความประณีตศิลป์ในชิ้นงานการมีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์จากกรรมวิธีการดุนลาย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่างเงินในชุมชนวัดศรีสุพรรณแห่งย่านวัวลายมีความชำนาญ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินในย่านนี้ โดยส่วนมากแล้วรูปแบบหัตถกรรมเครื่องเงินที่ปรากฏในภาคเหนือรวมถึงชุมชนวัวลาย จะอยู่ในรูปแบบของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สลุงเงิน (ขันเงิน) พานรอง เชิงเทียน ฯลฯ และอยู่ในรูปแบบของเครื่องประดับเงิน ได้แก่ แหวน กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู จี้ห้อยคอ เป็นต้น ซึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องเงินย่านวัวลายจะอยู่ที่วิธีการแกะสลักลายสองด้าน โดยการตอกลายจากด้านในให้นูนตามโครงร่างรอบนอกของลายก่อนแล้วจึงตีกลับจากด้านนอกเป็นลายละเอียดอีกที ซึ่งจะสังเกตถึงเอกลักษณ์ได้ชัดเจนจากผลิตภัณฑ์ประเภทสลุงเงิน ส่วนลวดลายที่นิยมใช้ ได้แก่ ลายกนก ลายพุ่ม ลายช่อ ลายก้านขด ลายเปลว ลายเครือเถา ลายก้านต่อดอก ลายกรวยเชิง ลายเฟือง ลายบัว ลายก้านขด เป็นต้น



 
เครื่องประดับเงินจากร้านจำหน่ายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ
 

สำหรับกรรมวิธีการผลิตเครื่องเงินวัวลายจะเริ่มจากการนำเอาเม็ดเงินมาชั่งน้ำหนักตามต้องการแล้วนำมาหลอมในเบ้าดินเผา พร้อมทั้งเติมดินประสิวเข้าไปเพื่อให้เนื้อเงินมีความเนียนและอ่อน จากนั้นจึงนำเงินที่ได้จากการหลอมเหลวมาเทในแม่พิมพ์ให้เป็นแท่งเงิน แล้วจึงนำไปแช่น้ำกำมะถันเพื่อให้ได้เนื้อเงินแน่น รวมถึงนำไปแช่น้ำมะขามเปียก เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกออกไปจนได้เงินที่ขาวสะอาด ขั้นต่อไปจึงนำเงินไปตีขึ้นรูปตามที่ต้องการ แล้วนำไปขัดเงา โดยใช้แปรงทองเหลืองชุบกับน้ำมะขามเปียก จากนั้นจึงนำไปสลักลวดลายต่างๆ โดยวาดลวดลายจากด้านในก่อนที่จะตอกลวดลายให้นูนออกมาตามงานที่วาดไว้ เสร็จแล้วจึงนำไปต้มด้วยน้ำกำมะถันประมาณ 30 นาที ในอุณหภูมิสูงมาก ก่อนที่จะนำไปขัดอีกครั้งหนึ่งให้เกิดความมันวาว

สภาพตลาดในปัจจุบันของธุรกิจเครื่องเงินวัวลาย
             
ปัจจุบันตลอดเส้นทางถนนวัวลายมีการจำหน่ายเครื่องเงินมากมาย ซึ่งทางชุมชนพยายามเชื่อมโยงการค้าเข้ากับการท่องเที่ยว เนื่องจากเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เนื่องด้วยเป็นจังหวัดที่มีความครบครันทั้งในส่วนของพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมีความสะดวกในด้านการคมนาคม ที่พักและสาธารณูปโภคต่างๆ ดังนั้น ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฯลฯ นิยมเดินทางมายังเชียงใหม่ เฉลี่ยปีละกว่า 4.5 ล้านคน ดังนั้น การค้าเครื่องเงินและเครื่องประดับเงินในย่านถนนวัวลายจึงจัดในรูปแบบถนนคนเดิน เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้แก่นักท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและของที่ระลึกในย่านนี้ ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติพบว่านักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและของที่ระลึกมากเป็นอันดับสามของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการท่องเที่ยวรองจากการจ่ายค่าที่พักและอาหารตามลำดับ โดยเฉลี่ยคิดเป็นเงินประมาณ 2,400 บาทต่อคน

นอกจากนี้ พบว่าในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่เครื่องเงินวัวลายโดยการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งเครื่องประดับเงินเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมค่อนข้างมาก จึงมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกโดยตรง และในบางกรณี หากกำลังการผลิตมีไม่เพียงพอ ทางผู้ประกอบการรายใหญ่จะกระจายงานโดยการจ้างผู้ผลิตรายเล็กๆ ให้รับจ้างผลิตต่อ เพื่อให้ได้ปริมาณสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ พบว่าประเทศที่เป็นตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ที่ถือเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกเครื่องเงินของเชียงใหม่ โดยเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ มีการออกแบบโดดเด่นและมีความแตกต่างจากประเทศคู่แข่งชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปยังตลาดสเปน สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศคู่แข่งของเครื่องเงินวัวลาย ได้แก่ จีน และอินเดีย ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าของไทย

เมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพทางการตลาดของเครื่องเงินวัวลายพบว่า การมีช่างฝีมือที่มีทักษะ ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ตลอดจนมีประสบการณ์เหมาะสม นับเป็นความได้เปรียบที่ทำให้ชิ้นงานมีคุณภาพดีและมีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเทรนด์ในตลาดโลกที่ผู้บริโภคนิยมสวมใส่เครื่องประดับเงินมากขึ้น จึงเป็นทั้งจุดแข็งและโอกาสทางการค้าให้กับเครื่องเงินวัวลาย แต่ถึงกระนั้น เมื่อพิจารณาในส่วนของปัญหาที่พบในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากจำนวนแรงงานฝีมือที่ลดลง จนอาจส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตในอนาคตแล้ว ปัญหาด้านราคาวัตถุดิบ “เม็ดเงิน” ที่นำเข้าจากไต้หวันและฮ่องกงมีราคาสูงขึ้น จนทำให้ต้นทุนการผลิตชิ้นงานสูงขึ้นตามไปด้วย ก็เป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับคู่แข่งบางประเทศที่ใช้วิธีการทุ่มตลาดทำให้ราคาสินค้าถูกลง นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้าในท้องถิ่นยังขาดการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง และขาดการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ จึงทำให้ยอดขายสินค้าเติบโตได้ช้า


เครื่องเงินบ้านกาด


เครื่องประดับเงินบ้านกาด โดย Angsa Jewelry
 

ถึงแม้ว่าแหล่งผลิตเครื่องเงินบ้านกาด จะไม่ได้ตั้งอยู่ในแหล่งถนนคนเดินกลางใจเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยความงดงามและการมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชิ้นงาน จึงทำให้มีผู้แวะเวียนไปเลือกซื้อสินค้า จนทำให้เครื่องเงินบ้านกาดเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายสิบปี
 
เอกลักษณ์ของเครื่องเงินบ้านกาด
           
การผลิตเครื่องเงินบ้านกาดเริ่มต้นเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านเรียนรู้ฝีมือช่างเงินจากบรรดาช่างชาวจีนที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งการผลิตชิ้นงานในช่วงแรกๆ เป็นการผลิตเครื่องใช้ตามแบบฉบับของเครื่องเงินล้านนาดั้งเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สลุงเงิน (ขันเงิน) พานรอง เชิงเทียน ฯลฯ จนกระทั่งเวลาต่อมา ทักษะในงานช่างถูกถ่ายทอดมายังช่างรุ่นปัจจุบัน จึงเกิดการต่อยอดทางความคิดจากการงานหัตถกรรมเครื่องเงินล้านนาแบบดั้งเดิมมาสู่การผลิตเครื่องประดับเงินแบบยัดลาย (Filigree) ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย แม้ว่าในต่างประเทศงานชนิดนี้จะมีชื่อเสียงมานานแล้วก็ตาม ดังนั้น เครื่องประดับแบบยัดลายจึงเกิดขึ้นที่บ้านกาดเป็นแห่งแรกของไทยและเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของเครื่องเงินบ้านกาดในยุคปัจจุบัน
           
เครื่องประดับเงินแบบยัดลาย (Filigree) เป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์สูง 99% ไม่ใช้เงินที่มีส่วนผสมของแร่ชนิดอื่น อาทิ ทองแดง หรือทองเหลือง เพราะจะทำให้มีความเปราะ หักง่าย จนการดัดขึ้นรูปทำได้ยาก โดยกรรมวิธีในการผลิตเริ่มต้นจากการนำเงินมาหลอมเทเป็นแท่ง แล้วจึงนำมารีดจนแบนและดึงเป็นเส้นขนาดต่างๆ สำหรับใช้ทำเครื่องประดับประเภทต่างๆ ทั้งต่างหู สร้อย เข็มกลัด ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการดึงเส้นเงิน โดยเงิน 15 กรัม สามารถดึงออกมาเป็นเส้นได้ยาวประมาณ 8 กิโลเมตร จากนั้น จึงนำเส้นลวดเงินที่ได้มาขดและพันเป็นเกลียวจนแน่น ดัดเป็นลวดลายต่างๆ อาทิ ดอกไม้ นกยูง รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งลวดลายที่ถูกทำออกมาล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของช่าง ซึ่งในปัจจุบัน นอกเหนือจากลวดลายและรูปแบบของชิ้นงานจะมีความร่วมสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภคหลายช่วงวัยแล้ว ยังมีการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการผลิตเครื่องประดับเงินแบบยัดลาย โดยใช้บานพับในส่วนข้อต่อของชิ้นเครื่องประดับเพื่อให้ชิ้นงานมีความแข็งแรง สามารถขยับได้ ดูมีมิติมากขึ้น ซึ่งจากการพัฒนาเทคนิคดังกล่าวได้ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานได้เป็นอย่างดี
           
นอกจากเทคนิคพิเศษที่ถูกนำมาใช้กับชิ้นงานเครื่องประดับเงินแบบยัดลายแล้ว ปัจจุบันช่างเงินบ้านกาดยังคงพัฒนางาน และเพิ่มเติมความแปลกใหม่ให้กับชิ้นงานที่ผลิตได้อยู่เสมอ อาทิ การนำอัญมณีมาประดับบนเครื่องเงิน หรือการนำเครื่องประดับไปชุบทองขาว การนำเครื่องประดับเงินไปผสมกับทองโดยใช้วิธีการเขียนทองลงไปในส่วนที่มีการยัดลาย ก็ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้แก่ชิ้นงานได้ ทั้งนี้ ทางช่างเงินบ้านกาดยังคงยึดหลักการที่ว่าชิ้นงานทุกชิ้นที่ผลิตได้ จะต้องเป็นสิ่งที่สวมใส่ใช้ประโยชน์ได้จริง 


 

เครื่องประดับเงินบ้านกาด โดย Angsa Jewelry

 
สภาพตลาดในปัจจุบันของธุรกิจเครื่องเงินบ้านกาด

ปัจจุบันชุมชนหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านกาดยังคงจำหน่ายทั้งเครื่องเงินดั้งเดิมแบบล้านนา และเครื่องประดับเงินยัดลาย ซึ่งสินค้าทั้งสองรูปแบบได้รับการตอบรับและมีผู้แวะเวียนมาซื้ออยู่เสมอ โดยเครื่องประดับเงินยัดลายจัดเป็นสินค้าศักยภาพที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ กลุ่มลูกค้าหลักในตลาด นอกเหนือไปจากคนรุ่นใหม่แล้ว ยังพบว่าลูกค้ากว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ สาเหตุที่ทำให้เครื่องประดับเงินแบบยัดลายได้รับความสนใจในวงกว้าง และเกิดกระแสตอบรับที่ดีภายในเวลาอันสั้น ส่วนหนึ่งมาจากการอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก อาทิ การผลิตสินค้าและส่งไปขายยังย่านการค้าสำคัญของเชียงใหม่ทั้งถนนวัวลาย และร้านค้าที่สนามบินเชียงใหม่ ไม่ใช่จำหน่ายเฉพาะแค่ในหน้าร้านของตนเอง ประกอบกับการนำสินค้าออกจำหน่ายตามงานแฟร์ และการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสได้นำเสนอชิ้นงานสู่ผู้บริโภคที่หลากหลาย ซึ่งการพยายามทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักโดยการเข้าหาลูกค้าทุกช่องทาง นอกจากจะเป็นการหาลูกค้าที่มีความหลากหลายเพื่อให้เกิดการยอมรับในสินค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานลูกค้าเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตด้วย
 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ธันวาคม 2560

-------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:        
1. “หัตถกรรมเครื่องเงินบ้านกาด”, เชียงใหม่แบรนด์. https://chiangmaibrand.org
2. “หัตถกรรมเครื่องเงินวัวลาย คุณค่าแห่งล้านนา”, สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่
3. “เครื่องเงินบ้านกาด ศาสตร์และสุนทรียะแห่งเครื่องประดับ”, วารสารศูนย์ศิลปาชีพระหว่าง ประเทศ (องค์การมหาชน)   ฉบับปี 2558
4. “เครื่องเงินวัวลายภูมิปัญญาล้านนา เสน่ห์แห่งหัตถศิลป์เชียงใหม่”, ผู้จัดการสุดสัปดาห์ (วันที่ 23 มกราคม 2559)
5. “เครื่องเงินวัวลาย”. https://cmrulocalinformaiton.blogspot.com
6. “หมู่บ้านทำเครื่องเงิน ศรีสุพรรณ”, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
7. “วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย เชียงใหม่ อุโบสถเงินหลังแรกของโลก”, Emagtravel. http://www.emagtravel.com
8. “ชุมชนวัวลาย”, หมู่บ้านทำมาค้าขายจังหวัดเชียงใหม่. http://cm-tradingvillage.com
 
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที