GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 ธ.ค. 2017 07.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1561 ครั้ง

เครื่องประดับเพชรกับผู้หญิงเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อสถานะทางสังคมของผู้หญิงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจากรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ ก่อให้เกิดกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคหญิง ส่งผลให้เกิดโอกาสใหม่ให้ธุรกิจเครื่องประดับเพชร อ่านต่อ >> https://goo.gl/7AGu5B หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เพชรสำหรับผู้หญิงยุคใหม่


 
สถานะทางสังคมของผู้หญิงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจากรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคหญิง และนิยามใหม่ของความเป็นหญิง ความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเหล่านี้ได้มอบโอกาสใหม่ให้ธุรกิจเครื่องประดับเพชร ตามข้อมูลจากรายงาน Diamond Insight Report 2017 ของ De Beers

บทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้หญิงในสังคมก่อให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่อุตสาหกรรมเพชรควรค้นหาเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ในการเติบโต ตามรายงาน Diamond Insight Report 2017 ของ De Beers “นับหลายทศวรรษที่เพชรได้รับการนำเสนอว่าเป็นของขวัญแสดงความรักและสัญลักษณ์ของการแต่งงานเป็นหลัก แม้ว่าแรงจูงใจอันทรงพลังและเป็นสากลจะยังคงเป็นหลักสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ แต่โอกาสใหม่ๆ ก็เริ่มปรากฏขึ้นเนื่องจากสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงได้เปลี่ยนแปลงไป”

De Beers ชี้ว่า เนื่องจากความต้องการของผู้หญิงมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของยอดขายเครื่องประดับเพชรทั่วโลก ความคิดเห็นและความสนใจของผู้หญิงจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อกิจการในภาคอุตสาหกรรมเพชร 


 
สหรัฐยังคงเป็นตลาดหลักของเครื่องประดับเพชรและเพชรเจียระไน ตามข้อมูลจาก Diamond Insight Report 2017 ข้อมูลจากการวิจัยผู้บริโภคและธุรกิจค้าปลีกโดย De Beers ระบุว่า ยอดขายเครื่องประดับเพชรในสหรัฐเติบโตขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อปีที่แล้วไปอยู่ที่กว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการจากผู้บริโภคทั่วโลก

เครื่องประดับเพชรเพื่อการแต่งงานสร้างยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐ แต่สินค้าที่ได้รับความนิยมในคนรุ่นมิลเลนเนียลและสินค้าที่ผู้หญิงซื้อให้ตัวเองก็ช่วยกระตุ้นการเติบโตเช่นเดียวกัน เครื่องประดับที่มีเพชรหลายเม็ดทำผลงานได้ดีในร้านค้าของสหรัฐ ผู้บริโภคจำนวนมากใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้าเครื่องประดับเพชร โดยสินค้าที่มีราคา 1,000 ถึง 4,999 เหรียญสหรัฐทำยอดขายได้สูงขึ้น

ในขณะเดียวกันรายงานเผยว่า จีนแผ่นดินใหญ่ก็เป็นธุรกิจเครื่องประดับเพชรที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ร้อยละ 12 De Beers ระบุว่าความต้องการเพชรอย่างต่อเนื่อง ตลาดเครื่องประดับแต่งงาน ความนิยมของชาวมิลเลนเนียล และความสนใจจากเมืองระดับ 3 เป็นปัจจัยสี่ประการที่ช่วยขับเคลื่อนความต้องการเครื่องประดับเพชรในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงปี 2016

การเติบโตของตลาดผู้หญิงที่ซื้อเครื่องประดับให้ตนเอง

แม้ว่าผู้หญิงมักได้รับเครื่องประดับเพชรจากการแต่งงานหรือเป็นของขวัญคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่ง แต่โอกาสใหม่ๆ ก็กำลังปรากฏขึ้นในตลาดนี้ ตามข้อมูลจาก Diamond Insight Report 2017 ผู้หญิงในสหรัฐและจีนราวหนึ่งในสี่มีรายได้สูงกว่าคู่สมรส การที่ผู้หญิงมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นนั้นช่วยผลักดันการซื้อเครื่องประดับเพชรให้ตนเอง

แหวนเป็นเครื่องประดับที่ผู้หญิงนิยมซื้อให้ตัวเองมากที่สุดในช่วงปีที่แล้ว โดยคิดเป็นกว่าครึ่งของการซื้อให้ตนเองในจีน ต่างหูตามมาติดๆ ในสหรัฐ ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้น สร้อยคอตามมาเป็นอันดับสอง

รายงานเผยว่า ผู้ซื้อเครื่องประดับให้ตนเองโดยส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 35 ปี และมีรายได้อยู่ในระดับปานกลางถึงสูง ในสหรัฐและญี่ปุ่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักสร้างความพึงพอใจให้ตัวเองด้วยการซื้อเครื่องประดับเพชร ขณะที่ในจีน หญิงโสดมีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องประดับเพชรให้ตนเองสูงกว่า

เครื่องประดับที่ซื้อให้ตนเองมักมีราคาไม่แพงเท่าเครื่องประดับที่ซื้อเป็นของขวัญ และส่วนใหญ่แล้วเป็นการตัดสินใจแบบฉับพลัน สำหรับผู้หญิงในสหรัฐ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ราคาและอารมณ์ความรู้สึก ผู้หญิงชาวจีนก็มักซื้อเครื่องประดับเพชรด้วยเหตุผลทางอารมณ์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้รวมถึงการฉลองครบรอบความสัมพันธ์และเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ส่วนในอินเดีย เครื่องประดับเพชรมักเป็นการซื้อเพื่อโอกาสสำคัญต่างๆ



 
สำหรับการซื้อโดยวางแผนไว้ล่วงหน้านั้น อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการค้นหาแบรนด์ งานออกแบบ และราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐและญี่ปุ่น

“แม้ว่าแต่ละประเทศอาจต้องการแนวทางที่แตกต่างกันไป เนื่องจากแรงจูงใจในการซื้อและนิยมเครื่องประดับแบบต่างๆ นั้นแตกต่างกันไปในตลาดผู้ซื้อเพชรแต่ละแห่ง แต่ผู้ขายที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการซื้อแบบฉับพลัน ด้วยงานออกแบบ ราคา หรือแนวทางการตลาดที่เน้นอารมณ์เป็นหลัก ก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ” รายงาน Diamond Insight Report 2017 ระบุ

เฉลิมฉลองช่วงเวลาในชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึ่งในบทบาททางสังคมของผู้หญิงนั้นมาจากความสัมพันธ์และชีวิตแต่งงานยุคใหม่ ตามรายงานดังกล่าว รูปแบบความสัมพันธ์ได้พัฒนากลายเป็นการจับคู่กันระหว่างคนสองคนที่ต่างแสวงหาการเติบโตส่วนบุคคล คู่รักแต่งงานกันช้าลงและเข้าสู่ชีวิตแต่งงานอย่างเสมอภาคกัน ดังนั้นจึงมีการซื้อเพชรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “ช่วงเวลา” ต่างๆ ในชีวิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มากกว่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์เท่านั้น

ของขวัญแสดงความรักและเครื่องประดับแต่งงานยังคงเป็นความต้องการหลักในสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น แต่ของขวัญกลายเป็นสิ่งที่ใช้ฉลองให้กับตัวผู้หญิงเองมากกว่าจะเป็นการฉลองเรื่องความสัมพันธ์ “ในตลาดผู้บริโภคสามอันดับแรก ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องประดับเพชรเพื่อฉลองเหตุการณ์สำคัญในชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงมากกว่าที่ผู้หญิงจะซื้อให้ตัวเองเพื่อเหตุผลนี้” Diamond Insight Report 2017 ระบุ พร้อมเผยเพิ่มเติมว่าผู้ชายมองว่าเครื่องประดับเพชรเป็นของขวัญขั้นสูงสุดที่จะมอบให้คู่ชีวิตของตน

การให้ของขวัญภายในครอบครัว รวมถึงการให้ของขวัญจากรุ่นสู่รุ่นที่เพิ่มขึ้นก็ควรค่าแก่การกล่าวถึงเช่นกัน ตามรายงานนี้ เครื่องประดับเพชรที่ซื้อเป็นของขวัญให้หญิงโสดกว่าหนึ่งในสี่ในสหรัฐและญี่ปุ่น และหนึ่งในห้าในจีนนั้น มาจากคนในครอบครัว ส่วนในอินเดีย การซื้อเครื่องประดับเพชรที่ไม่ใช่เครื่องประดับแต่งงานร้อยละ 27 เป็นการซื้อโดยผู้หญิงเพื่อมอบให้ผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสมาชิกในครอบครัว

“ผู้ขายมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงเพชรเข้ากับ ‘ช่วงเวลา’ ในชีวิตที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากผู้หญิงมั่นใจมากยิ่งขึ้นที่จะเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญๆ ในชีวิต” รายงานกล่าว โดยระบุว่าความสำเร็จด้านการงาน ความทรงจำจากช่วงวันหยุดพักผ่อน หรือแค่เหตุผลธรรมดาสามัญ ก็กลายเป็นแรงจูงใจที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในการซื้อเครื่องประดับ
 
นิยามใหม่ของความเป็นหญิง

นิยามใหม่ของความเป็นหญิงก็มีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีก รายงานระบุว่าผู้หญิงทุกวันนี้เชื่อมโยงความเป็นหญิงเข้ากับความแข็งแกร่งและความมั่นใจ โดยเชื่อว่าการมีพลังและความเป็นหญิงนั้นไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน ดังนั้นเพชรจึงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของอารมณ์ เช่น การมองโลกในแง่ดีและความภาคภูมิใจ



 
“เนื่องจากความสำเร็จกลายเป็นเรื่องของ ‘สิ่งที่ฉันเป็น’ มากกว่า ‘สิ่งที่ฉันมี’ ประสบการณ์จากการได้เป็นเจ้าของเพชรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น” รายงานระบุ

การมอบประสบการณ์เชิงอินเตอร์แอคทีฟในการซื้อให้ผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมถึงเรื่องราวที่ผู้บริโภคสามารถแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ได้ ก็ช่วยสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตามข้อมูลจากรายงาน Diamond Insight Report 2017 ความต้องการในจีนและอินเดียนั้นผลักดันโดยคนรุ่นมิลเลนเนียลซึ่งเป็นผู้สร้างยอดขายเครื่องประดับแต่งงานส่วนใหญ่ และโดยผู้หญิงวัยกลางคนที่สั่งสมฐานะมาระดับหนึ่งและกลายเป็นผู้ซื้อเพชรที่กลับมาซื้อซ้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หญิงโสดวัย 50 และวัย 60 ก็เป็นตลาดที่มีความหวังเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างยอดขายเครื่องประดับเพชร

De Beers ชี้ว่า แง่มุมสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างนิยามใหม่ของความเป็นหญิงคือการหาแบบอย่างที่เหมาะสม จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับแบรนด์ซึ่งค้นพบแนวทางที่เหมาะสม ตลอดจนแบบอย่างที่สามารถนำเสนอความเป็นหญิงในรูปแบบใหม่ และหนทางในการนิยามความสำเร็จของผู้หญิง

ธุรกิจเครื่องประดับเพชรสามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ด้วยการเป็นสัญลักษณ์แทนอารมณ์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันมองหาการซื้อที่มอบประสบการณ์หรือส่งเสริมคุณค่าของประสบการณ์อื่น นักการตลาดในธุรกิจเพชรจึงต้องแสวงหาคุณค่า โอกาส และภาพลักษณ์ที่เหมาะสมในการส่งเสริมสินค้าของตน
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

------------------------------------------
ที่มา: “Diamonds for the Modern Woman.” by Olivia Quiniquini. JNA. (November 2017: pp. 52-55).
 


*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที